“สนธิ” ชี้ “หยก” คือเหยื่ออันโอชะของขบวนการล้มเจ้า ฉวยโอกาสที่เด็กขาดครอบครัวที่อบอุ่นคอยปกป้อง เข้าไปสร้างความเกลียดชังต่อระบบ ฝังในหัวเด็ก วางพล็อตให้เด็กถูกหมายจับคดี ม.112 แล้วปั่นให้เป็นเรื่องผู้ใหญ่รังแกเด็ก
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของ“หยก ธนลภย์” เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในวัยเพียง 15 ปี ซึ่งเคยถูกควบคุมตัวในคดีมาตรา 112 เป็นกระแสสั่นสะเทือนสังคม ตกเป็นข่าวดังมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
หลังจากนั้น “หยก” ได้สร้างความปั่นป่วนในโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการที่เธอเรียนอยู่ชั้น ม.4 โดยเมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2566 “หยก” โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ ระบุว่า“ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการแล้ว”
จากนั้น วันถัดมา วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566 มีการไลฟ์สดผ่านโซเชียลมีเดีย เหตุการณ์ที่“หยก”ย้อมผมสีชมพู ใส่ชุดไปรเวทมารอหน้าโรงเรียน โดยมีกลุ่มกองเชียร์ มาส่ง ในไลฟ์ที่เผยแพร่ หยกและเพื่อน ๆ มีการต่อว่า รปภ.ที่ไม่เปิดประตูโรงเรียนให้ ทั้งยังมีการตะโกนด่าตำรวจที่มาสังเกตการณ์อย่างหยาบคาย ก่อนที่สุดท้าย “หยก” จะปีนรั้วเข้าไปในโรงเรียน และหลังจากวันนั้นก็มีการปีนรั้ว และปีนหน้าต่างเพื่อเข้าเรียน ในวันถัดมาอีก จนกลายเป็นประเด็นในสังคมรายวัน
วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2566 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการออกแถลงการณ์ฉบับแรก ว่า“หยก ธนลภย์”ไม่มีสถานะนักเรียน ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ว่า เพราะ
1. ไม่มามอบตัวตามกำหนด
กล่าวคือ ช่วงก่อนเปิดเทอม วันที่ 1 เมษายน 2566 มารดาของหยกมาบันทึกขอเลื่อนการมอบตัวเพื่อศึกษาต่อระดับชั้น ม.4 เพราะ ตอนนั้น หยกถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ด้วยข้อหาตามมาตรา 112 เป็นเวลา 51 วัน ได้รับการปล่อยตัว เมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคม 2566
วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 “หยก”ไปรายงานตัวที่โรงเรียนโดยให้ “ผักบุ้ง” หรือ “บุ้ง” เนติพร เสน่ห์สังคม แกนนำกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีตามมาตรา 112 และอีกหลายคดี เซ็นมอบตัวแทนผู้ปกครอง โดยโรงเรียนรับรายงานตัว“หยก” ไว้ก่อนเพื่อรักษาสิทธิในการศึกษาต่อ ขณะที่คนในกลุ่มทะลุวังก็โอนเงินค่าเทอมให้กับโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่การมอบตัวยังไม่เสร็จสิ้น โดยในเวลาต่อมา “ผักบุ้ง” เนติพร ใช้เรื่องการโอนเงินค่าเทอมนี้เพื่อปลุกปั่นต่อว่า“จ่ายค่าเทอมให้น้องหยกแล้ว แต่กลับไม่ได้เรียน”
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว แม่ของ“หยก” ซึ่งเป็นผู้ปกครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ภายในกำหนดเวลา ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ“หยก” จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการในปีการศึกษา 2566 โดยสมบูรณ์
2. “หยก” ไม่ยอมรับกฎระเบียบของโรงเรียน ที่ผ่านการประชาพิจารณ์โดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนโดยหลังจากเปิดเทอมปีการศึกษา 2566“หยก” ได้เข้าเรียนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 โดยโรงเรียนได้ชี้แจงให้รับทราบระเบียบแนวปฏิบัติตาม“คู่มือนักเรียน ปีการศึกษา 2566”แต่หลังจากนั้น “หยก” กลับไม่ปฏิบัติตาม คือ
- ไม่แต่งกายชุดนักเรียน
- ทำสีผม
- ไม่เข้าเรียนบางวิชา
- ไม่เข้าร่วมกิจกรรมบางกิจกรรม โดยในภาพรวม ก็คือ การไม่เคารพกฎตามแนวปฏิบัติที่มีการตกลงกันไว้แล้ว ซึ่งในเวลานั้น“หยก”ได้ลงนามรับทราบเอาไว้ในฐานะนักเรียน และ“ผักบุ้ง ทะลุวัง”ได้ลงนามรับทราบเอาไว้แทนผู้ปกครองไปก่อน
ทั้งนี้ ระเบียบของ รร.เตรียมพัฒน์ฯ ที่"หยก"ลงนามยอมรับคำสัญญาด้วยลายมือตัวเอง และ"ผักบุ้ง"ที่สมอ้างเป็นผู้ปกครองลงนามบางส่วนระบุไว้ดังนี้
ข้าพเจ้าขอให้คำสัญญาต่อผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ดังนี้
- จะอบรมสั่งสอนนักเรียนในปกครองให้ทำหน้าที่ของนักเรียนให้ดีที่สุด เชื่อฟังคำอบรมสั่งสอนของครูและจะปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
- จะกำกับดูแลนักเรียนในปกครองให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการของโรงเรียนโดยเคร่งครัด ... โดยใน ข้อที่ 2.4 ระบุชัดเจนว่า จะปฏิบัติตามระเบียบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพันาการ ว่าด้วยการแต่งกายของนักเรียน พ.ศ.2550
- ยินดีให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในการแก้ปัญหานักเรียนในปกครอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเรียน ด้านความประพฤติหรืออื่น ๆ
ส่วนใน ข้อที่ 5 ระบุว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนต่อการปกครองนักเรียน และต่อการกระทำกิจกรรมใด ๆ ของโรงเรียน
ในเรื่องนี้“หยก”ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า“ชุดนักเรียนมันขัดต่อเสรีภาพของเราหรือเปล่า ที่เราสามารถแต่งอะไรก็ได้ เพราะชุดนักเรียนมันก็คืออำนาจนิยม และขัดกับรัฐธรรมนูญไทยหรือเปล่าที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวของเด็กและเยาวชน คือ หนูไม่ใช่ว่าไม่เอากฎของโรงเรียนทั้งหมดนะ หนูเอากฎที่มันเป็นประโยชน์ แต่กฎอย่างชุดนักเรียนที่มันเป็นอำนาจนิยมหนูไม่โอเค และมันก็ไม่ได้มีผลกับผลการเรียนอะไรมากมาย ก็อยากรู้เหมือนกันว่าเขาจะไล่เด็กคนนึงออก เพราะเรื่องแค่ว่าชุดนักเรียนที่เป็นอำนาจนิยมเหรอ?”
มีการตั้งข้อสังเกตจากโลกโซเซียลถึง หยก ว่า"ตอนไปชุมนุมอยากแต่งชุดนักเรียน แต่เวลาเรียนจะแต่งชุดไปรเวท"
เรื่องชุดนักเรียน อำนาจนิยม ความเท่าเทียม ความไม่เท่าเทียม กันนั้นเป็นที่ถกเถียงกันมานมนานเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว แต่ประเด็นคือ รร.เตรียมพัฒน์ฯ มีระเบียบกำหนดชัด ทั้งหยกและบุ้งก็ลงนามยอมรับแล้ว เพื่อที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนนี้ ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ต้องเข้าเรียนโรงเรียนนี้ ไปเรียนโรงเรียนอื่นอย่างสาธิตธรรมศาสตร์ฯ ที่โปรโมตกันนักกันหนาว่าไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน(แต่จริง ๆ ก็มีวันและโอกาส กำนหดที่ต้องใส่ชุดยูนิฟอร์มของโรงเรียน)หรือ เรียนโฮมสกูล เรียนการศึกษานอกระบบก็ได้
แต่อยู่ ๆ เข้ามาเรียนเตรียมพัฒน์ฯ แล้วกลับมาบอกว่า “ไม่ยอมรับ” เรื่องนี้ โดยอ้างว่าเพราะเป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยม
... เพราะอะไร?
หรือเพราะว่า มีใครวางพล็อตให้ว่า“การแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน”และ“การแต่งชุดนักเรียนไปในที่ชุมนุม”สามารถจุดประเด็นให้เกิดเป็นกระแสสังคมได้
การอ้างว่า ทรงผมและการแต่งกายเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลแต่งยังไงก็เรียนได้ แต่ขณะเดียวกัน ทุกองค์กรมีกฎ กติกาในการอยู่ร่วมกัน ที่ต้องให้ความเคารพ เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย
วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 - ที่ผ่านมา “หยก” พร้อมด้วย “บุ้ง เนติพร” ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนยืนยันจะเข้าเรียนตามเดิมโดยอ้างว่าเมื่อเดือนที่แล้วคือ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ได้มามอบตัวเอง และจ่ายค่าเทอมแล้ว โดยนอกจากเรื่อง สิทธิเสรีภาพในทรงผม และเครื่องแบบที่เธอไม่ยอมปฏิบัติตามแล้ว
“หยก”ยังระบุด้วยว่าตนเองจะไม่ขอเข้าร่วมในกิจกรรมที่เป็นการสืบทอดอำนาจนิยม เช่น พิธีไหว้ครู โดยให้เหตุผลว่าเป็นผู้จ่ายค่าเล่าเรียนให้ครูมาสอน ... ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ แล้วจะให้เริ่มเมื่อไหร่
#Saveหยก #Saveเตรียมพัฒน์
“ปรากฎการณ์ของหยก”ในด้านหนึ่ง ได้ชี้ให้เห็นปัญหาความบิดเบี้ยวของสังคมแล้ว ยังช่วยฉีกหน้ากากคนรอบตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงได้อย่างดีอีกด้วย
เรื่อง“หยก” นี้ตั้งแต่เกิดเหตุ ประมาณ 10 วันที่ผ่านมา ทีมงาน Sondhi Talk ได้เดินทางไปถึงถึงบ้านพ่อหยกที่ จ.ร้อยเอ็ด ไปพบพ่อกับครอบครัวพ่อของหยก ไปคุยกับญาติพี่น้อง ได้รายละเอียดที่น่าสนใจมาก ๆ ซึ่งจะทยอยเล่าและสรุปให้ฟัง
กลับมาถึงเรื่องสื่อมวลชนที่รายงานข่าวเรื่องนี้ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Top News ได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ที่ได้เคยสอน“หยก”โดยอาจารย์เล่าว่า
- ที่หยก มาเรียนที่ รร.เตรียมพัฒน์ฯ เพราะว่าตอนนั้นมาอาศัยอยู่กับแม่ที่บ้านซอยพัฒนาการ 65 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนนัก
- ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 คุณพ่อคุณ แม่พาเด็กมามอบตัวตามปกติทุกปี โดยในช่วง ม.1 และ ม.2 “หยก” ผลการเรียนยู่ในระดับที่ดี วิชาประวัติศาสตร์ผลการเรียน 3-3.5 เต็ม 4 ต่อมา เมื่อขึ้นเรียนชั้น ม.3 หยก ถือเป็นเด็กเก่ง พฤติกรรมราบเรียบ เงียบ ๆ มีเพื่อนน้อย ที่คบอยู่เป็นเพื่อนเก่า ทำกิจกรรมทั่วไป การเรียนโดดเด่นบางวิชา
- เดือนตุลาคม 2565 โรงเรียนได้รับการติดต่อจากตำรวจนครบาล แจ้งว่าหยกไปร่วมชุมนุมทางการเมือง ใช้ชื่อ“สหายนอนน้อย”และให้พาเด็กไปพบจิตแพทย์ แต่โรงเรียนปฏิเสธ เพราะต้องการปกป้องเด็ก (ตามข้อมูลหยกได้ไปชุมนุมที่เสาชิงช้าเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 โดยในวันนั้นหยกได้เขียนข้อความหมิ่นสถาบันอย่างรุนแรง)
- จากนั้นต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 โรงเรียนเชิญผู้ปกครองและ “หยก” มาคุย ซึ่ง “หยก” ยังพูดจาน่ารัก โต้ตอบเหมือนเด็กทั่วไป ส่วนแม่รู้ว่าลูกชอบชุมนุมประชาธิปไตย และตักเตือนลูกแล้วว่าอย่าไปยุ่ง ช่วงเวลานั้นลูกยังคุยกับแม่น่ารัก
- หลังจบ ม.3 “หยก” ได้โควต้าศิษย์เก่าสอบเข้า ม.4 และสอบได้เรียนเอกภาษาจีน อย่างไรก็ตามวันพิธีมอบประกาศนียบัตร ม.3 เดือนมีนาคม 2566 “หยก” ไม่ได้มาร่วมพิธี เพราะหยกไปร่วมกับ นายศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือ บังเอิญ อายุ 25 ปี ก่อเหตุพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว จนถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่ สน.พระราชวัง และถูกส่งตัวต่อไปไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เพราะมีหมายจับคดี 112 และถูกศาลส่งตัวไปที่สถานพินิจบ้านปราณี นครปฐม เนื่องจาก“หยก” อ้างว่า ปฏิเสธอำนาจศาล
- เดือนเมษายน 2566 แม่กับน้าของหยกเดินทางมาที่โรงเรียน เพื่อทำเรื่องขอเลื่อนการมอบตัว เพราะ“หยก” อยู่ในบ้านปราณี อีกทั้งวันดังกล่าว ยังมี“เก็ท” โสภณ รฤทธิ์ธำรงนักศึกษาวัย 23 ปี จากภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล แกนนำกลุ่มโมกหลวงที่ “หยก” ตั้งให้เป็นผู้ปกครองระหว่างอยู่ในบ้านปราณี เดินทางมาด้วยและแม่หยกไม่พอใจเก็ท ได้ต่อว่าไป และทางโรงเรียนก็ขยายเวลาการมอบตัวให้
- วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศาลสั่งปล่อยตัว “หยก” จากบ้านปราณี
- วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 หยกเดินทางมาโรงเรียนกับ“บุ้ง-ตะวัน” กลุ่มทะลุวัง,ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลคนหนึ่งและทนายของ ส.ส.เพื่อมอบตัวหลังออกมาจากบ้านปรานี ทางโรงเรียนรับรายงานตัวไว้ก่อน แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ (เพราะ “บุ้ง” ไม่สามารถเป็นผู้ปกครองหยกที่ถูกต้องตามกฎหมายได้)
- เมื่อเปิดเทอม และต้องมาเรียน “หยก” ปฏิเสธจะไม่เข้ากิจกรรมโฮมรูมในเวลา 7.40 น.ถึง 8.10 น. และตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นมา หยกไม่คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ไม่ฟังกฎระเบียบ ถามครูว่า“ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญมั้ย”ใครตักเตือนก็จะพูดประเด็นนี้ และบอกอีกว่า“โรงเรียนทำอะไรเขาได้มั้ย”บางวันมาเรียนบ่ายสอง เพื่อเรียนวิชาเดียว
- โรงเรียนพยายามตามผู้ปกครองเซ็นมอบตัวหยก โดยครูเดินทางไปหาแม่ที่บ้านในซอยพัฒนาการไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง แต่แม่หยกไม่ออกมาพบ ซึ่งครูสังเกตพบว่ารถยนต์ในบ้านของแม่ได้นำกระดาษสีขาวมาปิดแผ่นป้ายทะเบียนและปิดเลขที่บ้านไว้ด้วย และครูก็สงสัยว่าทำไมแม่หนีหน้าไม่ออกมาพบครู ทั้งที่ วันที่ 1 เมษายน ยังมาแจ้งเลื่อนขอมอบตัวให้กับลูกอยู่เลย
- วันที่ 2 มิถุนายน 2566 ครูเดินทางไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตามพ่อหยก แต่เมื่อเดินทางไปถึง พ่อหยกกลับไล่ครูกลับไปทันที และบอกอย่ามาที่นี่อีก ตนไม่รู้เรื่อง
- วันที่ 9 มิถุนายน 2566 หยก ได้ลาโรงเรียน ครูวิดีโอคอลผ่านไลน์ไปเพื่อย้ำเรื่องการมอบตัว แต่หยกให้คุยกับ “บุ้ง” บุ้งอ้างว่าโทรศัพท์ติดต่อแม่หยกไม่ได้คำถามที่ครูสงสัยคือ ทำไมบุ้งไม่พาน้องไปบ้าน
- มีข้อมูลว่า“บุ้ง ทะลุวัง”หรือเนติพร เสน่ห์สังคม ได้เคยไปพบกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.เพื่อขอรับหยกเป็นลูกบุญธรรม แต่ตามกฎหมายบุ้งยังไม่สามารถรับหยกเป็นลูกบุญธรรมได้
อดีตครูที่ปรึกษา ม.3 รร.เตรียมพัฒน์ฯ ออกมายอมรับว่า “หยก ธนลภย์” กลายเป็นคนละคน หลังจากที่จบชั้น ม.3 ไป
นี่เป็นบางส่วนจากที่ Top News ไปสัมภาษณ์อาจารย์ในโรงเรียนมา
ทีมงาน Sondhi Talk บุกพบ “พ่อน้องหยก”
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงาน Sondhi Talkได้ลงไปที่จังหวัดร้อยเอ็ด ตำบลหนองแวง อำเภอเกษตรวิสัย บ้านเกิดของนายทองปาน ตอนนี้อายุ 48 ปี เป็นพ่อแท้ๆ ของ "หยก"
นายทองปาน เลิกรากับแม่ของหยก แล้วก็พาตัวเองกลับมาที่บ้าน ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ทำไร่ ทำมาหากิน นายเคน ซึ่งเป็นพ่อของนายทองปาน บอกว่า นายทองปาน ไปทำงานอยู่ในไร่ และในที่สุดแล้วทีมงานได้มีโอกาสเจอนายทองปาน พ่อของหยก ซึ่งกำลังเดินทางกลับมา ยังไม่ทันไรเลย แค่เจอหน้า นายทองปาน ก็ตะคอกว่าอย่ามาคุกคามกู ออกไป กูไม่คุย อย่ามายุ่งเรื่องของกู ออกจากบ้านกูไป
ทีมงานได้ไปเจอพี่สาวของนายทองปาน ซึ่งเดินมาสำรวจบ้าน หลังจากได้ยินเสียงโวยวายกัน พี่สาวของนายทองปาน (สงวนชื่อ) อายุ 60 ปี เล่าว่าแม่ของหยก เป็นภรรยาคนที่สอง เคยพา "หยก" มาตอนเด็กๆ ถามว่าจำหน้าได้ไหม บอกจำไม่ได้แล้ว
พี่สาวของนายทองปาน บอกว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าหน้าที่ตำรวจ เดินทางมาพบนายทองปานที่บ้าน เพื่อแจ้งเรื่องวีรกรรมที่ "หยก" ก่อไว้เป็นคดีความถึงขั้นออกหมายจับ นายทองปานก็ไม่รับฟังทั้งสิ้น ไล่เจ้าหน้าที่กลับบ้านทั้งหมดเลย พี่สาวของนายทองปาน สงสัยว่าทำไมน้องชายตัวเองถึงไม่แสดงท่าทีเป็นห่วงเป็นใยลูกสาวเลย ทำไมปล่อยให้ลูกสาวทำแบบนี้ ญาติพี่น้องของพี่สาว/นายทองปานก็ให้การเช่นเดียวกัน นึกไม่ถึงว่าหลานตัวเองจะเป็นคนแบบนี้ได้
สร้างเด็กเป็นแพะบูชายัญ
กรณีที่มีคนออกมาอ้างอิงประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น อยากจะบอกอย่างนี้ โรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ เป็นโรงเรียนใหญ่ มีนักเรียน 4,073 คน ไม่รวม“หยก”อย่าลืมว่าต้องเคารพสิทธิ์ในการเรียนอย่างสงบสุขของเด็ก 4 พันกว่าคนที่เหลือด้วย ไหนจะครอบครัว ผู้ปกครองของเด็ก ๆ 4 พันกว่าคน รวมกันก็หลายหมื่นคน ไม่นับกับครู อาจารย์ บุคลากร ของโรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ ที่เขาต้องมาเป็นห่วงกังวลว่า พวกที่ชักใย“หยก” จะสร้างเรื่อง ก่อความวุ่นวายอะไรขึ้นอีก
นายสนธิ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับ “หม่อมปลื้ม” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยบอกว่า "เราจะสอนให้เด็กรุ่นต่อไปไม่เคารพกฎไปเรื่อยๆ หรือ? อย่างนี้ถ้าอนาคตมีคนไม่พอใจจะเปลี่ยนกฎอะไรก็ให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎนั้นเลยง่ายๆ ทั้งที่โดยส่วนรวมผู้อื่นก็ยังยินดีปฏิบัติตามกฎนั้นอยู่? มันเเฟร์ต่อผู้อื่นซึ่งร่วมศึกษาในสถาบันนั้นๆ ไหม?" ในต่างประเทศนั้นเขามีกฎ แม้แต่เรื่องกรอบเวลาการใช้อุปกรณ์การสื่อสารหรืออื่นๆ โซนเอเชียก็เช่นกัน
"การปฏิบัติตามกฎที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสวัสดิภาพของนักเรียนคือการฝึกการควบคุมตนเอง เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก"
แนวคิดแและคำให้สัมภาษณ์ที่ "น้องหยก" อ้างว่าจะไม่ร่วมทำพิธีกรรมการไหว้ครูเพราะเป็นการสืบทอดอำนาจนิยม เพราะครูได้ค่าจ้างเป็นค่าสอน ไม่ได้มีบุญคุณอะไร
“สมัยผมเรียนอัสสัมชัญศรีราชาอยู่ ผมเป็นเด็กที่เกเรมาก และขาข้างหนึ่งของผมอยู่นอกโรงเรียน ผมจำได้ว่า ท่านอธิการบดีท่านเรียกพ่อแม่ผมขึ้นมาจากกรุงเทพฯ บอกว่าจะไล่ผมออกจากโรงเรียน เพราะผมเกเร ผมชกต่อย ผมหนีไปเที่ยวที่ตลาด ไปมีเรื่องมีราวกับพวกกุ๊ยในตลาด แล้วโดนแทงด้วยมีดปลายแหลมเข้าที่หน้าอก แต่ท่านผู้ชมรู้ไหม อาจารย์คนหนึ่งซึ่งท่านเป็นอาจารย์ที่ผมรักมาก ท่านเซฟผมไว้ เข้าไปขอร้องอธิการบดี บอกว่าเป็นเด็กใจร้อน อบรมสั่งสอนได้ แต่ถ้าไล่ออกแล้วเด็กจะเสียอนาคต ผมก็เลยไม่โดนไล่ออก และนี่คือพระคุณของครูที่มีต่อลูกศิษย์”นายสนธิกล่าว
ทางออกในกรณีของ "หยก" นั้น มีคนเสนอว่า "หยก" เป็นเยาวชน โรงเรียนต้องไปแจ้งความผู้ปกครองที่เป็นพ่อแม่ เพราะทราบโดยทั่วกันว่าเด็กมีพ่อมีแม่ และสามารถดำเนินคดีข้อหา "ทอดทิ้งบุตร" จากตรงนั้นค่อยดำเนินการให้ศาลคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งเรื่องการสมัครเรียนและที่อยู่อาศัย
“งานนี้ผมไม่โทษ "น้องหยก" แต่ผมฟันธงได้เลยว่าเรื่อง "น้องหยก" อยู่ในกระบวนการการหลอกใช้เด็กเป็นแพะบูชายัญ อ้ายและอีที่ทำเรื่องพวกนี้เป็นคนใจดำอำมหิตมาก” นายสนธิกล่าว
เบื้องหลังชักใย “น้องหยก”
“ผักบุ้ง” เนติพร เสน่ห์สังคม นักเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุวัง อายุ 26 ปี อ้างตัวว่าเป็นผู้ปกครอง "หยก" ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการมอบอำนาจจากพ่อแม่ ไม่ได้เกี่ยวพันกันทางสายเลือด
“ผมเข้าใจว่าทำไม ผักบุ้ง-เนติพร และกลุ่มทะลุวัง ถึงเกาะติดเด็กคนนี้ ให้ที่พักอาศัย จ่ายค่าเทอมให้ ไปส่งหน้าโรงเรียน คอยเชียร์ให้ปีนเข้าโรงเรียน แถมยังอยากจะรับ "น้องหยก" เป็นลูกบุญธรรม เพราะเด็กคนนี้มีจุดขายไงล่ะ” นายสนธิกล่าว
"บุ้ง" เคยให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ "ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน" ตอนหนึ่ง เมื่อถูกถามว่า "บุ้ง มีบทบาทอะไรในการเคลื่อนไหว ?" เธอบอกว่า "เคลื่อนไหวโดยคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลังเด็กที่เขาออกไปเคลื่อนไหว เพราะส่วนใหญ่ที่ออกมากันยังเป็นเด็กอยู่ ยังไม่มีความพร้อมเรื่องทรัพยากร บุ้งจะหาเงินในการเคลื่อนไหวของเขาให้มันไปต่อได้" นี่คือคนที่อยู่เบื้องหลัง ให้เงินให้ทอง ให้ความคิด
คำถามว่าทำไมต้องเป็นเด็ก/เยาวชน ? เธอบอกวา เธอเชื่อในพลังของคนเยาวชนรุ่นใหม่ เลยตัดสินใจมาสนับสนุนเยาวชน นี่คือสรุปย่อที่ให้สัมภาษณ์
จากคำพูดของบุ้ง แปลได้หรือเปล่าว่า เลือกสนับสนุนเยาวชน เพราะว่าเด็กถูกชักจูงได้ง่าย โดยเฉพาะเยาวชนแบบ "หยก" ที่ขาดสถาบันครอบครัวมาคอยปกป้องดูแล มาจากครอบครัวที่แตกแยก สถานะเป็นชนชั้นที่รายได้มีน้อย หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นคนยากจน ก็เลยทุ่มเทเอาความที่เด็กมันยากจน สร้างความเกลียดชังให้กับระบบ บอกที่หนูยากจนเพราะอำนาจนิยม
“เด็กไม่มีสติปัญญาอะไรก็เข้าใจไปด้านนั้น ให้ทำอะไรก็ทำตาม เพราะคุณให้ตังค์ ให้เงินให้ทองเด็ก ผมว่า รัฐบาลครับ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องครับ ต้องหาทางดำเนินคดีกับ "ผักบุ้ง"
"ผักบุ้ง" นี่โดนคดี 112 ไปแล้ว แต่ 112 ไม่ได้ ยุยงส่งเสริมให้เด็ก/เยาวชนทำความชั่ว ทำผิดกฎหมาย”
นายสนธิ กล่าวอีกว่า เรื่องการระบายสีที่กำแพงวัดพระแก้วนั้น เบื้องหลังก็คือ มีคนอยากให้ "หยก" ถูกหมายจับ (กรณีเขียนข้อความบนพื้นหน้าศาลาว่าการ กทม.เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565) แต่ตำรวจตอนนี้มีสติ ไม่ยอมออกหมายจับ ก็เลยเอา "หยก" กับผู้ชายอีกคนหนึ่ง อายุ 25 ปี ไประบายสีกำแพง ตำรวจไม่มีทางเลือกก็เลยต้องออกหมายจับ "หยก"
ทำไมต้องการให้ “หยก” ถูกหมายจับ ? เพราะจะได้ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ว่าจับเด็กอายุ 15 และนี่คือกระบวนการส่วนหนึ่ง
“เห็นหรือยังท่านผู้ชม ว่า "น้องหยก" อยู่เป็นตัวละครในกระบวนการที่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมา เพื่อให้สร้างกระแสในสังคม ให้เห็นว่าผู้ใหญ่รังแกเด็ก แต่ไอ้พวกนี้คือคนที่อยู่เบื้องหลัง ยุยงส่งเสริมให้เด็กทำอะไรที่มันผิดกฎหมาย แล้วใช้เด็กเป็นเหยื่อ” นายสนธิกล่าว