ผู้ฟังสถานีวิทยุจุฬาฯ ต่างแสดงความกังขา หลังปรับลดเวลาการออกอากาศตามผังรายการใหม่ เดิม 6 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน เหลือ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นเท่านั้น ทั้งที่เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยของรัฐในการให้การศึกษาสำหรับประชาชน และทรัพย์สินมีมากมายหล่อเลี้ยงให้ทำหน้าที่บริการข่าวสารสาธารณะได้
วันนี้ (30 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ ได้ปรับลดเวลาการออกอากาศตามผังรายการใหม่ จากเดิมทุกวันจันทร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 06.00-24.00 น. วันที่ 1 ก.พ. 2567 จะทำการปรับลดเวลาออกอากาศลง ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 06.00-18.00 น. และจะใช้ชื่อว่า จุฬาเรดิโอพลัส
การลดเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำให้มีผู้ฟังประจำส่วนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วย เฉกเช่นผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chetana Nagavajara ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาเยอรมัน และบรมครูวงการดนตรีคลาสสิกของไทย โพสต์ข้อความหัวข้อ "ท่านคือมหาวิทยาลัยของรัฐ เข้าใจไหม" ระบุว่า "วิทยุจุฬาฯ ประกาศออกมาอย่างกะทันหันว่าจะลดเวลาออกอากาศทุกวันจาก 06.00-24.00 น. ไปเป็น 06.00-18.00 น. ตั้งเเต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป โดยไม่ให้เหตุผลที่หนักแน่น
น่าเสียดาย เพราะวิทยุจุฬาสร้างคุณูปการไว้มากหลายในรอบกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ผมชื่นชมอาจารย์ที่เข้าใจปรับตัวให้สามารถถ่ายทอดความรู้ที่ลุ่มลึกเเละซับซ้อนออกมาในรูปเเบบที่สื่อสารกับคนธรรมดาสามัญได้ เเม้เเต่รายการบันเทิงส่วนใหญ่ก็เปี่ยมด้วยรสนิยมอันดี กล่าวโดยสรุปว่าวิทยุจุฬาสร้างเกียรติภูมิในระดับที่ทำให้เราพร้อมที่จะให้อภัยเขาในกรณีที่เขาเเจกเเผ่นกระดาษที่ควรจะมีค่าไปให้กับคนที่ไม่สมควรจะได้รับเป็นครั้งคราว
สถานะของวิทยุจุฬาแต่เดิมอาจไม่ชัดเจนสำหรับบุคคลภายนอก ว่าเป็นหน่วยงานอิสระ หรือเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย เเต่ในเมื่อมีตราจุฬาประทับอยู่ มหาวิทยาลัยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ในการตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ว่าท่านจะใช้ทุนส่วนใดไปสนับสนุนวิทยุจุฬา กิจของการส่งกระจายเสียงก็เป็นผลงานของ "มหาวิทยาลัยของรัฐ" ท่านจะมองไม่เห็นหัวราษฎรผู้เสียภาษีไม่ได้ การจัดการทรัพย์สินอันมหึมาที่พระราชาทรงมอบให้สำหรับอุดหนุนการศึกษาจะถือว่าเป็น "เรื่องภายใน" ไม่ได้เช่นกัน ท่านจะไม่ยอมเข้าเนื้อแม้แต่สตางค์แดงเดียวหรือในการให้การศึกษาสำหรับประชาชน
สถาบันการศึกษาที่ได้ทำหน้าที่ในการสร้าง "วิทยาทาน" มาเเล้วเป็นอย่างดี วันดีคืนดีกลับลดทอนหน้าที่นั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ถือว่ากระทำการที่ผู้มีปัญญาเเละผู้มีวัฒธรรมเขาไม่ทำกัน"
โพสต์ดังกล่าวมีการแชร์จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือเฟซบุ๊ก Adisak Limparungpatanakij ของนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษเครือเนชั่น แสดงความคิดเห็นว่า ขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ลดเวลาการออกอากาศวิทยุจุฬาฯ ปิดสถานียุติออกอากาศประจำวันในเวลา 18.00 น. จากเดิม 24.00 น.
"ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรจะคำนึงพันธกิจในการบริการสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไรบ้าง ทรัพย์สินและเงินทองของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมากมายอยู่ในวิสัยจะหล่อเลี้ยงให้สถานีวิทยุจุฬาฯ สามารถทำหน้าที่บริการข่าวสารสาธารณะได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์คุ้มค่ากว่าการตัดสินใจยุติการออกอากาศเวลา 18.00 น. ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับโอกาสของสาธารณะได้บริการข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้สูญเสียไปเปล่าๆ กับคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะ" นายอดิศักดิ์ระบุ
หรือเฟซบุ๊ก "ยิ่งศักดิ์ สุคนธทรัพย์" ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า "ฝากอธิการบดีคนใหม่หน่อยนะครับ จุฬาฯ ต้องทบทวนนโยบายลดรายจ่ายกับงานที่ต้องเป็นหน้าที่ ซึ่งทำต่อเนื่องมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เหมือนเศรษฐีลดค่ากับข้าว แม่ครัวก็งดซื้อผักเพราะไม่หนักท้องกินไม่อิ่ม แต่ไม่งดไปกินเลี้ยงสังสรรค์ดื่มเหล้ากับเพื่อนฝูง อ้างว่าต้องสร้างคอนเนกชัน หวังว่าจุฬาฯ จะเปลี่ยนไปในทางที่เหมาะสม สมเกียรติภูมิไปอีกอย่างน้อย 4 ปี"
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปลี่ยนจากวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารายได้ เป็นหน่วยงานในสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามมติที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 โดยมหาวิทยาลัยจะยังคงไว้ซึ่งคลื่น FM 101.5 MHz พร้อมปรับเทคโนโลยีจากยุคแอนะล็อก สู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกำหนดสัดส่วนรายการที่ออกอากาศแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเภทรายการข่าวสาร รายการส่งเสริมความรู้ คิดเป็นร้อยละ 75 และกลุ่มประเภทรายการบันเทิงและเพลง คิดเป็นร้อยละ 25
ข้อมูลจากสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง บริการสาธารณะประเภทที่ 1 โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2565 สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 2570
สถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2501 เริ่มจากการเป็นสถานีทดลองของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อใช้ในกิจการภายในมหาวิทยาลัย และได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2508 เพื่อรับใช้สังคมภายนอกมากขึ้น โดยกระจายเสียงผ่านคลื่นความถี่ FM 101.5 MHz ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง 16 จังหวัด แต่ในช่วงเวลา 12.00-13.00 น. จะออกอากาศผ่านเครือข่ายพันธมิตรวิทยุสถาบันการศึกษา 8 สถานี ในรายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน ครอบคลุมพื้นที่รวม 54 จังหวัด