xs
xsm
sm
md
lg

ธาตุแท้ “ทิม ทะลุวัง” กับ ปฏิบัติการ #ทิ้งตะวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิธา”เผยธาตุแท้อีกหน บอกเข้าใจ “ตะวัน” ที่ป่วนขบวนเสด็จ แต่เมื่อถามหาความรับผิดชอบในฐานะนายประกัน กลับบอกไม่เกี่ยวกัน แถมให้ทนายช่วยโบ้ยว่าไม่ได้เป็นนายประกันแล้ว ทั้งที่พฤติกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา พิสูจน์ชัดว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่เมื่อโดนกระแสวิจารณ์อย่างหนักก็ชิ่งหนี ขณะ ผบ.ตร.เหมือนความรู้สึกช้า เวลาผ่านไปหลายวันค่อยออกแอกชั่นหลังนายกฯ เรียกเข้าพบ



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีการก่อกวนขบวนเสด็จ โดยน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

โดย รายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุถึงพฤติการณ์ว่า น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ โดยสารไปกับรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี รุ่นนิวเอ็มจี 3 สีขาว ทะเบียน 8 กจ 1711 กทม. มีชายไม่ทราบชื่อเป็นผู้ขับขี่ ไปบีบแตรรถยนต์ลากยาว ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจถวายความปลอดภัยภารกิจ 095 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และตลอดภารกิจมีการปล่อยรถประชาชนร่วมในเส้นทาง พบว่ารถยนต์คันดังกล่าวบีบแตรลากยาวระหว่างขบวน 095 เสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน และขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวน 095 แต่เมื่อมาถึงบริเวณทางลงทางด่วนพหลโยธิน 1 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นไม่ให้รถยนต์คันดังกล่าวลงไปร่วมกับขบวน 095 ได้


จากรายงานดังกล่าว ปรากฏคลิปโต้เถียงที่ “ตะวัน ทะลุวัง” อัดไว้และเผยแพร่เพื่อหวังกระแส แต่ปรากฏว่ากระแสตีกลับ โลกโซเชียลฯ ก่นด่าตะวันกับเพื่อนที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมและจงใจหาเรื่อง

ตอนหลัง เจ้าตัวจะออกมาโพสต์แถว่าไม่ได้ตั้งใจป่วน แค่ขับรถเร็ว แต่ชั่วโมงนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครเชื่อ


เหตุการณ์ทั้งหมดชัดเจนว่า ถนนไม่ได้ปิด และในคลิปเห็นได้ชัดว่ารถคันอื่น ๆ ก็ไปกันหมดแล้ว ยกเว้นรถที่ “ตะวัน ทะลุวัง” นั่งมา ปากอ้างว่ารีบ แต่แทนที่จะรีบไป แต่กลับจอดรถเถียงกับตำรวจพร้อมถ่ายคลิปทำคอนเทนต์ ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความเห็นที่แตกต่าง แต่ทุกประเทศมีมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยของผู้นำของประเทศ และโดยเฉพาะเป็นพระราชวงศ์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย


ยิ่งไปกว่านั้น “ตะวัน ทะลุวัง” กับพวกก็ยังไม่หยุดพฤติกรรมท้าทายเพียงแค่นั้น เพราะในวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา “ตะวัน” กับพวกยังเปิดกิจกรรมทำโพล “คุณเดือดร้อนหรือไม่กับขบวนเสด็จ” ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนจนเกิดการปะทะกับ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ คปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนรักสถาบัน ทำให้กิจกรรมทำโพลต้องยกเลิกไปโดยปริยาย


การเคลื่อนไหวของ “ตะวัน ทะลุวัง” และกลุ่มทะลุวังถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับการเมือง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่เมื่อ วันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่งจะวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่เอาการแก้มาตรา 112 มาเป็นนโยบายพรรค ในการหาเสียงเลือกตั้งโดยระบุว่า เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังสั่งการให้ "เลิกการกระทำ" เลิกการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ด้วย


คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าอ่านอย่างละเอียดก็จะกระจ่างแจ้งว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยเฉพาะเรื่องการขอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่พิจารณาจากพฤติกรรม และพฤติการณ์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาของพรรคก้าวไกล สมาชิกพรรคก้าวไกลย้อนไปจนถึงตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่รวมไปถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ที่มีพฤติกรรมชัดเจนว่า “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พอหลังจากเรื่อง “ตะวัน ทะลุวัง” ป่วนขบวนเสด็จกระแสสังคมมีการต่อต้านแรงมาก โดยมีการขุดเรื่องราวย้อนหลังว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ถูกถามหาความรับผิดชอบจากที่เคยเป็นนายประกัน “น.ส.ทานตะวัน” แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธแบบไร้ความรับผิดชอบว่า เรื่องประกัน กับการเคลื่อนไหวของตะวัน เป็นคนละส่วนกัน ว่าแล้วก็ตีกรรเชียงเลี่ยงไปพูดเรื่องอื่น

ข่าววันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ศาลนัดไต่สวน “พิธา” นายประกัน “ตะวัน” คดีเหมิ่นเบื้องสูง เผยพร้อมรับทุกเงื่อนไขเพื่อปล่อยตัว โดยในช่วงเย็นวันเดียวกัน “ตะวัน ทะลุวัง” ก็ได้รับการปล่อยตัวและออกมาขอบคุณนายพิธา กับพรรคก้าวไกล
เผยธาตุแท้ “พิธา” คนเฮงซวย

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิธา ให้สัมภาษณ์ถึงการกระทำของ น.ส.ทานตะวัน ว่า “กังวลใจ แต่เข้าใจ”

แต่เมื่อสื่อจี้ถามต่อว่า จะมีการยื่นประกันตัวกลุ่มเยาวชนคดีมาตรา 112 หรือไม่ เพราะในพรรคก้าวไกล ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นายพิธา กล่าวว่า"เรื่องนี้ต้องแยก สิทธิในการประกันตัว ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ส่วนการอารักขาบุคคลสำคัญของประเทศ ก็เป็นอีกเรื่อง แต่การแสดงออกก็เป็นอีกเรื่องเช่นกัน อย่าไปผูกรวม..."

สรุปความจากคำพูดของนายพิธา ก็คือว่าเด็กก้าวร้าวเหล่านี้จะทำอะไร “แดดดี้พิธา”ก็เข้าใจดี แต่พอมาถึงถามหาความรับผิดชอบในฐานะ “นายประกันพิธา” กลับตีกรรเชียงว่าเป็นคนละเรื่องกัน?

ทั้งนี้ที่ผ่านมา “ตะวัน ทะลุวัง” เคยถูกจับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก กรณีทำโพลติดสติกเกอร์เรื่องขบวนเสด็จฯ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ได้รับการประกันตัว


ครั้งต่อมา ถูกดำเนินคดีกรณีไลฟ์เฟซบุ๊กรอรับขบวนเสด็จ บริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อ วันที่ 5 มีนาคม 2565 และได้รับการประกันตัวเช่นกัน แต่ภายหลังถูกถอนประกัน ตะวันโพสต์ และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และมีพฤติกรรมขับรถเข้าใกล้พื้นที่รับเสด็จ

วันที่ 20 เมษายน 2565 ศาลได้สั่งเพิกถอนการประกันตัว และนำตัวส่งเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง ระหว่างนั้นตะวันอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 37 วัน จนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อาสาเป็นนายประกันให้กับตะวัน และได้รับการประกันตัว โดยศาลสั่งให้นายพิธาเป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติของจำเลย มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนและควบคุมมิให้จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไขถือว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวผิดสัญญาประกัน


ในชั้นศาล นายพิธาเคยพูดไว้ว่าอย่างไร? จำได้หรือเปล่า หรือ วันนี้ไม่อยากจะจำได้แล้ว?

ศาลได้สอบถามว่า “หากปล่อยตัวชั่วคราวตะวัน นายพิธาในฐานะนายประกันจะให้ความมั่นใจต่อศาลได้อย่างไรว่าจะกำกับดูแลจำเลยได้”

นายพิธาตอบว่า ตนยินดีทำหน้าที่เป็น “ผู้กำกับดูแล” เพื่อให้ตะวันปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล จะทำหน้าที่คอยตักเตือนและดูแลตะวันเอง โดยพ่อและแม่ของตะวันยินยอมให้ศาลแต่งตั้งพิธาเป็นผู้กำกับดูแลของตะวันด้วย

ศาลถามต่อว่า หากตะวันได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกไปแล้วและทำผิดเงื่อนไขของศาลอีก พิธาในฐานะนายประกันและผู้กำกับดูแลจะทำอย่างไร

นายพิธาตอบว่า “จะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจรับรองไว้”....


นอกจากนี้ในเวลาต่อมาเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายพิธาถึงขนาดกล่าวยกย่องตะวันในสภาฯ แบบเท่ๆ ว่า “ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิมลูกสาวของผมอยู่ในนั้น”

ยิ่งไปกว่านั้น วันที่ 5 เมษายน 2566  เมื่อสื่อออนไลน์ The People จัดงานประกาศผล 10 คนแห่งปีที่ได้รับรางวัล The People Awards 2023 โดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ติด 1 ใน 10 ผู้ได้รับรางวัล นายพิธา ก็ไปร่วมแสดงความยินดีกับตะวันและแบมอีกด้วย




แต่หลังจากเกิดเรื่องป่วนขบวนเสด็จพระเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกลายเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย

วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิธาให้นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกมาปฏิเสธว่า “นายพิธา” ไม่ได้เป็นนายประกัน ‘ตะวัน ทะลุวัง’ นานแล้ว เพราะศาลพิจารณาเพิกถอนหมายขัง ไม่ต้องมีนายประกัน โดยอ้างว่า หลังจากนั้นศาลก็ไม่ได้ออกหมายขังตะวันอีก จึงถือว่าเป็นการปล่อยตัวชั่วคราวตลอดไป ไม่ต้องมีนายประกัน !?!

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง
คำแก้ตัวอย่างนี้ ใครได้ฟังก็ต้องเหวอ! หลายคนถึงกับบอกว่า คนที่กล้าโกหกหน้าตาย และออกมาพูดอย่างนี้ไม่ใช่สุภาพบุรุษ แต่จริง ๆ แล้วก็แค่ “คนเฮงซวย” คนหนึ่งเท่านั้นเอง

แต่เอาเถอะ วันนี้นายพิธา กับ พรรคก้าวไกล หรือ ทนาย จะอ้างอะไรก็อ้างไป แต่พฤติการณ์ที่ผ่านมาของนายพิธาที่สนับสนุนการกระทำของกลุ่มทะลุวัง ปรากฏอยู่ชัดเจน จากหน้าสื่อ ทั้งข่าวและภาพถ่ายต่าง ๆ


“คุณพิธาอาจจะพูดเอาเท่ อยากปั่นให้เด็กรุ่นใหม่ฟังแล้วประทับใจ แต่ผมเตือนคุณอย่างว่าปากพ่อแม่นั้นศักดิ์สิทธิ์มาก คุณพูดว่ามองตา “ตะวัน” แล้วเห็นลูกคุณอยู่ในนั้น ผมถามจริงๆ ว่าคุณอยากให้ลูกสาวของคุณเป็นอย่างตะวัน จริงหรือ? หรือเป็นแค่วาทกรรมหลอกใช้ลูกคนอื่นเพื่อสนองเจตนารมณ์ทางการเมืองของ คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกลเท่านั้น” นายสนธิกล่าว

ไม่นับที่ไปแปะสติกเกอร์ให้กับ “ตะวัน และแบม” ในช่องเห็นด้วยกับการยกเลิก ม.112 แต่ต้องขอโทษที่จะต้องแก้ไขก่อน บนเวทีหาเสียงของพรรคก้าวไกล เมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2566 ที่สวนสาธารณะเทศบาลนครแหลมฉบัง จ.ชลบุรี


ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคนไปขุดจดหมายของนาย พิธา ที่เขียนด้วยลายมือ ถึง "ตะวัน-แบม" เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

โดยข้อความในจดหมายของ นายพิธา นั้นเป็นหลักฐานในการมัดตัวเองเข้ากับกลุ่มทะลุวัง และขบวนการล้มเจ้าชัด ๆ เลย ผมยกตอนหนึ่งก็แล้วกัน คุณพิธาเขียนว่า "...ผมขอคารวะหัวจิตหัวใจความกล้าหาญของทั้งคู่มาก ผมเองละอายใจ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า สังคมได้ลืมตาตื่นขึ้น เห็นถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เพราะผม เพราะพรรคก้าวไกล พวกเราทำน้อยเกินไป พวกคุณคือคนผลักดันสังคมมาถึงจุดนี้ ภารกิจในส่วนของคุณสำเร็จแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราและพรรคก้าวไกล เราจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จด้วยกัน และผมต้องการให้คุณอยู่ร่วมฉลองชัยชนะ ของประชาชนร่วมกับเราทุกคน..."


นอกจากนี้ นายพิธาเขียนถึงเป้าหมายการยกเลิกมาตรา 112 ชัดเจน ว่า “...ภารกิจในส่วนของคุณสมบูรณ์แล้ว จากนี้ไปเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะทำในส่วนของเรา ผมและพรรคก้าวไกลจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อผลักดันการยุติการใช้กฎหมาย 112, 116 และกฎหมายอื่น ๆ กดขี่ ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนเราจะทำเต็มที่ในสภา และผมเชื่อว่าจะมีคนอีกมาก ที่ถูกเรื่องราวของคุณผลักดันให้ออกมาต่อสู้นอกสภา เราจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จด้วยกัน”

“คุณพิธามาถึงขั้นนี้แล้ว คุณจะหน้าด้านปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับ “ตะวัน” และ “แก๊งทะลุวัง” ก็คงจะปัดรับผิดชอบได้ยาก”


ประเด็นสำคัญที่สุด พฤติกรรมของนายพิธาทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่พบว่า นายพิธาและพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกมาตรา 112
-เข้าร่วมการชุมนุมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
-เป็นนายประกันผู้ต้องหามาตรา 112
-เคยแสดงความคิดเห็นทั้งให้แก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง


“ชัดไหมครับคุณพิธา ชัดไหมครับคุณธนาธร, คุณปิยบุตร, คุณต๋อม ชัยธวัช พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า รวมถึงติ่ง และคนที่เลือกพรรคก้าวไกลทั้งหลาย”

ส่วน “ตะวัน ทะลุวัง” หลังจาก 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตำรวจ สน.ดินแดง เรียก น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ นายณัฐนนท์ ไพโรจน์ สองผู้ต้องหาคดีคุกคามขบวนเสด็จฯ มาสอบปากคำ และรับทราบข้อกล่าวหา แต่ทั้งสองคนไม่มา ให้ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาขอเลื่อนอ้างว่าติดเรียน แต่ตำรวจเห็นว่าข้ออ้างไม่สมเหตุสมผลก็เลยโดนออกหมายจับและถูกจับตัวไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อ วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา


ศาลไม่ให้ประกัน ใช้มุกเก่าอดข้าวประท้วง-ไม่ยื่นประกันตัว

วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัว นางสาวทานตะวัน หรือ ตะวัน, นายณัฐนนท์ หรือ แฟรงค์ นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง ที่ก่อเหตุขับรถก่อกวนขบวนเสด็จฯ บนทางด่วน และ นายนภสินธุ์ หรือ สายน้ำ ซึ่งมีหมายจับคดีที่ไปมีส่วนสนับสนุนผู้ก่อเหตุพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง ส่งฝากขังต่อศาลอาญา ซึ่งผู้ต้องหาทุกคนถูกคัดค้านประกันตัวจากพนักงานสอบสวน ด้วยเหตุผล เป็นคดีที่มีโทษสูง เกรงจะหลบหนี หรือ อาจจะไปก่อเหตุในลักษณะเดิมซ้ำอีก ฯลฯ

ศาลใช้เวลาพิจารณาคำร้องฝากขัง และคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องหาทั้ง 3 คน เกือบทั้งวัน ก็อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา มีกำหนด 12 วัน และไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตะวัน และ แฟรงค์ โดยศาลให้เหตุผลว่า ความผิดที่กระทำลงไปมีโทษร้ายแรง มีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ก่อเหตุไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหาย ที่สำคัญคือ หากให้ประกันตัวออกไป ก็อาจจะไปทำอะไรให้เกิดความไม่เรียบร้อย และเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หลังจากศาลมีคำสั่ง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก็ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ


ส่วน “สายน้ำ” ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเงื่อนไขว่า ห้ามไปกระทำการในลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือ ก่อเหตุซ้ำแบบเดิมอีก

ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บอกว่าทั้ง ตะวัน และ แฟรงค์ ตั้งใจจะไม่ขอยื่นประกันตัวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ที่ยื่นก็เพราะทั้งเพื่อนผู้ต้องหา และญาติ ๆ ขอให้ยื่น หลังจากนี้ ก็จะคุยกันอีกครั้งว่าจะให้ยื่นประกันตัวอีกหรือไม่ และจะอุทธรณ์คำสั่งศาลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตะวัน และ แฟรงค์ ได้เขียนจดหมายด้วยลายมือ ยืนยันจะต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมาย และจะกลับไปอดข้าวประท้วงอีกครั้ง โดยจะไม่ยื่นประกันตัว

ทั้งนี้เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมาเฟซบุ๊กเพจ Tawan Tantawan ได้มีการโพสต์ภาพ และข้อความเรื่อง จดหมายจากตะวัน ระบุข้อความว่า “นี่คือคำตอบที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้กับหนู แต่หนูยืนยันที่จะสู้ต่อไป การก้าวขาเข้าเรือนจำเรา ไม่เหลืออะไร นอกจากร่างกายที่มีไว้ต่อสู้ หนูจะใช้ร่างกายและจิตวิญญาณที่เหลือสู้ต่อไป หนูและแฟร้งค์จะอดอาหารและน้ำ ประท้วง เพื่อ3ข้อเรียกร้อง โดยจะไม่ยื่นประกันตัว
1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
2. ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก
3. ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรี สิทธิมนุษยชน
ทานตะวัน ตัวตุลานนท์”


ผบ.ตร. ความรู้สึกช้า

เรื่อง “แก๊งทะลุวัง” นี้รายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” เคยเปิดเผย ฉีกหน้ากากแบบหมดเปลือกไปแล้วตั้งแต่หลายเดือนก่อน เมื่อครั้งเกิดกรณีของ “บุ้ง ทะลุวัง - น้องหยก” กับ รร.เตรียมพัฒน์ฯ ขึ้นเมื่อ รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ EP.195 ตอน หยก=เหยื่อ ผลผลิตของก้าวไกลออกอากาศเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 และยังมีตอนต่ออีกหลายตอนถัดมา ซึ่งพฤติกรรมของแก๊งนี้คุกคาม กล่าวโกหก ให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และ สมาชิกราชวงศ์จักรี แทบจะทุกพระองค์ มานานแล้ว 

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 - วันคล้ายวันสวรรคต ของในหลวงรัชกาลที่ 9 “หยก ทะลุวัง” เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” ที่บริเวณเสาชิงช้า หน้าศาลาว่าการ กทม. ใกล้บ้านป้า หยก ได้เขียนข้อความ บนพื้นบริเวณเสาชิงช้า ซึ่งล้วนแต่มีเนื้อหาอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยให้ร้ายพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมถึงกรมสมเด็จพระเทพฯด้วย
“งานนี้ผมต้องถามไปถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์​ สุขวิมล ที่เพิ่งออกมาเทคแอกชั่นหลังจากเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงแล้ว จนประชาชนกลุ่มที่รักสถาบันอย่าง คปปส. เขาทนไม่ไหวต้องออกไปลงไม้ลงมือเอง จนเกือบเกิดเหตุความรุนแรง”



พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ บอกว่าขอเวลารวบรวมหลักฐาน ทั้งๆ ที่เรื่องเกิดตั้งแต่ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 เกือบสัปดาห์นึ่งแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่ท่าน ผบ.ตร. จะไม่ทราบเรื่อง แต่กลับเงียบสนิท เกิดอะไรขึ้น !?!


“ท่าน ผบ.ตร. จำได้หรือเปล่าว่าก่อนที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ท่านพูดเสมอว่าต้องการเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ แล้ววันนี้เกิดอะไรขึ้น

“ปัญหาของแก๊งทะลุวัง กับแนวร่วม และเครือข่ายล้มเจ้าที่เชื่อมโยงไปถึงพรรคก้าวไกล กับ คณะก้าวหน้านั้น ทาง บช.น. ทีมงานของ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นั้นเขาเก็บข้อมูลมานานแล้ว มีข้อมูลอย่างละเอียดยิบ ครบหมดแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะได้รับไฟเขียวจาก ผบ.ตร.อย่างไร เมื่อไหร่ เพราะคดีนี้เป็นคดีนโยบาย ไหนบอกว่าจะออกมาปกป้อง เจตนาและการกระทำนั้นไม่ตรงปกเลย ท่าน ผบ.ตร.


แผนผังแก๊งทะลุวัง และแนวร่วม
“ท่านบอกว่าจะออกมาปกป้อง แต่ถึงตอนนนี้ ท่านใส่เกียร์ว่าง ท่านเกียร์ว่างจริงๆ และเกียร์ว่างหลายๆ เรื่องด้วย อย่าช้านะครับ เวลาท่านเหลือน้อยลง อย่าให้ท่านเกษียณอายุไป ด้วยฉายาที่ว่าเป็น ผบ.ตร.ที่โหลยโท่ยที่สุดคนหนึ่ง” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น