จี้รัฐบาลดูแลปัญหาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยิปซัมไทยถดถอย เสนอเลิกมาตรการแทรกแซงกลไกการผลิตและการตลาดของภาครัฐ ลดค่าภาคหลวงส่งออก อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ยิปซัม เร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินฯฉบับใหม่
ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง กล่าวว่า จากการที่สมาคมฯได้พยายามสะท้อนปัญหาของผู้ประกอบการเหมืองแร่ยิปซัมไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ทั้งจากนโยบายของรัฐในเชิงอนุรักษ์และจากการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ล่าสุดวารสารเหมืองแร่ของสภาการเหมืองแร่ได้เสนอบทความทางวิชาการเรื่อง “อุตสาหกรรมเหมืองแร่ยิปซัมไทยในภาวะถดถอด” เขียนโดยนายสุรพล อุดมพรวิวัฒน์ รองประธานสภาการเหมืองแร่ ได้กล่าวถึงความสำคัญของแร่ยิปซัมซึ่งใช้เป็นฐานวัตถุดิบในอุตสาหกรรมหลายประเภท กับปัญหาที่ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ
เนื้อหาในบทความสรุปว่าตลอดระยะหลายปีมานี้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ยิปซัมไทยอยู่ในภาวะถดถอย เป็นผลมาจากนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ยิปซัมไว้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ด้วยมาตรการชะลอการอนุญาตประทานบัตร การกำหนดโควตาในการส่งออกสำหรับผู้ถือประทานบัตรแต่ละราย การขึ้นอัตราค่าภาคหลวงสำหรับแร่ยิปซัมที่ส่งออก และการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 19 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ขาดความมั่นใจในเสถียรภาพของแหล่งวัตถุดิบ และได้ลดปริมาณนำเข้าแร่ยิปซัมจากประเทศไทยลง หันไปหาผู้ผลิตรายอื่นจากประเทศต่างๆ
ปัจจุบันประเทศโอมานคือผู้ส่งออกแร่ยิปซัมรายใหญ่ของโลก ในปี 2566 น่าจะเกิน 10 ล้านตัน ประเทศที่รับซื้อได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินโดนีเชีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กระทบกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ยิปซัมของไทย ซึ่งไม่สามารถส่งแร่ยิปซัมออกไปขายได้จำนวนมากเหมือนในอดีต
ในท้ายของบทความ ระบุว่า เพื่อพลิกฟื้นภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยิปซัมของไทย สภาการเหมืองแร่ได้เสนอให้ภาครัฐยกเลิกมาตรการแทรกแซงกลไกการผลิตและการตลาดแร่ยิปซัม 4 ประการได้แก่
1.รัฐควรยกเลิกการสงวนทรัพยากรแร่ยิปซัมไว้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วประเทศไทยมีแหล่งแร่ที่เพียงพอใช้ได้สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ การชะลอการอนุญาตประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ยิปซัมแปลงใหม่ๆ แม้ว่า ภาครัฐจะกำหนดพื้นที่ให้เป็น “เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่” แต่ภาครัฐไม่มีมาตรการกันการรุกคืบของชุมชนเข้าใกล้เขตแหล่งแร่ ในอนาคตการพัฒนาแหล่งแร่ก็จะมีปัญหากับชุมชน จนถึงขั้นไม่อาจพัฒนาแหล่งแร่ได้อีกต่อไป
2. เพื่อเพิ่มผลผลิตแร่ยิปซัมของประเทศ แหล่งแร่ยิปซัมซึ่งล้วนอยู่ในที่ราบหุบเขา หรือเชิงเขา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน รัฐควรผลักดันร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน (ฉบับใหม่) เพื่อให้สามารถนำพื้นที่มาใช้เพื่อการทำเหมืองแร่ยิปซัมได้สำหรับโครงการใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มการผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยมีแหล่งแร่ยิปซัมปริมาณเพียงพอในการลงทุนและวางแผนการผลิตในระยะยาว
3. รัฐควรปรับลดอัตราค่าภาคหลวงแร่ยิปซัมสำหรับการส่งออกให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอัตราที่ใช้ในการเรียกเก็บสำหรับแร่ที่ใช้ภายในประเทศ และหันมาส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมในประเทศที่ใช้แร่ยิปซัมเป็นวัตถุดิบแทน เพื่อให้การใช้แร่เกิดมูลค่าเพิ่มและเกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น
4. รัฐควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการส่งออกแร่แอนไฮไดรต์ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับหลักเกณฑ์ในการส่งออกแร่ยิปซัม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแย่งตลาดและเกิดการตัดราคากันเองของผู้ส่งออกแร่ยิปซัม และแร่แอนไฮไดรต์ของไทย อันจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งยังเป็นการแย่งตลาดแร่ยิปซัมของไทยเองด้วย
p