xs
xsm
sm
md
lg

กลิ่นตุๆ ใน สธ. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผลงาน “ก๊วนอ้างชนบท” อีกแล้ว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.ผุดโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง คนในแวดวงสูตินรีแพทย์สงสัย เหตุใดใช้เกณฑ์เหนือมาตรฐาน ขณะวงในระบุ มีเพียงบริษัทเดียวที่สามารถตรวจได้ตามเกณฑ์ เป็นบริษัทเดิมที่ “ก๊วนอ้างชนบท” คุ้นเคยผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยจัดซื้อ ATK ที่เรื่องยังค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. ขณะ ผอ.ศูนย์ฯ บางเขตไม่เห็นด้วยโดนข่มขู่ บีบให้ลาออก



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงเรื่องราวไม่ชอบมาพากลในกระทรวงสาธารณสุข กรณีโครงการรณรงค์ให้“สตรีไทยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง”

โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา วันที่ 26 ธันวาคม 2566 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับอีกหลายหน่วยงานเช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย , สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย เริ่มโครงการ “รณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย” เปิดตัวแคมเปญตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง


ในงานมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ได้จัดรูปแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการพัฒนาอบรมให้ความรู้กับ อสม. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการให้ความรู้และกระตุ้นให้สตรีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบแยก 14 สายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึง เป็นฐานข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของประเทศในการนำไปพัฒนาวัคซีน ให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ อีกทั้งในกรณีตรวจติดตามการติดเชื้อแบบแฝง (Persistent infection) โดยมีเป้าหมาย1 ล้านคนทั่วประเทศในปี 2567


ถ้าประชาชนอย่างเรา ๆ ได้ฟังแล้วก็ดูไม่มีอะไร เป็นเรื่องที่น่าสงเสริมตามหลัก “หลีกเลี่ยง-ป้องกัน-รักษา” ซึ่เป็นพื้นฐานของการสาธารณสุข

แต่สิ่งที่คนในแวดวงสูตินรีแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนสงสัย และตั้งคำถามก็คือ มาตรฐานการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่ใช้กันทั่วโลก เขาตรวจแค่แบ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรือไม่เท่านั้น ถ้าเสี่ยงก็มีแนวทางดูแลต่อชัดเจน


แต่เพราะเหตุใดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงประกาศจะใช้ “เกณฑ์ที่เหนือมาตรฐานทั่วไป”? จนหมอสูตินรีเวชทั่วประเทศข้องใจและสงสัยว่า ทำไปเพื่ออะไร?

ในขณะที่กรมการแพทย์และราชวิทยาลัยสูติฯ แห่งประเทศไทยยืนยันว่าควรตรวจคัดกรองเพื่อแยกกลุ่มเสี่ยงก็พอแล้ว เพราะการตรวจที่ละเอียดเกินไป หรือการตรวจด้วยตัวเองที่ไม่ได้มาตรฐาน จะทำให้ผลที่ออกมาผิดเพี้ยนได้ อาจจะทำให้ทั้งหมอและประชาชนสับสนว่าตัวเองมีความเสี่ยงจริงหรือเปล่า หลังจากนั้นก็ต้องไปตรวจละเอียดที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น จึงเป็นการเสียทรัพยากรประเทศโดยใช่เหตุ


ด้วยเหตุนี้เอง ว่ากันว่า อาจจะมีผลประโยชน์บางอย่างใน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

แต่จากเพจ "วงใน สาธา" เปรยๆ ว่า “มีบริษัทเพียงบริษัทเดียวที่สามารถตรวจได้ละเอียดเข้ามาตรฐาน ซึ่งเป็นบริษัทเดิมที่ก๊วนอ้างชนบทมีความคุ้นเคยผูกพันดูแลกันอย่างดีมาตลอดตั้งแต่สมัย ATK ที่เรื่องยังคาอยู่ที่ ป.ป.ช.

“ครั้งนี้ ถึงขนาดตั้งเป้า 1,000,000 เทสต์ในปี 2567 คิดง่ายๆ ถ้าสมมุติมีส่วนต่าง 50 บาทต่อเทสต์ รวมเป็น 50 ล้านบาท จะไปอยู่ในกระเป๋าใคร?”

“แว่ว ๆ ว่า มี ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์บางเขต ไม่เห็นด้วยกันนโยบายไร้สาระนี้ ถึงกับถูกขู่ สั่งย้าย จนถึงบีบให้ลาออก
…”
เพจ "วงใน สาธา"ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ไม่รู้ว่า “เจ้ากระทรวง” (ซึ่งแน่นอนหมายถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว) รู้หรือไม่? แต่ถ้าจะพึ่งรัฐมนตรีช่วย (สันติ พร้อมพัฒน์) ที่ดูแลกรมนี้คงไม่ไหว เพราะป่านนี้คงยืนงงในดงแพทย์อยู่


เรื่องนี้ก็จริง ๆ อาจถือเป็นภาคต่อของศึกเรื่องชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK ตั้งแต่ปี 2564 ก็ว่าได้ ซึ่งในเวลานั้น “ชมรมแพทย์ชนบท” เจ้าเก่า ได้ออกมากดดันให้มีการจัดซื้อ ATK ที่ตัวเองหนุนหลังอยู่ แม้มีราคาที่แพงกว่าราคาที่ประมูลได้มาก แล้วยังออกมาโจมตี ATK ยี่ห้อ "เล่อผู่" จากจีน ที่ชนะการประมูลอย่างสาดเสียเทเสียว่า ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่หมอชนบทเลย แต่ก็มาทำในเรื่องนี้ สุดท้ายแล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเขารู้ทันชมรมแพทย์อ้างชนบท

มาถึงวันนี้ชื่อของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ซึ่งหลายคนเขาบอกว่าจริง ๆ ต้องเปลี่ยนชื่อได้แล้วเป็น “ชมรมแพทย์อ้างชนบท” ก็กลับมาอีกครั้ง ซึ่ง นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีออกมาแถลงข่าว นี่ก็เคยเป็นอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท

แต่วันนี้ไม่ได้ออกมากดดันให้ใช้ ATK ราคาแพง ที่ตัวเองหนุนหลังอยู่ แต่เป็นโครงการอีกแบบหนึ่งคล้าย ๆ กัน คือการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเองซึ่งในวงการแพทย์เขารู้ทัน เขาจึงถามว่าที่ผลักดันกันอยู่นี่มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่? มีการคอร์รัปชันกันหรือไม่? กำลังปูทางนำไปสู่อะไรหรือไม่?

เรื่องนี้ “หมอชลน่าน” ในฐานะเจ้ากระทรวงสาธารณสุขต้องรีบตรวจสอบ และให้คำตอบกับประชาชน!


กำลังโหลดความคิดเห็น