xs
xsm
sm
md
lg

แย่งงานมนุษย์, ขุมพลังองค์กร, วิจารณญาณ : คุยเรื่อง Generative AI กับผู้เชี่ยวชาญใน 'ANT-DPU'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดสมรภูมิ 'มนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์' เมื่อ Generative AI รุกคืบเข้ามาเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญแทนมนุษย์อย่างปฏิเสธไม่ได้ แล้วเราจะ 'อยู่ร่วมและเพิ่มประสิทธิภาพ' ในการทำงานได้อย่างไรบ้าง โดย “ผศ.กรุณา แย้มพราย” รองคณบดีฝ่ายกิจการศึกษา วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี (College of Creative Design and Entertainment Technology หรือ ANT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และ Account Manager บริษัท D.Gizmo จำกัด หนึ่งในบริษัทผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสื่อดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ และแอปพลิเคชัน

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (Generative AI) จะเข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์ ภายในปี 2023 จากผลวิจัยของ The Economic Potential of Generative AI: The Next Productivity Frontier โดย McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ซึ่งถือว่าเร็วขึ้น 4 ปี จากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่า ในปี 2027 Generative AI จะรุกคืบเข้ามาเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในภาคส่วนของงานอาชีพอื่นๆ อีกมากมาย นอกเหนือไปจากที่ 'แขนกล' หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมที่กลืนกินคนทำงานจริงไปแล้วก่อนหน้านี้

ในโลกโซเชียลมีเดียเองเราก็จะพบว่าเต็มไปด้วยไลฟ์โค้ชต่างๆ ที่พากันตบเท้าเปิดคอร์สสอนการใช้งาน AI ให้คิดและทำงาน และสร้างเม็ดเงินง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว และหาก 'คุณไม่อยากจะเสียตำแหน่งงานไป' เหมือนกว่า 50% ของตำแหน่งงานเก่าๆ ขอเชิญเข้ามาร่วมเป็นผู้ที่รู้กลวิธีการใช้งานกับเรา

นอกจากคำถามที่ว่า ปัญญาประดิษฐ์นั้นฉลาดกว่ามนุษย์? และกำลังจะมาทดแทนการทำงานของมนุษย์ทางด้านต่างๆ จริงหรือไม่? คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะต้องเตรียมตัวและหมั่นเติมทักษะดิจิทัลเพื่อใช้งานปัญญาประดิษฐ์นั้นอย่างไร? “ผศ.กรุณา แย้มพราย” จะพาไปหาคำตอบ


*บทสัมภาษณ์ ผศ.กรุณา โดย ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ในรายการ Health Wave FM 95.5*

สะเทือนงานด้านภาษา-ข้อมูล-นายและนางแบบ

ผศ.กรุณาบอกถึงก้าวย่างที่สำคัญสำหรับปัญญาประดิษฐ์ที่ได้แทรกซึมเข้ามามีบทบาทบ้างแล้วในการทำงานเวลานี้ ได้แก่ สายงานทางด้าน 'ภาษา' หรือ 'ข้อมูล' และ 'รูปภาพ' จากการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจนสามารถเลียนแบบการทำงานของสมองของมนุษย์ พร้อมกับสามารถที่จะวิเคราะห์ข้อมูล และตัดสินใจแบบไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาข้องเกี่ยว ส่งผลให้โลกนั้นเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า 'Generative AI' เป็นที่เรียบร้อย

จากการปรากฏตัวและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องของปัญญาประดิษฐ์ประเภท Generative AI ซึ่งก็คือปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาให้สร้างข้อมูลใหม่ จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model โดยสามารถนำมาใช้งานที่หลากหลาย เช่น การสร้างเนื้อหาใหม่ (Text Generation) การสร้างภาพ (Text to Image) การสร้างเสียงดนตรี (Text to Music) ตัวอย่าง Generative AI อาทิ ChatGPT Microsoft Bing Google Bard Midjourney Canva เป็นต้น สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วในเสี้ยววินาที เช่นทางด้านภาษา ไม่ว่าจะเขียนบทความ บทหนังละคร ออกข้อสอบ แปลภาษา หรือตัดต่อ ออกแบบสร้างกราฟิก เนรมิตรูปภาพ ได้อย่างตามใจนึก เพียงพิมพ์คำสั่งเท่านั้น แม้ผลการทำงานมันอาจจะไม่ 100% ตั้งแต่ Draft แรก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้เรามาทำต่อได้ง่ายขึ้น

“ทำได้เยอะแยะมากพวกฟังก์ชันแบบนี้ที่อยู่ในหลายแอปพลิเคชัน ดังนั้นอาชีพที่ต้องปรับตัวเลย คือ นักโฆษณา นักเขียนเนื้อหา นักวาดภาพประกอบ กราฟิกดีไซเนอร์ คนทำงานด้านภาษาและข้อมูล งานที่ต้องใช้ความครีเอทีฟก็ไม่พ้น เพราะ AI สามารถยำผสมผสานได้ดีมาก นอกจากนี้ก็ยังมีสายงานบริการลูกค้า ที่อาจจะต้องระวังตัว เพราะในสมัยนี้แปลงเสียงเหมือนคนเราแล้ว หรือแม้กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์ นายแบบและนางแบบ ก็อาจจะใช้ตัว AI สร้างขึ้นแทน โดยเฉพาะกรณีที่ใช้ภาพหรือคลิป ไม่ต้องเจอตัวจริง”


เสมือน 'ขุมพลัง' องค์กร

ท่ามกลางความวิตกกังวลอย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ในอีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการนำ 'Generative AI' มาใช้แทบจะทุกๆ ภาคส่วนอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยจากศักยภาพการทำงานที่ทรงประสิทธิภาพและรวดเร็ว “ผศ.กรุณา” ให้คำแนะนำว่า “อย่ากลัวที่จะใช้มัน” เพราะเราเป็นคนที่สร้างมันขึ้นมา ฉะนั้นไม่มีทางที่มันจะฉลาดกว่ามนุษย์ได้เลย

“เขาจึงมีคำว่าเทรน AI ก็คือ ใส่ข้อมูลเข้าไปเหมือนเราสอนเด็กๆ เราอยากให้เขาเรียนรู้เรื่องอะไรก็ใส่ๆ หลังจากนั้นเขาก็จะเรียนรู้ เช่น อะไรคือส้มหรือแอปเปิล และก็จดจำ หลังจากนั้นถึงจะประมวลผลพวกนี้ได้ ฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่า ปล่อยให้ AI พัฒนาไปเรื่อยๆ มันจะเหมือนหนังไซไฟที่ต่อไปมันจะฉลาดกว่าเรา คือแทนที่เราจะสั่งมัน มันกลับสั่งเราแทน แต่ยังไงก็ตามตัว AI ก็ยังต้องอาศัยมนุษย์เป็นคนสั่งการให้ประมวลอยู่ดี

“ขณะที่ในปัจจุบันกระบวนการค้นหาข้อมูลต่างๆ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ตอนเราเป็นเด็กๆ เราเข้าห้องสมุดเพื่อค้นหาข้อมูลความรู้ต่างๆ จากหนังสือเพื่อทำรายงาน โตขึ้นมาอีกหน่อยเราใช้ Search Engine เช่น Google หาข้อมูลแทนห้องสมุด ปัจจุบันนี้ก็มีการเริ่มใช้ AI ค้นหาให้เรา แต่ก็ยังเชื่อไม่ได้ 100% ผู้ใช้งานเทคโนโลยีนี้หรือ Gen AI ควรมีวิจารณญาณและไม่เชื่อคำตอบหรือผลลัพธ์ที่ AI สร้างขึ้นมาให้โดยทันที เพราะบ่อยครั้งคำตอบก็อาจผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงที่เรียกว่า ภาพหลอนของ AI หรือ AI Hallucination”

ผศ.กรุณาระบุต่ออีกว่า ดังนั้นต้องพยายามศึกษาเพื่อที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น ธุรกิจ Healthcare ที่นำเอาประโยชน์ของ AI มาใช้เยอะมาก จนเกิดเป็นระบบในการจัดเก็บ บำรุงรักษา และสำรองข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพที่สามารถเรียกใช้งานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว หรือกระบวนการพัฒนายาต่างๆ วินิจฉัยโรคและอ่านฟิล์ม X-Ray

“ในอดีตที่ดังๆ ตัว Watson ที่เราสามารถเอาข้อมูลต่างๆ ไปสอบถามและเขาก็จะให้ความคิดเห็นเรา ตอนนี้อัปเกรดเป็น Watsonx.ai แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับ Google เมื่อเราไปค้นหรือสอบถาม มันจะบอกแค่เบื้องต้นในค่าต่างๆ แต่ไม่ได้สรุปให้เรา อันนี้ก็จะเป็นความสะดวกสบาย เป็นผู้ช่วยที่จะลดภาระหมอในสิ่งที่มันเยอะๆ เพื่อที่จะเอาเวลาไปตัดสินใจเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่า ซึ่งสถานการณ์ข้างหน้าที่จะขยับขึ้นไม่ต่างจากทางสายนิติศาสตร์ 'กฎหมาย' ที่ทนายความจะสามารถทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น จากการที่จะดึงข้อมูลพวกนี้มาได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเตรียมอีกต่อไป”


'ความจริง' มี 2 สิ่ง

หลังได้รับความเข้าใจแง่มุมต่างๆ และความกระจ่างชัดสำหรับผู้ใช้งานอย่างเรา? นอกจากการปรับตัวเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และใช้ประโยชน์ให้ชีวิตเปี่ยมคุณภาพและความสุข “ผศ.กรุณา” แนะนำว่าสิ่งที่สำคัญคือการมี 'วิจารณญาณ' ในทุกครั้งที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่อยู่มากมาย 'ใฝ่เรียนรู้' และ 'อย่าท้อ' ทำเต็มที่เราสำเร็จได้

“โลกเรากำลังจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีวันไหนที่มันเหมือนเดิม มันก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ก็ต้องพยายามเข้าใจกับสิ่งที่เปลี่ยนไป ปรับตัวให้ได้และก็ใช้ประโยชน์จากมันเราก็จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและก็มีความสุขต่อไป”

“อันดับแรกเราต้องทำการเปรียบเทียบและมีวิจารณญาณ วันนี้ข้อมูลข่าวสารเยอะมากแต่ความจริงมี 2 สิ่ง ความจริงไม่ได้มีสิ่งเดียว ขึ้นอยู่กับว่ามุมมองของใคร เวลาที่ได้รับข้อมูลก็ต้องทำการกรอง อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ทีนี้พอเราไม่เชื่อว่าจริงก็จะเกิดกระบวนการตรวจสอบ เช็กจนเราแน่ใจเรื่องนี้โอเคเชื่อได้จึงค่อยเชื่อ ที่สำคัญถ้ายังไม่รู้ว่าจริงอย่าไปพูดต่อ ไม่อย่างนั้นความเข้าใจผิดมันจะบานปลายไปกันใหญ่ ยกตัวอย่างตอนนี้มีคลิปที่ใช้ AI ทำ ผู้ประกาศก็เป็น AI ทำให้สามารถทำให้ข่าวปลอมดูน่าเชื่อถือขึ้นมาได้”

“นอกจากนี้ถ้าให้แนะนำ พวกเราทุกคนต้องไม่พยายามเป็นน้ำเต็มแก้ว AI มาใหม่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ควรเรียนรู้ และติดตามลองใช้ เรื่องบางเรื่องเราอาจจะรู้ได้ไม่หมด แต่เราเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ได้” ผศ.กรุณาฝากทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น