ย้อนไทม์ไลน์ปมปัญหานักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนในจังหวัดศรีสะเกษ และเครือข่ายทั่วประเทศ ร้องเรียนบ่อยครั้งว่ายังไม่ได้รับเงินกู้ กยศ. ขณะที่ กยศ. แจงมีนักศึกษากว่า 2,600 คนขาดคุณสมบัติเพราะมีงานทำ ที่ผ่านมาพยายามสอบถามข้อมูลกลับไม่ได้รับความร่วมมือ อีกทั้งลงพื้นที่สถานศึกษาเครือข่ายที่ระยอง สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ ไม่พบนักศึกษาแม้แต่รายเดียว
วันนี้ (4 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะลงพื้นที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่แจ้งว่ายังไม่ได้รับเงินกู้ โดยจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่แจ้งว่ายังไม่ได้รับเงินกู้อีกครั้ง
ปมปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ 42 คน จากมหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว ร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ว่ายังไม่ได้รับอนุมัติการให้เงินกู้ยืมจาก กยศ. หลังทำเรื่องขอกู้เงินไปนานหลายเดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ทำให้นักศึกษาได้รับความเดือดร้อน ไม่มีเงินค่าครองชีพและค่าเล่าเรียน
ต่อมานายชัยณรงค์ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบพบว่ามหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าวมีความไม่สอดคล้องของข้อมูลหลายประการ เช่น ผู้กู้ยืมบางรายแจ้งว่าไม่ทราบข้อมูลของบิดามารดา และเมื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม บางรายแจ้งว่าไม่สะดวกเตรียมเอกสาร นอกจากนี้ ผู้รับรองรายได้บางรายไปรับรองรายได้ให้กับครอบครัวของผู้กู้ยืมจำนวนมากที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดกัน และเมื่อติดต่อไปตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ กลับไม่สามารถติดต่อได้
จากข้อมูลพบว่า มหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าวมีผู้กู้ยืมเงินในปีการศึกษา 2564 จำนวน 9,199 ราย ปีการศึกษา 2565 จำนวน 14,937 ราย และปีการศึกษา 2566 มีผู้ยื่นขอกู้ยืมจำนวน 23,136 ราย ซึ่งผู้กู้ที่ได้ยื่นขอกู้ยืมเงินในปี 2566 ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมเงินแล้ว จำนวน 16,313 ราย คงเหลือยังไม่อนุมัติให้กู้ยืม จำนวน 6,823 ราย เนื่องจากได้ตรวจสอบพบว่าในกลุ่มที่ยังไม่อนุมัตินี้เป็นผู้ที่มีงานทำ 2,644 ราย ซึ่งไม่เป็นไปตามคุณสมบัติของการกู้ยืม
ต่อมาวันที่ 10 ธ.ค. 2566 ผู้จัดการ กยศ. พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ จากที่คงค้าง จำนวน 6,823 ราย ซึ่งกองทุนได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยและนักศึกษาให้ยื่นข้อมูลในระบบเพิ่มเติม ซึ่งนักศึกษาที่รออนุมัติและได้ยื่นข้อมูลในระบบครบถ้วนแล้ว กองทุนจะพิจารณาให้กู้ยืมโดยนักศึกษา จะได้รับค่าครองชีพภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติ
วันที่ 18 ธ.ค. 2566 ผู้จัดการ กยศ.เปิดเผยว่า ตรวจพบความผิดปกติในการดำเนินการกู้ยืมเงินของมหาวิทยาลัยบางแห่ง โดยพบปริมาณการยื่นขอกู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้กู้ยืมเงินจำนวนมากมีงานทำ ซึ่งไม่สามารถให้กู้ได้ เพราะไม่ตรงตามคุณสมบัติของผู้มีสิทธิกู้ อีกทั้งยังมีการรับรองรายได้ของครอบครัวที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รวมถึงพบข้อมูลการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ ว่า เรียนออนไลน์ 100% เตรียมส่งข้อมูลให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พิจารณาความสอดคล้องของมาตรฐานอุดมศึกษาหรือไม่
ขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว และครอบครัวยังคงร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่ายังไม่ได้รับเงินกู้จาก กยศ. อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้จัดการ กยศ.ยืนยันว่าได้อนุมัติเงินกู้ครบทุกรายแล้ว ไม่มีผู้กู้ค้างรออนุมัติในระบบ ยกเว้นนักศึกษาที่ทำงานประจำอยู่แล้ว จะไม่สามารถให้กู้ยืมได้ เพราะไม่ตรงตามคุณสมบัติของผู้มีสิทธิกู้
หลังเทศกาลปีใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าวยังให้ข่าวกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ว่า ขณะนี้นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าเล่าเรียน จำนวน 2,178 ราย ทั้งที่ส่งเอกสารครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ กยศ.กำหนดทุกประการ แต่ทางผู้จัดการ กยศ.ยืนยันว่ามีผู้กู้ยืม 2,443 ราย เป็นผู้มีงานทำแล้ว ทำให้ขาดคุณสมบัติและไม่สามารถให้กู้ได้ สำหรับรายอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนกองทุนฯ ได้อนุมัติเรียบร้อยทุกรายแล้ว และจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่าทางสถานศึกษามีการจัดการเรียนการสอนถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เนื่องจากมีผลต่อการอนุมัติเงินกู้
ต่อมา นางรัชดา ตันติมารา ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายประชาสัมพันธ์ กยศ. และคณะจำนวน 8 คน ได้เดินทางมาพบกับรองอธิการบดี และคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว ที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยได้ขอให้ทางมหาวิทยาลัยแจ้งให้นักศึกษาที่มีปัญหาติดขัด 517 ราย มาพบกับเจ้าหน้าที่ กยศ. เพื่อสอบถามข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมเรียน ปรากฎว่าวันดังกล่าว มีนักศึกษามาเพียง 5 ราย ได้พูดจาอ้อนวอน และคุกเข่าลงร่ำไห้ไหว้คณะเจ้าหน้าที่ กยศ.ว่าขอความเมตตาอย่าได้ตัดสิทธิเงินกู้ยืมเรียน
วันที่ 12 ม.ค. คณะเจ้าหน้าที่ กยศ. 7 คน มาที่มหาวิทยาลัยเพื่อรอนักศึกษาให้มาตอบแบบสอบถามข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมเรียน ปรากฏว่าไม่มีนักศึกษาในกลุ่ม 517 รายมาตอบแบบสอบถามแต่อย่างใด จึงได้นำนักศึกษา 2 รายมาตอบแบบสอบถาม ปรากฏว่ารองอธิการบดีเข้ามาแจ้งว่า นักศึกษา 2 คนไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 517 ราย แต่ กยศ.ยืนยันว่าสามารถสอบถามข้อมูลนักศึกษาได้ทุกคน แต่นักศึกษาก็ไม่ได้เข้ามาตอบแบบสอบถาม
ต่อมาในช่วงบ่ายได้เชิญรองอธิการบดีมาเพื่อสอบถามข้อมูล แต่รองอธิการบดีกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่ กยศ.กำหนดไว้ทุกประการ ขออนุญาตให้ข้อมูลเท่านี้ ไม่มีหน้าที่มาให้สัมภาษณ์ ก่อนปะทะคารมกันเล็กน้อย เพราะเจ้าหน้าที่ กยศ.เห็นว่ามหาวิทยาลัยให้ข้อมูลน้อยมาก และไม่ได้ประสานนักศึกษาในกลุ่ม 517 ราย แต่รองอธิการบดียืนยันว่า ได้ดำเนินการตามหนังสือทุกอย่างที่ทาง กยศ.แจ้งมาทุกอย่างแล้ว ขณะที่นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ที่เคยตอบแบบสอบถาม เข้ามาขอคืนและนั่งคุกเข่าลงกับพื้นยกมือไหว้ จนเจ้าหน้าที่ใจอ่อน
ขณะที่ กยศ.ยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้ระงับการให้กู้ยืมเงินของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 อ้างว่าถูกตัดสิทธิให้กู้ยืม ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็น 1 ใน 5 รายที่มาร่ำไห้กราบวิงวอนขอเงินกู้ แต่ไม่เคยยื่นแบบเบิกเงินแต่อย่างใด และเพิ่งยื่นแบบเบิกเงินกู้ยืมในระบบเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนฯ ได้อนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าวมีศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ เริ่มออกมาเคลื่อนไหว โดยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช 4 คน ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยเอกชนในจังหวัดศรีสะเกษ ร้องศาลปกครองนครศรีธรรมราช ให้เอาผิดผู้จัดการ กยศ.ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้จัดการ กยศ.ดำเนินการให้กู้ยืมเงินแก่นักศึกษากลุ่มดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ยังมีตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยเอกชนในจังหวัดศรีสะเกษอีกแห่งหนึ่ง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองระยอง ให้ กยศ. อนุมัติเงินกู้ยืมเรียนให้กับพวกตนจนสำเร็จการศึกษา เนื่องจากในระบบแจ้งว่าถูกระงับการให้กู้ยืม ทำให้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. กยศ.ชี้แจงว่า ได้รับแจ้งจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 ว่า สถานศึกษายกเลิกกิจการแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2565 ทำให้ กยศ.มีความจำเป็นต้องระงับการให้กู้ยืม เนื่องจากไม่ทราบว่าผู้กู้รายใดบ้างที่ย้ายไปเรียนที่จังหวัดศรีสะเกษ
ทั้งนี้ กยศ.ได้ขอข้อมูลการโอนย้ายและแผนการโอนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ไปศึกษาต่อที่อื่นไปยังกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งได้รับแจ้งว่าทางสถานศึกษาได้จัดทำแผนการโอนนักศึกษาที่กำลังศึกษาจำนวน 1,212 คน ไปศึกษาต่อที่จังหวัดศรีสะเกษ ต่อมาผู้ชำระบัญชีของสถานศึกษาได้แจ้งขอเปลี่ยนข้อมูลจากเดิม 1,212 คน เป็น 3,580 คน โดยอ้างว่าข้อมูลในระบบมีความผิดพลาด แม้ กยศ.จะขอข้อมูลเพิ่มเติมโดยมีหนังสือสอบถามไป 4 ครั้ง โทรศัพท์อีกหลายครั้งแต่ไม่ได้ข้อมูลตามที่ร้องขอ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ผู้จัดการ กยศ. พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองเพื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมกับขอพบอธิการบดีและนักศึกษากว่า 3,000 ราย ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งสถานศึกษาล่วงหน้าแล้ว ปรากฏว่าด้านหน้ามหาวิทยาลัยประตูปิด มีไม้กั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป มีป้ายแจ้งเวลาเปิด 08.00-17.00 น. หยุดวันจันทร์และอังคาร พบเจ้าหน้าที่เพียง 2 คน โดยออกมาแจ้งว่า ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในบริเวณสถานศึกษาเนื่องจากอธิการบดีไม่อนุญาตให้เข้าในพื้นที่ และไม่พบนักศึกษาในพื้นที่แม้แต่รายเดียว
เมื่อพยายามติดต่อประสานงานแต่ไม่สามารถติดต่ออธิการบดีหรืออาจารย์ รวมทั้งผู้กู้ยืมที่ร้องศาลปกครองได้ และไม่มีอาจารย์ผู้สอนด้วย ดังนั้น กองทุนฯ จึงได้เดินทางมายังสถานีตำรวจภูธรแกลง เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำส่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ พิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งหากสถานศึกษาไม่ให้ความร่วมมือในการชี้แจงข้อมูลและกองทุนฯ ไม่สามารถพบนักศึกษา ทางกองทุนฯ จะไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้
และเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา กยศ.ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปยังสถานศึกษาซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยเอกชนในจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมกัน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช และเพชรบูรณ์ พบว่าศูนย์จังหวัดสุรินทร์ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ ไม่พบนักศึกษาแม้แต่รายเดียว สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช พบนักศึกษาประมาณ 150 คน ส่วนที่จังหวัดเพชรบูรณ์พบนักศึกษาประมาณ 15 คน