xs
xsm
sm
md
lg

CITE-DPU เปิดโผ Top 5 งานสายพันธุ์ใหม่ที่ “ทุกองค์กรต้องการ” แห่งโลกดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เผย “5 สายงาน” ที่มาแรงที่สุดในโลกยุคใหม่ปี 2567 พร้อมกับตอบทุกโจทย์ความต้องการขององค์กร และสอดคล้องกับชีวิตวิถี Digital Nomad ที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ

โดยมาพร้อมผลตอบแทนเริ่มต้นที่มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่หากมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์รับรายได้หลักแสนบาทขึ้นไปเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังรองรับการทำงานที่ยืดหยุ่นสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นงาน “Main job” หรืองาน “Entrepreneur” หรืองานแบบ “Digital Nomad”

1. AI Avatar / Influencer Creator

ด้วยความสามารถของ AI ในปัจจุบันและอนาคต เราสามารถสร้างตัวแทนองค์กรหรือ “ทูต” นั่นเอง ที่เหมือนเป็นภาพสะท้อนของแบรนด์ที่ถูกสร้างจาก AI ที่ว่ากันว่าคือที่สุดของความสมบูรณ์แบบ ทลายทุกขีดจำกัดของมนุษย์ และมาพร้อมกับ 'ข้อดี' มากมาย เช่น ไม่มีวันแก่ชรา ไม่เจ็บป่วย สามารถกำหนดรูปลักษณ์ภายนอก ผม ผิว หน้าตา สามารถกำหนดบุคลิกภาพให้เป็นที่ชื่นชอบและสะกดใจผู้บริโภคไม่แพ้ดารา-ศิลปิน ที่สำคัญยังสามารถอัปเดตเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น แถมไม่มีขาดงาน ลาป่วยหรือมาสาย ดังนั้นองค์กรต่างๆ เริ่มแสวงหาทูตของตนเอง ในกรณีทั่วไปอาจจะว่าจ้างดารา นักแสดง หรือผลักดันบุคคลหนึ่งๆ ที่มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นมาทำหน้าที่นี้

แต่ในอนาคตเราสามารถสร้าง Influencer ที่เหมือนสำเนามาจากตัวตนของคนที่เราต้องการหรือแม้กระทั่งสร้างมาจาก AI แทนได้ โดยต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถ ความชำนาญ ในการสรรค์สร้างรูปร่างหน้าตาของ AI Avatar/Influencer เหล่านี้ รวมทั้งการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเครื่องมือทาง AI ให้มีความชำนาญ เพื่อให้ AI Avatar Influencer เคลื่อนไหวและแสดงอารมณ์ได้เหมือนมนุษย์เราให้มากที่สุด ดังนั้นบุคลากรด้านนี้จึงกลายเป็นวิชาชีพที่ต้องการขึ้นมาอย่างชัดเจน


2.วิศวกรคอมพิวเตอร์ / วิศวกรซอฟต์แวร์ / โปรแกรมเมอร์

อาชีพที่มาแรงยอดฮิตไม่มีตก และยิ่งมีความต้องการมากๆ ขึ้นเรื่อยๆ เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ ก็จำเป็นต้องการทรัพยากรบุคคลมาสร้างและพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันการใช้งานผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งระบบการทำงานก็จะมีความซับซ้อนหรือมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น การทำงานผ่านระบบ Cloud การทำธุรกรรมด้วย Blockchain การเข้าถึงด้วย Metaverse การใช้งาน IoT กับอุปกรณ์ต่างๆ การป้องกันและระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ การนำ AI มาช่วยในการทำงาน การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งทุกอย่างล้วนต้องใช้บุคลากรทั้งวิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ทั้งนั้น ดังนั้น บุคลากรเหล่านี้ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญในองค์กรที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นมีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างตรงจุด

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนของบุคลากรบัณฑิตด้านนี้ที่ประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 2 หมื่นคน/ปี ทำให้เกิด 'Talent War' มีการแย่งและดึงตัวคนเก่งๆ จากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้นักศึกษาหลายคนได้ทำงานทันทีก่อนเรียนจบด้วยซ้ำและได้เงินเดือนเริ่มต้นมากกว่า 30,000 บาทเลยก็มี การขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ทำให้มีการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจที่จบไม่ตรงสายและพร้อมที่จะปรับตัว UP Skills เพื่อมาทำงานในด้านนี้ได้เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะผู้ที่ต้องการ Up Skill ส่วนใหญ่จะมีอายุค่อนข้างมากๆ ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนที่เรียนตอนอายุน้อยๆ อย่างแน่นอน และอาจทำได้ไม่ดีเท่ากับผู้ที่จบด้านนี้มาโดยตรง

3. Data Analytics and Cyber Security

ปัจจุบันองค์กรจำนวนมากให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกยุคดิจิทัลที่มีข้อมูลหลั่งไหลเข้ามาจากทุกช่องทาง ทำให้ทุกองค์กรมีข้อมูลการดำเนินการอยู่แล้วจำนวนมหาศาล ดังนั้นเพื่อเพิ่มผลประกอบการให้มากยิ่งขึ้นก็นำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ต่อยอดสร้างคุณค่าให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม องค์กรส่วนใหญ่ขาดเพียงแต่ทรัพยากรบุคคลที่จะนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ดังนั้น นักวิทยาการข้อมูล (Data Scientist) และวิศวกรข้อมูล (Data Engineer) จึงกลายเป็นขวัญใจขององค์กรขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้งานระบบดิจิทัลหรือระบบออนไลน์ก็ต้องมีการโจมตีหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังนั้นความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นโดยปริยายในโลกยุคดิจิทัล จำเป็นที่จะต้องมีผู้คอยสอดส่อง ป้องกัน ปรับปรุงระบบและกระบวนการเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ลดความเสี่ยงจากการโจมตีหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมไปถึงการรั่วไหลของข้อมูล หรือเหตุการณ์ใดก็ตามที่อาจส่งผลต่อการทำงานกับอุปกรณ์และบริการที่ใช้งาน ให้เกิดความเสียหายหรือการเสื่อมเสียชื่อขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าหน่วยงานขนาดเล็กหรือใหญ่ แม้กระทั่งรัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อกฎหมายที่มีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพื่อบังคับป้องกันความประมาทเลินเล่อที่อาจจะเกิดขึ้นกับองค์กรที่หละหลวมในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมทั้งการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ดังนั้นนักศึกษาที่เรียนจบและมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ก็มักได้งานในทันทีหลังเรียนจบ

4. Logistics Engineering

หรือ “นวัตกรผู้ทำให้สินค้าส่งถึงมือลูกค้านับตั้งแต่ที่ยังเป็นวัตถุดิบ” กล่าวคือ ในกระบวนการโลจิสติกส์จะดูแลตั้งแต่แหล่งที่มาและคุณภาพของวัตถุดิบ การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดเก็บใน warehouse การกระจายสินค้าไปยังโกดังหรือตัวแทนจำหน่าย และการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า องค์กรใดที่สามารถสร้างกระบวนการตั้งแต่ได้วัตถุดิบมาจนถึงส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ในเวลาอันรวดเร็วที่สุดหรือมีการสต๊อกน้อยที่สุด ด้วยต้นทุนการขนส่งและจัดเก็บน้อยที่สุด องค์กรนั้นก็ถือว่ามีความสุดยอดในกระบวนการโลจิสติกส์แล้ว

ดังนั้น บุคลากรที่สามารถใช้โซลูชันกระบวนการใหม่ๆ และสามารถวิเคราะห์พร้อมกับแก้ปัญหาทั้งกระบวนการในอุตสาหกรรม ที่จะช่วยเพิ่มโอกาส เพิ่มมูลค่า เพิ่มกำไรให้กับองค์กรในโลกแห่งยุค 'ธุรกิจออนไลน์' จากการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง IoT (Internet of Things) E-Commerce M-Commerce รวมทั้งการใช้งาน Social Networks ต่างๆ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้ผู้คนหันมาจับจ่ายซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นหลายเท่าตัว องค์กรต่างๆ จึงต้องการ 'ผู้เชี่ยวชาญ' เพื่อวางแผนสร้างสรรค์ได้ตรงตามโจทย์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอนาคตที่ประเทศไทยกำลังรุดหน้าเมกะโปรเจกต์โครงการ Land Bridge และโครงการ EEC ยิ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้ระบบโลจิสติกส์มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยต่างๆ นี้นักศึกษาที่เรียนด้านนี้จึงเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ กล่าวได้ว่ามีเท่าไรก็ไม่พอกับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม


5. วิศวกรยานยนต์โลกอนาคต

คนไทยให้การตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างดีแบบเกินกว่าการคาดหมาย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ารวมสูงถึง 75,049 คัน จากปี 2565 ที่ยังมีเพียง 9,729 คัน ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นมาแบบก้าวกระโดดมากถึง 671% เลยทีเดียว เพราะประเทศไทยให้การสนับสนุนผู้ผลิตและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ประเทศไทยได้ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำในการใช้และผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันมีการผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า รถรางไฟฟ้า ได้แล้วในประเทศไทย ดังนั้นทักษะวิชาชีพด้านยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการสูงมาก ซึ่งต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับ 1. การออกแบบและผลิต 2. การดูแลบำรุงรักษา 3. การพัฒนา Option 4. ระบบและสถานีชาร์จ 5. การดัดแปลงรถยนต์เดิมให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละส่วนงานก็ต้องการกำลังคนจำนวนมาก ทั้งนี้ การจะทำให้เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน การ Upskill บุคลากรในเทคโนโลยีรถยนต์เดิมก็เป็นแนวทางที่ต้องดำเนินการด้วยเช่นกัน

และนี่ก็คือเทรนด์อาชีพ Top 5 สายพันธุ์งานรูปแบบใหม่ที่มาแรงสุดในปี 2567 และอนาคตแห่งโลกยุคใหม่ ที่ “ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า “ตอบทุกโจทย์” ทั้งความต้องการขององค์กรและไลฟ์สไตล์ชีวิตที่ทำงานในทุกที่ของคนรุ่นใหม่

“สำหรับนักเรียนที่มีความสนใจในด้านวิศวกรรมศาสตร์ สามารถสมัครเข้าเรียนได้ในทุกสายวิชา โดยที่วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ หรือ CITE-DPU ซึ่งเรามีปณิธานที่ให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปสามารถทำงานได้จริง มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม นอกจากนี้จะมีการเรียนปรับพื้นฐานเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจที่มีพื้นฐานไม่ดีหรือจบไม่ตรงสายมา รวมทั้งยังมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศมากมาย เช่น ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ AI การวิเคราะห์ข้อมูล โลจิสติกส์ รวมทั้งด้านรถยนต์ EV ที่เป็นหลักสูตรใหม่ เพื่อจะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้สัมผัสของจริงในระดับที่สามารถขึ้นโมเดลรถได้ทั้งคัน เพราะเราเน้นจบแล้วทำงานเป็นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“ขณะที่ในช่วงระหว่างการศึกษา ทาง CITE จะมีการเตรียมความพร้อมเพื่ออัปเดตเทรนด์และนวัตกรรมใหม่ต่างๆ ให้นักศึกษาทันต่อกระแสโดยวิทยากรพิเศษที่เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเข้ามาอบรมกันตลอดทั้งปี รวมทั้งนักศึกษาสามารถเข้าโครงการสหกิจศึกษา CWIE ที่จะช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้จากสถานประกอบการก่อนเรียนจบด้วย”

“ที่ผ่านมา นักศึกษาของวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ หรือ CITE-DPU มากกว่า 90% เรียนจบแล้วได้งานที่ดีทำเลยในทันที” ผศ.ดร.ชัยพรกล่าวทิ้งท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น