xs
xsm
sm
md
lg

ทีมสัตวแพทย์บึงฉวากผ่าตัดศัลยกรรมหางสิงโต หลังพบภาวะผิดปกติกัดแทะหางตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมสัตวแพทย์เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากผ่าตัดศัลยกรรมหางสิงโต เพศเมีย หลังพบว่าแม่สิงโตมีภาวะผิดปกติโดยกัดแทะหางของตนเองมาตลอดติดต่อกันนาน 5 วัน

วันนี้ (11 ม.ค.) นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก รายงานว่า ทีมสัตวแพทย์เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และทีมสัตวแพทย์กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ทำการผ่าตัดศัลยกรรมหางสิงโต เพศเมีย ชื่อแม่อดทน อายุ 14 ปี (มีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจ) หลังพบว่าแม่สิงโตมีภาวะผิดปกติโดยมีการกัดแทะหางของตนเองมาตลอดติดต่อกันเป็นระยะเวลารวม 5 วัน ทีมสัตวแพทย์จึงตัดสินใจทำการรักษาโดยวิธีการศัลยกรรมผ่าตัดกระดูกหาง เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก และ สพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาโดยเริ่มการยิงยาสลบ และให้ยาดมสลบจากเครื่องดมยาสลบ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาผ่าตัดค่อนข้างนาน ประกอบกับสัตว์มีอายุที่มาก ทีมสัตวแพทย์จึงตัดสินใจใช้เครื่องดมยาสลบตลอดระยะเวลาการผ่าตัด สภาวะการหายใจระหว่างการผ่าตัดปกติ ไม่พบการกลั้นหายใจ ชีพจรเต้นเบากว่าปกติเล็กน้อย ค่าออกซิเจนในกระแสเลือดปกติ

จากนั้นทำการผ่าตัดกระดูกหาง ผ่าตัดเนื้อตายโดยรอบ ตลอดระยะเวลาการผ่าตัด ทำการให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ โดยสัตวแพทย์ได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อแผล ทำการเย็บปิดแผล และทำการฉีดยาฆ่าเชื้อแบบออกฤทธิ์ในกระแสเลือดได้ยาวนาน 7 วัน ทำการฉีดยาลดปวด ลดอักเสบ ชนิดออกฤทธิ์กดอาการปวดได้ดีระดับการผ่าตัดกระดูก ทำการเจาะเก็บเลือด เพื่อส่งตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการทางสัตวแพทย์ จากนั้นทำการฉีดยาฟื้นสลบ และสัตว์ฟื้นสลบปกติ โดยทีมสัตวแพทย์ยังคงต้องเฝ้าระวัง ดูอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสิงโตตัวดังกล่าวนี้ มีอายุที่มากและมีประวัติเคยป่วยโรคหัวใจ




กำลังโหลดความคิดเห็น