xs
xsm
sm
md
lg

เสนอแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัยฯ เพิ่มโทษ "ผู้คุกคามขบวนเสด็จ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการด้านกฎหมายชี้จุดอ่อน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย ปี 2560 ไม่มีมาตรการและกลไกใดที่จัดการแก่ผู้ที่คุกคามขบวนเสด็จ ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง สมควรแก้กฎหมายจัดการ เพื่อลดปัญหาการใช้มาตรา 112

วันนี้ (12 ก.พ.) เฟซบุ๊ก Komsarn Pokong ของนายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีต ส.ส.ร. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โพสต์ข้อความระบุว่า ตามที่ปรากฏเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งการคุกคามดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหาย และเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพของพระองค์ท่าน และต่อมาก็ได้เกิดการปะทะกันระหว่าง ศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) กับกลุ่มทะลุวังเกิดขึ้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยามสแควร์ ซี่งมีแนวโน้มว่าจะมีการเกิดความรุนแรงขึ้นกับทุกฝ่าย เนื่องจากมีความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากเกิดขึ้น จนอาจเกิดอันตรายแก่ประชาชนทุกฝ่ายเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังจะทำให้มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มขึ้น และหากพิจารณาจากประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว จะพบว่ามีมาตรการไม่เพียงพอ

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่พระบรมวงศานุวงศ์ไม่ให้เกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จ และไม่ให้เกิดการทำร้ายกันด้วยการแสดงออกถึงความไม่พอใจเกิดขึ้น สมควรที่รัฐบาลคงต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้หน่วยงานต่างๆ กำหนดมาตรการในการถวายความปลอดภัย แต่ไม่มีมาตรการและกลไกใดที่จัดการแก่ผู้ที่คุกคามขบวนเสด็จดังที่ได้เกิดมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่เกิดบริเวณเส้นทางเสด็จบนถนนราชดำเนิน และบนทางด่วน ผมจึงเห็นว่าคงต้องเพิ่มเติมมาตรการและการกำหนดดังกล่าวเข้าในพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว และจะเป็นการลดปัญหาของการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ฝากไปยังคุณชาดาฯ (ไทยเศรษฐ รมช.มหาดไทย) และ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ฯ (สุขวิมล) ด้วยครับ"
กำลังโหลดความคิดเห็น