xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป-ภาพ) จาก“พระแสงดาบ” กอบกู้เอกราชของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ กลายมาเป็น “พระแสงราวเทียน”ส่งมอบคืนสู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พระแสงดาบ” กอบกู้เอกราชของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ที่ถวายเป็น “พระแสงราวเทียน” วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และหายไปหลายสิบปี ล่าสุดได้กลับคืนมาแล้ว จากความพยายามของ อ.ปริญญา สัญญะเดช ตามหาจนเจอและนำมาถวายคืนวัด




วันนี้(26 ธ.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์วิดัโอคลิปพร้อมภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เกี่ยวกับพระแสงดาบศาสตราวุธประจำพระองค์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งได้ถวายให้เป็นพระแสงราวเทียนหน้าพระประธานของอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ก่อนที่จะหายไปหลายสิบปีจนกระทั่งล่าสุดได้กลับคืนมาแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

“พระแสงราวเทียน” ซึ่งเดิมเป็นพระแสงดาบมังกร ศาสตราวุธประจำพระองค์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ถวายพระแสงดาบมังกรนี้กลายสภาพให้มาเป็น “พระแสงราวเทียน”หน้าพระประธานของอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ต่อมา “พระแสงราวเทียน”เล่มนี้ได้สูญหายมาหลายสิบปี


จนกระทั่งวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกเอาไว้อีกครั้ง เมื่อ อ.ปริญญา สัญญะเดช ได้ใช้ความเพียรพยายามตามหาพระแสงราวเทียนจนเจอและได้นำมาถวายคืนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เป็นผลสำเร็จ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว[๑]

ก่อนที่จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงพระนามเดิมว่า “บุญมา” ประสูติ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ได้รับราชการเป็นมหาดเล็กตำแหน่ง “นายสุดจินดา” มหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้เสียแก่ข้าศึกบ้านเมืองสับสนเป็นจลาจลอย่างยิ่ง นายสุดจินดา (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ได้ลงเรือหนีมาหาพระเชษฐา ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) อยู่ที่เมืองราชบุรี[๒]

เมื่อนายสุดจินดา (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ลงเรือเล็กมาถึงบริเวณวัดสลัก (ต่อมามีการปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารในปัจจุบัน) ปรากฏว่าพม่าได้นำกองทัพข้ามเรือมาจากวัดมะกอก (ปัจจุบันเป็นบริเวณวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร) จึงได้ทรงคว่ำเรือและอยู่ใต้เรือที่คว่ำนั้น เพื่อหลบข้าศึกจากพม่าและทรงตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์หลวงพ่อหิน ซึ่งเป็นพระประธานของวัดสลักว่าหากสามารถรอดชีวิตไปได้ และสามารถกอบกู้เอกราชสำเร็จจะกลับมาบูรณะปฏิสังขรณ์ที่วัดแห่งนี้


ปรากฏว่าทรงสามารถรอดพ้นจากศัตรูได้ไปพบพระเชษฐา (นายทองด้วง หรือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ทรงหารือกับพระเชษฐาที่อัมพวา จึงได้ทรงชวนให้เสด็จไปหลบภัยที่ชลบุรีด้วยกัน แต่พระเชษฐายังไม่พร้อมเสด็จ แต่ได้ทรงพระราชทานเรือใหญ่พร้อมเสบียงอาหาร ทรงพระราชดำริให้ไปฝากตัวทำราชการกับพระยาตากสิน และทรงแนะนำให้เสด็จไปรับท่านเอี้ยงพระชนนีของพระยาตากสินซึ่งอพยพไปอยู่ที่บ้านแหลมให้เสด็จไปพร้อมกันเพื่อพบพระยาตากสิน พร้อมทั้งทรงฝากดาบคร่ำ และแหวน ๒ วง ไปถวายเป็นของกำนัลอีกด้วย

ซึ่งในขณะนั้นสมเด็จพระยาตากสินกำลังทรงรวมพลอยู่ เป็นโอกาสให้นายสุจินดา (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ได้ถวายตัวเข้ารับราชการมาตั้งแต่นั้น ซึ่งนายสุจินดาได้มีความชอบในการศึกอย่างต่อเนื่อง


เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก ทรงให้ทหารรักษาการอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นและที่ธนบุรี โดยช่วงนั้นบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย แยกเป็นชุมนุมเป็นก๊กเหล่าถึง ๖ ชุมนุม พระยาตากสินเป็นชุมนุมหนึ่งที่สามารถรวบรวมไพล่พลตั้งอยู่ที่จันทบุรี เข้าตีข้าศึกที่รักษากรุงศรีอยุธยาแตกไป แล้วจึงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในขณะนั้นทรงมีอายุได้ ๒๔ พรรษา ได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์เป็น “พระมหามนตรี” เจ้ากรมพระตำรวจในขวา[๒]

“พระแสงดาบ” ที่เป็นศาตราวุธคู่พระวรกายของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท นั้นมีชื่อว่าเป็น ”พระแสงดาบมังกร“ เป็นดาบญี่ปุ่นที่ผลิตในสมัยเอโดะซึ่งนิยมในยุคนั้น[๑]

โดยพระแสงดาบใช้ในการสู้รบเชื่อว่าน่าจะผ่านศึกสงครามอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี ระหว่างทรงมีพระชนมายุ ๒๔ ถึง ๕๙ พรรษา นอกจากทรงได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกอบกู้เอกราชแล้ว ยังทรงช่วยรวบรวมและขยายราชอาณาจักรไปไกลมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยได้เสด็จไปการพระราชสงครามท้้งทางบกและทางเรือ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถึง ๑๖ ครั้ง และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอีก ๘ ครั้ง

โดยในการศึกในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงได้ใช้พระแสงดาบมังกรในการต่อสู้รบอย่างต่อเนื่องในศึกสงคราม ๑๖ ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๔ รวมระยะเวลา ๑๕ ปี

โดยในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ทรงตีค่ายโพธิ์สามต้นของข้าศึกสำเร็จ


พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงตีค่ายพม่าที่บางกุ้ง และที่สมุทรสงคราม สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทในขณะนั้นทรงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหามนตรี และเสด็จไปรับพระเชษฐาธิราชจากอำเภออัมพวา เข้ามารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยพระเชษฐาธิราชทรงรับสถาปนาเป็นพระราชวรินทร์

พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพิษณุโลก และยกไปปราบชุมนุมเจ้าพิมายที่นครราชสีมาพระมหามนตรี (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) และพระราชวรินทร์ได้ร่วมการสงครามที่ด่านขุนทด มีชัยชนะในเวลา ๓ วัน ความชอบในการสงครามครั้งนี้ พระราชวรินทร์ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ ส่วนพระมหามนตรี(สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) เป็น “พระยาอนุชิตราชา” จางวางตำรวจ

พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระยาอนุชิตราชา (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ยกทัพไปปราบกรุงกัมพูชา ตีได้เมืองเสียมราฐ

พ.ศ. ๒๓๑๓ พระยาอนุชิตราชา (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น พระยายมราช ได้ยกทัพไปร่วมกับทัพหลวงปราบชุมนุมเจ้าพรฝาง ตีได้เมืองสวางคบุรี และได้หัวเมืองเหนือไว้ในพระราชอำนาจทั้งหมด เมื่อเสร็จราชการศึกครั้งนี้ ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช” สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก เป็นผู้ปกป้องพระราชอาณาจักรฝ่ายเหนือ และได้ยกทัพไปตีทัพโปมยุง่วนที่มาล้อมเมืองสวรรคโลก

พ.ศ. ๒๓๑๕ เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ได้ยกทัพไปปราบพม่าที่ยกมาตีเมืองลับแล หรืออุตรดิตถ์ และเมืองพิชัยจนแตกพ่ายไป


พ.ศ. ๒๓๑๖ เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) และพระยาพิชัย ได้ยกทัพไปรบถึงประจัญบาน กับทัพโปสุพลาที่เมืองพิชัย จนข้าศึกแตกพ่าย ครั้งนี้เองที่พระยาพิชัยได้รับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"

พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งขณะนั้นเป็น เจ้าพระยาจักรี กับเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ยกทัพหัวเมืองเหนือไปตีเมืองเชียงใหม่จนมีชัยชนะ และเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ได้คุมทัพเหนือไปล้อมทัพพม่าที่เขาชะงุ้ม ตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม และปากแพรกแตกจนพม่ายอมแพ้

พ.ศ. ๒๓๑๘ เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) และเจ้าพระยาจักรี ได้รับพระราชบัญชาให้ยกทัพจากพิษณุโลกไปขับไล่โปสุพลา ที่ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ และต่อมาอะแซหวุ่นกี้ ยกมาล้อมเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาทั้งสองจึงนำไพล่พลออกจากพิษณุโลกไปตั้งมั่นที่เมืองเพชรบูรณ์ ต่อมาพม่าถอนกำลัง จึงได้คุมกำลังเมืองนครราชสีมาติดตามตีทัพที่กำลังถอยแตกกลับไป

พ.ศ. ๒๓๒๐ได้ยกทัพจากกรุงธนบุรีไปสมทบทัพเจ้าพระยาจักรีที่นครราชสีมา ตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอัตบือ สุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ ไว้ได้ จากความชอบในการพระราชสงครามครั้งนี้ เจ้าพระยาจักรีได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก"

พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) เกณฑ์ทัพเรือจากกัมพูชา ไปล้อมเมืองเวียงจันทน์ ๔ เดือนจึงตีได้ และตีหัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นลาวจนจดตังเกี๋ยของญวนไว้ได้ด้วย และในครั้งนั้น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร กลับคืนมาจากเวียงจันทน์ มาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีด้วย


พ.ศ. ๒๓๒๔ เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) เป็นแม่ทัพหน้าร่วมกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีกัมพูชา แต่ต้องเสด็จกลับกรุงธนบุรี เนื่องจากบ้านเมืองเกิดจลาจล เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เสด็จปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์และสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี แล้วโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จเถลิงพระราชมนเทียรที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[๓]

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงร่วมการพระราชสงคราม ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๓๔๕ รวม ๘ ครั้งตลอดระยะเวลาอีก ๒๐ ปี คือ

พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามเก้าทัพ รบกับทัพพระเจ้าปดุง ที่ยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แม้มีไพร่พลน้อยกว่าข้าศึก แต่ทรงทำกลอุบายลวงข้าศึก จนสามารถมีชัยชนะ ในปีนั้นยังได้เสด็จนำทัพเรือไปตีพม่าที่ไชยา และเสด็จไปปราบปัตตานีที่เอาใจออกห่าง และตีเมืองกลันตัน ตรังกานู เป็นเมืองขึ้นของสยามด้วย

พ.ศ. ๒๓๒๙ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จนำทัพไปรบกับพระเจ้าปดุง ที่เข้ามายึดตำบลท่าดินแดงและสามสบ ได้ตีทัพพม่าแตก

พ.ศ. ๒๓๓๐ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองลำปางคืน และตีทัพพม่าที่ป่าซางแตก เสร็จการสงครามนี้ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ มาประดิษฐาน ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ที่กรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๓๓๖ เสด็จไปตีเมืองทวายสำเร็จ

พ.ศ. ๒๓๔๐ เสด็จยกทัพไปป้องกันเมืองเชียงใหม่ ตีพม่าที่ลำพูน และเชียงใหม่แตก

พ.ศ. ๒๓๔๕ ได้เสด็จไปขับไล่กองทัพข้าศึกออกจากเชียงใหม่ แต่เมื่อเสด็จไปถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรโรคนิ่ว ต้องประทับรักษาพระองค์โดยมีกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (ทองอิน) ทรงพยาบาลพระอาการอยู่


ต่อมาเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อทรงพยาบาลสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

รวมระยะเวลาการทำศึกสงครามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๔๕ รวมระยะเวลายาวนานถึง ๓๕ ปี และการที่ทรงทำศึกสงครามแม้ในวัย ๕๙ พรรษา จึงต้องถือว่าทรงทำศึกสงครามแม้ในยามที่มีพระชนมายุมากแล้วในสมัยนั้น

นอกจากจะทรงอุทิศพระองค์เสด็จไปในการศึกสงครามกอบกู้เอกราช และป้องกันพระราชอาณาจักรตลอดพระชนมชีพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยังทรงเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่บ้านเมือง ทรงอุปถัมภ์บำรุงการพระศาสนา ศิลปวรรณกรรม และสถาปัตยกรรม

ทรงโปรดให้สร้าง พระราชวังบวร (ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยช่างศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์)

ทรงสร้างกำแพงพระนครตั้งแต่ประตูวัดสังเวชวิศยารามจนถึงวัดบวรนิเวศ และทรงสร้างป้อมอิสินธร ป้อมพระอาทิตย์ ป้อมพระจันทร์ ป้อมยุคนธร (ซึ่งรื้อลงแล้ว) คงเหลือแต่ป้อมพระสุเมรุ

และทรงสร้างประตูยอดของบรมมหาราชวัง คือ ประตูสวัสดิโสภา ประตูมณีนพรัตน์ ประตูอุดมสุดารักษ์ และทรงสร้างโรงเรือที่ฟากตะวันตก ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เดิมวัดนี้ชื่อวัดสลัก ต่อมาเป็นวัดนิพพานาราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ก่อนที่จะมาเป็นวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารในปัจจุบัน


นอกจากนั้นทรงสถาปนาวัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) วัดโบสถ์ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร(วัดสมอแครง) วัดราชผาติการาม(วัดส้มเกลี้ยง) วัดปทุมคงคา ราชวรวิหาร(วัดสำเพ็ง) วัดครุฑ วัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร นอกจากนั้นทรงสร้างหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงสร้างวิหารคต วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นต้น

ในช่วงท้ายของพระชนมายุนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทมีพระอาการประชวรกำเริบในโรคนิ่ว ทำให้เกิดความทุกข์ทางกายมาก จึงทรงคิดจะนำพระแสงดาบคู่พระวรกายที่กรำศึกตลอดพระชนมชีพแทงพระองค์เองเพื่อให้สวรรคต แต่ข้าราชบริพารก็ได้ยับยั้งห้ามปรามไว้

แต่ในช่วงท้ายของพระชนมชีพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงได้ตัดสินพระทัย ถวายพระแสงดาบประจำพระวรกายก่อนลาสวรรคต ให้เป็น “ราวเทียน” เพื่อถวายให้เป็นพุทธบูชาหน้าองค์พระประธานคือ หลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ แห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร จึงเรียกว่า “พระแสงราวเทียน”

จึงเป็นพระแสงดาบเล่มเดียวในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผ่านการกอบกู้เอกราชที่ได้นำมาเป็นพระแสงราวเทียนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ด้วยเพราะความผูกพันศรัทธายาวนาน ที่ทรงมีต่อวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เพราะเคยเป็นจุดหลบภัย และเคยอธิษฐานจิตว่าจะทรงกอบกู้เอกราช ทรงสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงบรรพชาที่วัดนี้

ทำให้ในคราวประชวรหนักช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จพระราชดำเนินจากวังหน้ามากราบลาสักการะพระประธานในพระอุโบสถใหญ่ น้อมถวายพระแสงทำเป็นราวเทียนเพื่อเป็นพุทธบูชา

โดยเมื่อจะทำให้เป็นราวเทียนบูชา ก็ได้ลบปลาย ลบคม และถอดด้ามออก ตกแต่งเป็นเศียรและหางนาคตามพระราชนิยม ซึ่งมีข้อสังเกตสำคัญคือการที่ทรงตัดสินพระทัยจะถวายเป็นพุทธบูชา ย่อมหมายถึงทรงมีพระราชประสงค์จะตัดขาดจากการสู้รบฆ่าฟันที่ต้องทรงกระทำมาตลอดพระชนม์ชีพ ดาบจึงถูกทำให้หมดคมสิ้นสภาพความเป็นอาวุธ เปลี่ยนเป็นราวเทียนให้แสงแห่งปัญญาถวายเป็นพุทธบูชาสืบไป[๑]


อีกประการหนึ่งย่อมเป็นการอุทิศส่วนกุศลเพื่อให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตด้วยพระแสงดาบเล่มนี้ หรือด้วยการบัญชาทัพของพระองค์ ด้วยเพราะทรงเป็นด่านหน้าในการกอบกู้เอกราชรักษาบ้านเมืองตลอดพระชนมชีพ

โดยหลังจากถวายพระแสงราวเทียนได้ไม่นาน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ได้เสด็จสวรรคตในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๓๔๖

ดังนั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร จึงทรงยืนอยู่ในท่า “ถวายพระแสงดาบ”

โดยถ้านับเวลาในฐานะเป็น “พระแสงดาบมังกร” ที่ทรงเริ่มใช้ทำศึกสงครามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ก็ย่อมมีอายุจนถึงปัจจุบันไม่ต่ำกว่า ๒๕๖ ปี

และถ้านับเป็นการเปลี่ยนสภาพเพื่อเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาในฐานะเป็น “พระแสงราวเทียน” ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๔๖ พระแสงราวเทียนนี้ย่อมมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๒๐ ปี

ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบว่าพระแสงราวเทียนของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เคยหายไปจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหารตั้งแต่เมื่อไหร่ในปีไหน แต่คาดว่าน่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า ๖๐ - ๘๐ ปี

ต้องขอแสดงความคารวะต่อ อ.ปริญญา สัญญะเดช ที่ได้เสียสละเวลาและความเพียรพยายามมา ๓๐ ปีในการตามหาพระแสงราวเทียนมานี้ แต่ต้องเสียสละเงินทองในการให้ได้มาซึ่งพระแสงราวเทียนเพื่อถวายคืนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

ทำให้ได้ทราบว่าความสำเร็จในการส่งมอบคืนพระแสงราวเทียนของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในครั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนด้วยจิตใจที่กล้าหาญ และเสียสละจากครอบครัว ที่มีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวแม้จะถูกทดสอบจิตใจด้วยคุณค่าของพระแสงราวเทียนประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ที่มิอาจประเมินค่าได้ เพื่อส่งมอบคืนกลับให้กับเป็นสมบัติของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ตามพระเจตนารมณ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สืบไป

และที่น่ายินดีไปกว่านั้นคือการได้พระแสงราวเทียนประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ได้ส่งมอบคืนตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ คือก่อน ๒ วัน ที่จะเริ่มสมโภชครบ ๓๓๘ ปี ของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ที่จะเริ่มจัดงานตั้งแต่วันที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ - ๒ มกราคม ๒๕๖๗

จึงขอเชิญชวนร่วมงานสมโภชพระอาราม ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ - ๒ มกราคม ๒๕๖๗ มีกิจกรรมทำบุญ ปฏิบัติธรรม และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

โดยจะเริ่มพิธีสำคัญในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ ในเวลา ๐๖.๓๐ - ๐๘.๓๐ น. ณ บริเวณพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท จะมีพิธีบวงสรวงพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิหนาท


จึงขอเชิญสื่อมวลชนและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมพิธีและกิจกรรมในช่วงเวลาและวันเวลาดังกล่าวมา ณ โอกาสนี้

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบุญด้วยปัจจัย ๓๓๙ บาท จะได้รับพระสมเด็จอรหัง ๑ องค์ ซึ่งเป็นพระสำคัญสุดยอดความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยสมเด็จพระสังฆราชสุก (สุกไก่ เถื่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๑ เป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อกว่าร้อยปีก่อน

สำหรับผู้ที่สนใจเป็นที่ระลึกเพื่อการบูชา (จัดส่งถึงบ้าน) ทุกบาทมีค่า เป็นมหากุศล ร่วมบุญได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมโภชพระอาราม เลขที่บัญชี ๙๐๕-๐-๒๒๗๕๐-๔ ปลุกเสกโดยพระเถระชั้นผู้ใหญ่และพระสงฆ์แก่พรรษากว่า ๖๘ รูป เข้มขลังและเปี่ยมศรัทธา และมีจำนวนเพียง ๖๐,๐๐๐ องค์เท่านั้น (ไปรษณีย์ไทยจัดส่งถึงบ้าน) หรือ ร่วมบุญตามศรัทธา เพื่อนำรายได้จากการถวายปัจจัยเพื่อบูรณปฎิสังขรณ์วัดและพระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระปฐมบรมราชชนก คือพระราชบิดาของรัชกาลที่ ๑ และพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทฯ หรือวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ ผู้ทรงสถาปนาวัด

สอบถามเพิ่มเติม : โทร. ๐๖๓-๒๑๓-๕๐๘๓, ๐๖๓-๒๑๓-๓๙๖๐และส่งหลักฐานการโอนเงินและที่อยู่จัดส่งพระได้ที่ : Line ID : @watmahathatu338

ขอโมทนาสาธุการ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖
https://fb.watch/paAahRKD16/


อ้างอิง

[๑] ผู้จัดการออนไลน์, ถวายคืนสมบัติสุดล้ำค่า “พระแสงราวเทียน“ กรมพระราชวังบวรฯ กลับคืน “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ก่อนจัดงานใหญ่สมโภช 338 ปี, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖
https://mgronline.com/travel/detail/9660000115585

[๒] กรมศิลปากร, น้อมรำลึก วังหน้า มหาสุรสิงหนาท, ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม
https://digital.library.tu.ac.th/.../Downl.../dowload/186467

[๓] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย, พระราชพงศาวดารกรุงรัตโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑. ๑๗๔ หน้า. ISBN 974-7936-18-6 เผยแพร่เว็บไซต์วัชรญาณ บทที่ ๓ ประดิษฐานพระราชวงศ์
https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑/๓-ประดิษฐานพระราชวงศ์


กำลังโหลดความคิดเห็น