xs
xsm
sm
md
lg

“ร่มธรรม” แนะ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ใช้พัทลุงเป็นโมเดลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินอย่างเป็นระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(30 ก.ย.)นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ประจำปี 2565 โดยระบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหน่วยงานสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทำงานของภาครัฐ ทั้งการตรวจสอบข้อกฎหมาย การปฏิบัติงาน การใช้อำนาจหน้าที่ ที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งการแสวงหาข้อเท็จจริง วินิจฉัย และหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการต่อไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการในหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน โดยหนึ่งในผลงานที่ขอชื่นชมคือ การศึกษาประเด็นปัญหาความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลา ตามคำร้องของ นายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.พัทลุง ในปี 2563 โดยพื้นที่ทะเลสาบพัทลุง หรือ ไทยลากูน นั้น มีหลายปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข อาทิ ปัญหามลพิษน้ำเสีย การตื้นเขิน การบุกรุกพื้นที่ และการประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น ในเวลาต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมกับมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐอย่างถี่ถ้วน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลาได้อย่างแน่นอน
 
นายร่มธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่เกิดปัญหาความขาดแคลน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทางข้อกฎหมาย ปัญหาทางนโยบาย และการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือประเด็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องพิจารณา โดยประเทศไทยมีที่ดินจำนวน 320.7 ล้านไร่ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้ครอบครองและใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แต่วันนี้กลับมีปัญหามากมายเกิดขึ้น เช่น ปัญหาไร้ที่ดินทำกิน ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน แนวเขตที่ดินของรัฐที่ไม่ชัดเจน ไปจนปัญหาการถือครองที่กระจุกตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนและหากมองในภาพรวมแล้ว จะเห็นว่าปัญหาที่ดิน เป็นปัญหาในการบริหารจัดการที่ขาดแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ขาดการบริหารจัดการที่ดินที่คิดแบบองค์รวม แบบบูรณาการ อย่างเป็นระบบ ดังนั้น ตนจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อรับคำร้องในการศึกษา ตรวจสอบ และแสวงหาข้อเท็จจริง ในประเด็นปัญหาดังนี้
 
1. ปัญหาการประกาศเขตที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐ ที่ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเขตป่าสงวน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ และที่สาธารณะประโยชน์ ไปจนถึงการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยขอเสนอให้ใช้ พัทลุงโมเดล เป็นกรณีศึกษา เนื่องจากมีปัญหาในลักษณะนี้หลากหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น อ.กงหรา อ.บางแก้ว อ.ตะโหมด อ.ป่าบอน และ อ.ปากพะยูน ที่ประสบปัญหาที่ดินทำกิน เป็นต้น
 
2. ปัญหาที่ประชาชนได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐไปแล้ว ทั้งในรูปแบบหนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าไม้ (สทก.) สิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) โครงการจัดที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หมู่บ้านป่าไม้ หรือได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยหรือทำกินในที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ในรูปแบบใดก็ตาม โดยที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อรวบรวมรายชื่อกรณีดังกล่าว เพราะมีประชาชนบางกลุ่มได้ที่ทำกินแล้วนำไปขายต่อ จากนั้นไปบุกรุกพื้นที่ใหม่อีก ซึ่งควรจะมีมาตรการในการจัดการที่มีประสิทธิภาพ
 
3. ปัญหาประชาชนหรือเอกชนถือครองที่ดินแทนเจ้าของสิทธิตามกฏหมาย เช่น บุคคล หรือกลุ่มทุนที่ไปกว้านซื้อที่ สปก. หรือที่ดินรัฐ ไว้ครอบครองและใช้ประโยชน์ ซึ่งขัดกับนโยบายรัฐบาล และกฏหมายที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับสิทธิที่อยู่อาศัยและทำกิน หากปล่อยไว้เป็นเช่นนี้ จำนวนที่ดินจะไม่เพียงพอและประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน
 
4. ปัญหากรณีที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ และได้มอบให้ สปก. ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรที่ลำบากยากจน หากพบว่าที่ใดไม่สามารถทำการเกษตรได้ เช่น อาจจะเป็นลำน้ำหรือแหล่งน้ำ ภูเขาหรือโขดหิน หรือดินทราย ก็ขอให้ส่งคืนกลับกรมป่าไม้ เพราะอาจจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ในด้านอื่นต่อไปได้ เช่น เพื่อการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น
 
5. ปัญหาการจัดทำแนวเขตป่าและแผนที่ one map ที่ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการมาอย่างยาวนาน หากยังไม่แล้วเสร็จ จะทำให้การออกเอกสารสิทธิล่าช้า ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน และมีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนไม่มีที่สิ้นสุด
 
6. ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของกรมที่ดิน ขาดแคลนงบประมาณ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการสำรวจและออกเอกสารสิทธิ ในขณะที่มีปริมาณงานที่มาก ทำให้เกิดความล่าช้า และประชาชนได้รับความเดือดร้อน
 
7. ปัญหาการใช้ที่ดินไม่คุ้มค่า เนื่องจากสถานการณ์การถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน มีการนำที่ดินไปใช้ผิดประเภท ไม่เหมาะสม หรือใช้ไม่คุ้มค่า โดยเมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากันในบางพื้นที่ พบว่ามีความสามารถในการสร้างรายได้แตกต่างกันหลายเท่า
 
8. ปัญหาการถือครองที่ดินที่กระจุกตัวสูง ที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ในความครอบครองของคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ ทำให้ผู้คนจำนวนมาก ขาดแคลนที่ดินทำกิน เกิดความเหลื่อมล้ำ
 
“ หนึ่งในปัญหาที่พี่น้องประชาชน ฝากให้ช่วยผลักดันการแก้ไขมากที่สุด คือปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของภาครัฐโดยตรง ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อทุ่มเทศึกษา และแสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นเหล่านี้ และหาแนวทางให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการต่อไป ท้ายที่สุดนี้ ประเทศของเราจะไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ หากประชาชนยังไม่มีแม้ที่อยู่อาศัย ไม่มีแม้ที่ดิน และที่ทำกิน เพราะที่ดินเปรียบเสมือนหัวใจของคนจน เปรียบเสมือนชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง ” นายร่มธรรม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น