MGR Online - สาวกแอนดรอยด์โปรดทราบ บริการ Google Wallet ของกูเกิล ประเทศไทย เปิดให้ผู้ถือบัตรเครดิตทีทีบี (ttb) เพิ่มบัตรลงในแอปฯ เพื่อนำมือถือที่มี NFC แตะจ่ายที่เครื่องรูดบัตรได้แล้วโดยไม่ต้องพกบัตรตัวจริง อีกด้าน ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มบัตรที่เป็นไฟล์ภาพคิวอาร์โค้ด หรือบาร์โค้ดลงใน Wallet และกำหนดได้เอง
วันนี้ (4 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา บริการ Google Wallet ของกูเกิล ประเทศไทย ได้เปิดบริการดังกล่าวแก่ผู้ถือบัตรเครดิต ของธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือทีทีบี โดยผู้ถือบัตรเครดิตทีทีบีทุกประเภท ได้แก่ ttb reserve, ttb absolute, ttb so fast, ttb so smart, ttb so chill และบัตรเครดิตร่วม ttb Global House สามารถเพิ่มข้อมูลบัตรลงบนแอปฯ Google Wallet แล้วใช้จ่ายผ่านเครื่องรูดบัตร EDC โดยไม่ต้องใช้บัตรตัวจริงอีก
อย่างไรก็ตาม สำหรับบัตรเดบิตทีทีบี ออลล์ ฟรี บัตรเดบิตทีทีบี ไลท์ รวมทั้งบัตรเดบิตทีทีบี ออลล์ ฟรี ดิจิทัล ซึ่งเป็นบัตรเวอร์ชวลการ์ด (Virtual Card) ยังไม่รองรับให้ใช้บริการ Google Wallet ในการแตะจ่ายได้
สำหรับ Google Wallet รองรับโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ที่รองรับฟังก์ชัน (NFC) รวมทั้งนาฬิกาสมาร์ทวอตซ์ ที่รองรับระบบปฏิบัติการ Wear OS โดยเมื่อเพิ่มบัตรดังกล่าวลงในแอปพลิเคชัน Google Wallet แล้ว สามารถนำโทรศัพท์มือถือโดยปลดล็อกหน้าจอ หรือนาฬิกาสมาร์ทวอตซ์ที่รองรับ แตะจ่ายที่เครื่องรูดบัตร EDC ที่รองรับระบบแตะจ่ายไร้สัมผัส หรือ Contactless เช่น VISA Paywave หรือ Mastercard PayPass เพื่อชำระเงินได้ทันที
ก่อนหน้านี้ กูเกิล ประเทศไทย เปิดให้บริการ Google Wallet ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2565 เริ่มจากผู้ถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ และบัตรเครดิตเคทีซี บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี (KTC) ก่อนที่จะเปิดบริการเพิ่มเติมแก่ผู้ถือบัตรเวอร์ชวลการ์ดที่ชื่อว่า ทรูมันนี่ มาสเตอร์การ์ด (TrueMoney Mastercard) ที่ผูกกับบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ต เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 กระทั่งในปี 2567 บัตรเครดิตทีทีบีของทีเอ็มบีธนชาต ให้บริการเป็นรายล่าสุด
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า บริการ Google Wallet เวอร์ชันล่าสุดสามารถสร้างบัตรโดยใช้รูปภาพที่มีบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ดลงใน Wallet เพื่อใช้แสดงตนในการสะสมคะแนน ใช้สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก หรือรับเงินโอนผ่านคิวอาร์โค้ด โดยระบบจะบันทึกรูปภาพคิวอาร์โค้ด หรือบาร์โค้ดลงใน Wallet ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องตั้งชื่อบัตร ต่อด้วยคำอธิบาย (ถ้ามี) เพื่อความสะดวกในการเรียกใช้บัตรใน Wallet โดยไม่ต้องเสียเวลาค้นหาไฟล์ภาพหรือเข้าไปที่แอปฯ บ่อยครั้ง
โดยสามารถสร้างได้ทั้ง THAI QR PAYMENT สำหรับรับเงินโอนผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด, บาร์โค้ดสำหรับชำระค่างวดสินเชื่อต่างๆ, ตั๋วเข้างาน หรือบัตรสมาชิกที่มีลักษณะเป็นไฟล์ภาพคิวอาร์โค้ดหรือบาร์โค้ด, บัตรห้องสมุด เป็นต้น โดยคิวอาร์โค้ดหรือบาร์โค้ดต้องสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และต้องไม่มีลักษณะเป็น Dynamic QR / Barcode ที่เปลี่ยนทุกครั้งเมื่อใช้งาน อย่างไรก็ตาม กูเกิลแนะนำว่าอย่าเพิ่มบัตรที่มีข้อมูลละเอียดอ่อน เช่น ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ