วันนี้ (29 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาปมข้อพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างประชาชนกับรัฐเกิดจากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ มีสาเหตุจากความไม่ชัดเจนของประกาศแนวเขตป่า และการประกาศแต่ละครั้งก็ใช้มาตรส่วนแผนที่ที่แตกต่างกันไป กลายเป็นความยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น เช่นเดียวกับ “บ้านห้วยเล็บมือ” ในพื้นที่ อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ
กลุ่มชาวบ้าน “บ้านห้วยเล็บมือ” ชุมชนริมน้ำโขงแสนสงบ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 5 ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ออกมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับปัญหาการถ่ายทอดขีดแนวป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงภูวัว ซึ่งเกิดผลกระทบต่อชาวบ้านหลายสิบหลังคาเรือน
มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายอย่างที่ยืนยันได้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งรกรากในราวปี พ.ศ. 2444 โดยชนเผ่าไทเทิง ความเก่าแก่ของหมู่บ้านปรากฏหลักฐานให้เห็นเด่นชัด เช่น วัดพระแม่ถวายพระกุมารในพระวิหาร โบสถ์คาทอลิก อันเป็นศูนย์กลางชุมชน ซึ่งระบุว่ามีอายุกว่า 100 ปี
โรงเรียนบ้านห้วยเล็บมือก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2484 รวมทั้งสุสานบ้านห้วยเล็บมือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งชาวบ้านบอกว่ามีการใช้มาประมาณ 135 ปี โดยมีต้นไม้ขนาดใหญ่อย่างต้นตะแบก ต้นหว้า และต้นตะเคียนทอง ยืนตระหง่านบ่งบอกอายุที่ผ่านร้อนหนาวเป็นสัญลักษณ์
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งรับผิดชอบกรมป่าในขณะนั้น ได้มีการออกกฎกระทรวงฉบับที่ 205 (พ.ศ. 2510) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ศ. 2507 กำหนดให้ป่าดงภูวัว ในท้องที่ ต.หนองเดิ่น อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ในขณะนั้น) ภายใต้แนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง เพื่อกำหนดแนวเขตป่ากับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งนับเป็นปฐมบทของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้
กระทั่งใน พ.ศ. 2528 ความขัดแย้งเริ่มเพิ่มขึ้น เมื่อกรมป่าไม้ได้มีการถ่ายทอดขีดแนวป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงภูวัว ลงในระวางรูปถ่ายทางอากาศในแผนที่อัตราส่วน 1:5000 เพราะปริมาณพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มมากขึ้น โดยระหว่างนั้นก็มีการออกเอกสารสิทธิทำกินให้ประชาชนที่ไม่อยู่ในแนวเขต ทั้ง ส.ค.1 และ น.ส.3
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2553 ภาครัฐได้มีนโยบายปรับเส้นแนวเขตป่าสงวนอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ใช้อัตราส่วนแผนที่ 1:4000 เพื่อความละเอียดมากขึ้น นั่นหมายความถึงส่งผลกระทบให้เขตป่าเข้าไปทับพื้นที่ประชาชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งทับพื้นที่ที่ได้รับเอกสารสิทธิไปแล้ว
ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 308/2558 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 อุดรธานี (สจป.6) ซึ่งรับผิดชอบเขตป่าบึงกาฬ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และคณะทำงานถ่ายทอดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยใช้ข้อมูลแผนที่เร่งด่วนฯ ซึ่งระบุว่าเป็นการสำรวจแผนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ แต่การดำเนินงานก็ไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ผลกระทบจากพื้นที่ทับซ้อนรุนแรงยิ่งขึ้น
การดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ดำเนินไปต่อเนื่อง กระทั่งกรมป่าไม้ได้สั่งการให้คณะกรรมการทำการตรวจพิสูจน์แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ได้ถ่ายทอดไว้ทั้งสองครั้งว่าแนวใดถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมระบุเหตุผลและหลักฐานประกอบให้ชัดเจน กระทั่งคณะกรรมการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ได้มีมติประชุมร่วมกันว่าทั้งสองเส้นมีความคลาดเคลื่อนเมื่อเปรียบเทียบกับสมุดจดรายการรังวัดและแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ซึ่งคณะกรรมการมีมติสมควรให้ใช้แนวเขตฯตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง 2510 โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกำหนดจุดในพื้นที่กึ่งกลางเส้นแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงอย่างละเอียดขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่พอใจ
คณะกรรมการได้รายงานผลการประชุมดังกล่าวไปถึงกรมป่าไม้ เพื่อให้กรมป่าไม้และกรมที่ดินได้ดำเนินการตามข้อตกลงกำหนดแนวเขตระหว่างสองกรม เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดขีดเส้นป่าสงวนแห่งชาติป่าดงวัว แต่ปรากฏว่ามีการดำเนินการล่าช้าและเงียบหายไประยะหนึ่ง
กระทั่งกรมป่าไม้ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส 1603.5/1863 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เรื่องข้อมูลแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีการสรุปว่าให้ใช้เส้นที่ขีดเมื่อ พ.ศ. 2553 ไปพลางก่อน ทั้งที่ไม่ใช่แนวเขตตามกฎหมาย และยังลบล้างผลประชุมของคณะกรรมการที่สรุปเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ใช้แนวเขตตามกฎหมายคือแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ทำให้มีผลกระทบต่อชาวบ้าน คือ นอกจากจะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการขีดเส้นทับสิทธิที่ดินทั้งสองครั้งแล้ว ยังตอกย้ำในการลิดรอนสิทธิการครอบครองสิทธิที่ดิน น.ส.3 ก. ที่มีอยู่เดิม และไม่ได้สิทธิในการเดินสำรวจออกโฉนดที่กำลังจะมีการสำรวจประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. 2567 นี้อีกด้วย
โดยทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านห้วยเล็บมือหลายครัวเรือนเกิดความอัดอั้นตันใจ เพราะพวกเขาพยายามที่อยากจะมีผืนดินที่เคยทำกินตั้งแต่บรรพบุรุษนับร้อยปี ได้ออกเอกสารสิทธิเป็นของครอบครัวตัวเองเสียที และดูเหมือนว่าความหวังครั้งนี้จะเลื่อนลอยออกไปอย่างสิ้นหวัง ซึ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีชาวบ้านห้วยเล็บมือเคยยอมถอยจากตีนเขาภูดงวัว มาตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำโขง
คุณยายใคร โสกมาน อายุ 76 ปี ชาวบ้านห้วยเล็บมือ และเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโสกมาน เล่าว่า ยายจำไม่ได้แล้วว่า บรรพบุรุษของยายมาปักหลักรากฐานของตระกูลเมื่อ พ.ศ.ใด เพราะแม่ของยายก็ตายตอนอายุ 103 ปี จำได้แค่ว่าเมื่อสมัยก่อนชาวบ้านมีหน้าที่ทำกินก็ทำกินกันไป ทำไร่ทำนาอยู่กับป่าหาเลี้ยงตัวกันไปตามวิถีชีวิต
นอกจากนี้ คุณยายใครได้แสดงเอกสารที่เป็น ส.ค.1 ให้กับทีมข่าวได้เห็นเป็นหลักฐานว่าครอบครัวของคุณยายตั้งรกรากมายาวนานและจนมีเอกสารดังกล่าวนี้ขึ้นมา แม้ว่าปัจจุบันเอกสาร ส.ค.1 นี้จะถูกปลวกกัดกินจนแทบไม่เหลือเค้าโครงของเอกสารสำคัญก็ตาม และทางครอบครัวของคุณยายใครก็มีเอกสารที่ดิน น.ส.3 ก. ที่เป็นความหวังว่าครั้งหนึ่งก่อนที่จะสิ้นใจจากโลกนี้ไป จะได้เอกสารโฉนดที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของที่ดินที่เคยใช้ทำกินกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเสียที
ความเดือดร้อนครั้งนี้ไม่เพียงแค่ชาวบ้านตาดำๆ ตัวเล็กๆ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้กระทั่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยเล็บมือ คือ นายบุญยัง เสาะก่าน ก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน และตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีครอบครัวของเขายืนหยัดต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เล่าว่า ที่นาของตระกูลตนเองใช้เลี้ยงชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้มีสิทธิออกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการเสียที
แม้ที่ผ่านมาผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยเล็บมือ จะพยายามทำทุกวิถีทางและมีเอกสารยืนยัน น.ส.3 และที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ครั้งหนึ่งทางครอบครัวของนายบุญยังเคยนำเอกสาร น.ส.3 ไปยื่นกู้เงินต่อธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการอนุมัติเงินกู้ให้ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าเอกสาร น.ส.3 ที่ครอบครัวของนายบุญยังครอบครองอยู่นั้นเป็นหลักฐานที่เพียงพอต่อการพิจารณาเงินกู้ได้ แต่พอเมื่อปีที่แล้วการย้อนไปใช้แนวเขต พ.ศ. 2553 จึงกลับกลายเป็นว่าที่ดินนั้นอยู่ในเขตป่าสงวน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแค่กระทบชาวบ้านห้วยเล็บมือในเรื่องของการทำกินเท่านั้น นายพรเทพ ท้าวดี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองเดิ่น ม.5 ยังบอกอีกว่า ความไม่ชัดเจนเรื่องแนวเขตที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ของเราขาดโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรต่างๆ ได้เพราะพวกเราไม่มีเอกสารสิทธิ หรือแม้แต่เวลาที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ทั้งน้ำท่วม สงเคราะห์ยาง หรืออะไรก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่การขอทะเบียนบ้าน ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า แม้ที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการตามโครงการเดินออกโฉนด ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเดินทางไปดำเนินการหลายจังหวัด ทั้งนครพนม บึงกาฬ หนองคาย แต่หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้รับสิทธิ์ โดยชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องขอที่ดินเพิ่มเติม เพียงแค่ต้องการเรียกร้องขอแนวเขตให้มันชัดเจนเท่านั้น ซึ่งที่นี่เดือดร้อนมานานแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขเสียที อาจจะเพราะเราเป็นชุมชนเล็กๆ หรือนักการเมืองไม่สะท้อนปัญหาอย่างจริงจัง ชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องสิทธิที่ทำกินเพิ่ม แค่ขอความชัดเจนของแนวเขตเท่านั้น
นายพรเทพยังได้ฝากขอความเห็นใจจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกว่า อยากให้นายเศรษฐาที่เป็นบุคคลที่ประชาชนหวังพึ่งพาที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ขอให้ท่านช่วยหันมามองความเดือดร้อนของชุมชนแห่งนี้ให้มีแนวเขตที่ชัดเจนและมีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทีมข่าวได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านหลายครัวเรือนที่พยายามบอกเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งความหวังสุดท้ายที่สำคัญต่อชาวบ้านในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ และอยากจะได้ส่งเสียงให้ดังไปถึงก็คือ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน