xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เตรียมออกกติกา แนะวิธีเบิกเงินเร็วใน 3 วัน ชวนคลินิก-ทันตกรรม-แผนไทย 4 จว. ร่วม "รักษาทุกที่"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช.เร่งขยายกลุ่มคลินิก-ทันตกรรม-แพทย์แผนไทย 4 จังหวัดนำร่อง เข้าร่วมบัตรใบเดียวรักษาทุกที่ เตรียมออกกติกา 6-7 แนะวิธีเบิกจ่ายเงินเร็วใน 3 วัน ประสานขอผู้ว่าฯ ช่วยจัดทีมออกหน่วยทำบัตร ปชช.ให้คนไม่มี ย้ำเชื่อมโยงข้อมูลยิ่งเร็ว ยิ่งช่วยตรวจสอบป้องกันช้อปปิ้งรักษา

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566 ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพฯ มีการพัฒนามาต่อเนื่อง 20 ปี แต่ก็ยังมีความท้าทายเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งคนกังวลว่าอนาคตจะยั่งยืนหรือไม่ งบประมาณจะเพียงพอหรือไม่ เทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามามีผลดีผลเสียอย่างไร Climate Change จะเข้ามามีผลกระทบอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการ อย่าง AI เราไม่ได้ปฏิเสธ แต่ทั้งหมดต้องมีมาตรฐานและผู้เชี่ยวชาญช่วยดู สมัยก่อนเรามีปัญหาเบิกจ่าย ต้องจ่ายไปก่อนแล้วมาตรวจ เราเปลี่ยนมาหลายปี เป็นตรวจก่อนจ่าย ซึ่งใช้คนไม่ได้ เราก็ต้องใช้ระบบไอที ปัจจุบันเราก็ใช้ AI ซึ่งแตกต่างจากอดีต คือ มันมีความฉลาดมากขึ้น อนาคตเชื่อว่าระบบจะเข้ามาช่วยให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.จเด็จกล่าวว่า ส่วนการแพทย์จีโนมิกส์นั้น อนาคตการรักษาคัดกรองที่ลึกถึงยีนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อย่างหลายปีก่อนเรามีการตรวจยีนก่อนให้ยากันชัก "ยาคาร์บามาซีปีน" เพื่อป้องกันการแพ้รุนแรงสตีเวนส์จอห์นสัน หรือจะกินยาโรคเกาท์ก็ต้องตรวจยีนตัวหนึ่งก่อน หรือทุกวันนี้ใครมีญาติเป็นมะเร็งเต้านมก็ต้องมาตรวจยีน BRCA1 BRCA2 จะได้รู้ว่าถ้ามียีนตัวนี้ต้องให้การรักษา ไม่เกิน 5 ปีเป็นมะเร็งเต้านม การตรวจมะเร็งปากมดลูกใช้ HPV DNA Test เมื่อก่อนเราต้องไปขึ้นขาหยั่งตรวจเซลล์ ปัจจุบันเก็บสิ่งส่งตรวจเองแล้วส่งมาตรวจ ปัจจุบันการแพทย์จีโนมิกส์เองอยู่ในสิทธิประโยชน์จำนวนมาก แต่คนมักจะคิดว่าราคาแพง แต่จริงๆ ไม่ใช่ จะถูกลงเรื่อยๆ จนน่าตกใจ

"ล่าสุดมีการคุยกันว่า มีการตรวจยีนบางอันอาจเอามาคัดกรองเด็ก แล้วเลิกการคัดกรองอื่นทั้งหมดเลย แล้วมาตรวจเป็นยีนครั้งเดียวแล้วจบ ตรวจเลือดหยดเดียวแล้วจบเลย ดังนั้น เทคโนโลยีไปถึงขนาดนั้น และราคาถูกลงมาก จึงเป็นความหวังของเรา เพราะอย่างที่บอกว่าเรามีแรงกดดันค่าใช้จ่ายเยอะแยะ การเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ การตรวจยีนเข้ามาจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายของระบบถูกลง ถูกต้องมากขึ้น แก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น" นพ.จเด็จกล่าว


ถามถึงความพร้อมของการเดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ นพ.จเด็จกล่าวว่า เราเตรียมส่วนหนึ่งให้ระบบเบิกจ่ายเร็ว โดยนำระบบที่ใช้กับสวัสดิการรักษาพยาบาลเข้ามาใช้ เช่น เวลาไปรักษาจะมีการเสียบบัตรประชาชนทุกครั้งเพื่อจบการรักษา สมัยก่อนต้องมีการเปิดสิทธิ เช็กสิทธิก่อน ก่อนกลับก็ปิดสิทธิ แต่เราขอยกเลิกหมด เราขอครั้งเดียวพอ จะตรวจตอนไหนก็ได้ ก่อนตรวจหลังตรวจหรือ รพ.ไหน คลินิกไหนต้องการส่งข้อมูลทันทีมาให้ถือว่าเป็นปิดสิทธิได้เลย จะมีการออกหนังสือเป็นกติกาวิธีการไปทำอย่างไรให้ได้เงินเร็วใน 6-7 วิธีของเรา ให้ได้เงินภายใน 3 วัน

ส่วนหน่วยนวัตกรรมเราลงไปเตรียมพร้อม 4 จังหวัดแล้ว ทั้งแพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เดิมเรามีหน่วยนวัตกรรมคือ รับยาร้านยา คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ให้แล็บไปเจาะเลือดที่บ้าน และคลินิกกายภาพบำบัด เราพยายามขยายเพิ่มคลินิกหมอทั่วๆ ไปตอนเย็น เอาเข้ามาในระบบ เพื่อให้ถือบัตรประชาชนไปรับบริการได้ คลินิกทันตกรรม คลินิกการแพทย์แผนไทย ก็จะเอาเข้ามา 3-4 อันนี้เราจะเข้ามาในโครงการนำร่อง 4 จังหวัดนี้ก่อน เพื่อดูว่าเมื่อระบบมีความพร้อม สามารถเดินทางไปรับบริการตรงนี้ได้จะลดความแออัด เป็นปฐมภูมิมากขึ้น

“แม้อยากจะให้หน่วยนวัตกรรมใน 4 จังหวัดนี้เข้ามาร่วมในระบบบัตรทองทั้งหมด แต่บางแห่งก็ยังไม่อยากจะเข้าร่วม เช่น คลินิกพยาบาลมี 200 แห่งอาจจะเข้ามา 100 แห่ง ร้านยามี 400 แห่ง แต่ที่เข้ามามีเพียง 200 กว่าแห่ง เหลืออีก 200 กว่าแห่ง ก็ต้องพยายามรณรงค์ เพราะบางแห่งอาจจะคิดว่าเบิกเงินยุ่งยาก หรือไม่ชอบการตรวจสอบ รวมถึงกังวลเรื่องระบบภาษี เป็นสิ่งที่อยากสะท้อนเข้ามาเพื่อร่วมทำความเข้าใจและแก้ไข เพราะเมื่อประชาชนไปใช้บริการที่ไหน ไม่อยากให้เกิดปัญหาว่าหน่วยนวัตกรรมนั้นไม่ได้อยู่ในระบบ”นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จกล่าวว่า เรายังเตรียมพร้อมสายด่วน 1330 เมื่อมีปัญหาไปใช้บริการ เรามีอาสาสมัครพยาบาลเกษียณ 1 พันกว่าคนเข้ามาดูแลตรงนี้ รับทราบปัญหา ให้คำแนะนำและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคต่างๆ เพื่อให้ 4 จังหวัดนี้มั่นใจว่าระบบเราจะเดินหน้า เราค่อนข้างมั่นใจมีความพร้อม ยังติดเรื่องเทคนิคอีกหน่อย ธนาคารกรุงไทยต้องเอาเครื่องไปวางตาม รพ.ต่างๆ ทุกแห่ง เพื่อให้ประชาชนเสียบบัตรเองจะลงภายในเดือนนี้" นพ.จเด็จกล่าว


ถามถึงรพ.เอกชน คลินิกเอกชน เข้าร่วมมากขึ้นหรือไม่ใน 4 จังหวัดนำร่อง นพ.จเด็จกล่าวว่า มีเข้าอยู่แล้วในบางระบบ คือ บางแห่งเข้าบางบริการ ไม่ได้เข้าทุกบริการ เช่น บางแห่งเข้าหัวใจ เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะเอกชนเราไม่สามารถบังคับได้ ได้แต่ชักชวน แต่เราต้องการให้ทุกระบบเข้ามา เมื่อเข้ามาอย่างน้อยประชาชนไปหากให้บริการไม่ได้ก็ส่งต่อได้

"ย้ำว่าต้องมีบัตรประชาชน จากการลงพื้นที่บางคนไม่มีบัตรประชาชน ก็ได้ขอให้ผู้ว่าฯ ส่งหน่วยเคลื่อนที่ไปทำบัตรประชาชน หรือใช้ระบบไอดีในแอปพลิเคชันของเรา หรือไม่มีจริงๆ ต้องมีคนพาไปถ่ายรูป เราพยายามเตรียมทุกอย่างไว้ให้ แต่หน้างานอาจขลุกขลัก อย่างเด็กเล็กต่ำกว่า 7 ขวบไม่มีบัตรประชาชน เราให้ผู้ปกครองเตรียมบัตรประชาชนไป เรามีระบบของเราอยู่แล้ว คงไม่มีปัญหาว่ามีใครเป้นคนไทยแล้วเข้าบริการไม่ได้ วันที่เริ่มแม้ลืมบัตรประชาชน เรามีวิธีไปตาม ให้มั่นใจว่าบริการต้องไปก่อน" นพ.จเด็จกล่าว

ส่วนการไปหลายที่ข้อมูลหลังบ้านต้องเชื่อมกัน 100% แบบเรียลไทม์ จะไม่มีปัญหา แต่ความท้าทายอยู่ตรงไหน สธ.น่าจะเป็นจุดใหญ่ที่จะเชื่อมข้อมูลได้เร็วก่อน เพราะทั้งหมดเป็น รพ.ในกระทรวงเป็นส่วนใหญ่ แต่จะเชื่อมกับคลินิกหรือคลินิกพยาบาลจะมีอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งเราเองก็จะทำหน้าที่ช่วยเสริม ส่วนหนึ่งเข้าใจว่า สธ.พยายามเตรียมข้อมูลเพื่อคืนประชาชน แล้วประชาชนไปที่ไหนก็ยื่นข้อมูลให้อีกหน่วยหนึ่ง ส่วนหลังบ้านเชื่อมกันได้จะตรวจได้เร็ว แต่ต้องยอมรับเป็นความท้าทาย ถ้าเชื่อมไม่ได้ แล้วเกิดมีคนไปช้อปปิ้ง วันหนึ่งไปสิบที่รับยาเต็มไปหมด 1 คนทำให้ระบบเสียแน่ต้องป้องกันตรงนี้ เช่น เมื่อประชาชนไปรับยาที่หน่วยบริการหรือร้านขายยาแล้วเสียบบัตรประชาชน ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าก่อนหน้านี้ไปรับบริการที่อื่นมาแล้วหรือไม่ หากมีระบบก็จะแจ้งเตือนข้อมูลไปยังหน่วยบริการหรือร้านยานั้นให้ทราบ รวมถึงการที่จะต้องมีระบบตรวจสอบก่อนนี้เป็นการตรวจสอบหน่วยบริการด้วย เพราะถ้า สปสช.จ่ายเงินไปก่อนจะมีปัญหา ยิ่งเอกชนมาเบิกเงินแล้วเบิกผิด อาจจะถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่าอาจจะมีความไม่สุจริต สิ่งสำคัญคือบริการแล้วต้องมีการส่งข้อมูลเข้ามา


กำลังโหลดความคิดเห็น