ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีระพล จันทร์ดียิ่ง
ในทุกๆ ต้นปี สิ่งที่เรียกว่า “ปณิธานปีใหม่ (New Year Resolution)” มักจะวนกลับมาเพื่อสะท้อนถึงเป้าหมายการพัฒนาตนเองในสิบสองเดือนข้างหน้า จากการสำรวจโดยนิตยสารสุขภาพระดับโลกอย่าง Forbes Health ชี้ว่า ผู้คนกว่าร้อยละ 12 กล่าวว่าการเลิกบุหรี่เป็นปณิธานปีใหม่ที่ต้องการบรรลุให้ได้ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7 รองจากเป้าหมายด้านสุขภาพ การเงิน สุขภาพจิต และอาหารการกิน
การเลิกบุหรี่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพได้มากมาย เช่น ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ลดลงได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากหยุดบุหรี่ ซึ่งคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้การนำส่งออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายลดลง ทำให้เกิดการปวดศีรษะ มึนงง หัวใจทำงานหนัก การหยุดบุหรี่ช่วยให้ระดับออกซิเจน (Oxygen) ในเลือดสามารถกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ อีกทั้งการเลิกบุหรี่ได้ภายใน 2 เดือน ช่วยให้ความดันโลหิตลดลงและการทำงานของปอดดีขึ้นอีกด้วย
ในปัจจุบัน นวัตกรรมได้เข้ามามีบทบาทสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ นอกเหนือไปจากการเลิกบุหรี่แบบหักดิบแล้ว ก็ยังมียาสำหรับช่วยเลิกบุหรี่ รวมถึงนิโคตินทดแทนในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่บรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น ในส่วนของการใช้ยาสำหรับช่วยเลิกบุหรี่ ในปัจจุบันตัวยาที่มีประสิทธิภาพ และได้รับการรับรองให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ได้แก่ ยา Varenicline Cytisine และ Bupropion
นอกจากนี้ ปัจจุบันตัวเลือกสำหรับนิโคตินทดแทนก็มีหลากหลายกว่าสมัยก่อนมาก ไม่เพียงแต่ในรูปแบบของแผ่นแปะ หมากฝรั่ง ลูกอม ยาเม็ด หรือนิโคตินแบบสูดดม แต่ยังมีนิโคตินทดแทนในรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งล่าสุดผลการศึกษา Systematic Review โดย Cochrane ชี้ให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้า ยา Varenicline และยา Cytisine เป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ด้านพฤติกรรมให้แก่ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าว่าผู้ที่เลิกบุหรี่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถเลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วยหรือไม่ และยังไม่มีการศึกษาผลต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ควรศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกรหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม
แม้ทุกคนจะทราบดีว่าการเลิกบุหรี่นั้นก่อให้เกิดประโยชน์ ทว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ หรือแม้แต่คิดที่จะเลิก ดังนั้น การมอบทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้สูบบุหรี่จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกอัตราการสูบบุหรี่ของไทยให้ลดลงและพิชิตเป้าหมายด้านสาธารณสุขได้สำเร็จ