เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) โต้กลับกรณีกรมควบคุมโรคแจงบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงพฤติกรรมเสพติดกัญชา โวยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเครือข่ายแพทย์ควรรื้อตรรกะใหม่ ยันไทยเป็นประเทศเดียวที่ปล่อยให้กัญชาไร้กฎหมายควบคุม ขายเกลื่อนเมือง แต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้ายาวนานถึงเก้าปี ชี้เห็นด้วยนักร้องดัง ก้อง ห้วยไร่ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรเคารพสิทธิผู้อื่น ใช้ให้เป็นที่เป็นทาง แนะรัฐถึงเวลาออกกฎหมายควบคุมแล้ว
หลังกรมควบคุมโรคอ้าง “การสูบบุหรี่ไฟฟ้า” เพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้ “กัญชา” สูง 4 เท่า เพจเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “ECST บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร?” ที่มีผู้ติดตามกว่าแสนราย ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านโพสต์ใจความว่า “บอกบุหรี่ไฟฟ้านำไปสู่สารเสพติดอื่น อ้าว ไปไงมาไง มาคิดถึงกูล่ะเนี่ย” โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้ถูกใจกว่าสี่ร้อยราย
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนจากเพจลาขาดควันยาสูบ เปิดเผยว่า “เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชานั้นถูกโยงมาพักใหญ่ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่สะท้อนความบิดเบี้ยวของตรรกะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเครือข่ายแพทย์ที่ออกมาโจมตีผู้บริโภคด้วย ไม่มีหรอกครับประเทศไหนที่จะให้กัญชาขายเกลื่อนไร้การควบคุม เปิดหน้าร้านค้าขายกันยิ่งใหญ่ แต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้ายาวนานเกือบสิบปี”
“จริงๆ หากจะให้ลองคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้กัญชาได้อย่างไร ก็คงต้องย้อนกลับไปเรื่องการแบน พอบุหรี่ไฟฟ้าถูกแบน การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นผ่านตลาดใต้ดินที่ผิดกฎหมาย ก็ยากที่จะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือผู้บริโภคตอนนี้มีมาตรฐานอย่างไร ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง อย่างที่เคยออกข่าวว่ามีการระบาดของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันกัญชา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคปอด EVALI” นายมาริษเสริม
“ล่าสุดมีดรามานักร้องดังขอให้หยุดใช้บุหรี่ไฟฟ้าในคอนเสิร์ต ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ใช้ควรให้ความร่วมมือ เคารพสิทธิผู้อื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกเพจของเราช่วยกันรณรงค์อยู่แล้ว แต่พอไม่มีกฎหมายมาควบคุม ผลที่ออกมาเลยเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาถึงประโยชน์ของการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เราในฐานะตัวแทนผู้บริโภคก็คาดหวังว่าคณะกรรมการวิสามัญฯ นี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และวอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มองโลกผ่านความเป็นจริงให้มากขึ้น”
นอกจากนี้ นายมาริษยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของเด็กและเยาวชนที่พบว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเด็กลงเรื่อยๆ จนแม้กระทั่งเด็กประถมก็ยังถูกพบว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายผ่านช่องทางที่หลากหลาย จึงเป็นเรื่องที่ทางเครือข่ายฯ ดำเนินการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจในหน่วยงานสาธารณสุข และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาดำเนินการเพื่อมอบทางเลือกให้แก่ผู้สูบบุหรี่ไทยกว่า 9.9 ล้านคน รวมถึงคนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ไร้ซึ่งการควบคุมของรัฐ