xs
xsm
sm
md
lg

ความร่วมมือสื่อไทย-จีน ในมุมมองของ ผศ.ชาติณรงค์ วิสุตกุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันความร่วมมือทวิภาคีทางด้านสื่อสารมวลชนระหว่างประเทศที่มีความเป็นกลางและสมดุล โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้ยังไม่แสวงหาผลกำไรยังมีไม่มากนัก และที่มีความร่วมมือคล้ายกันก็ยังถือว่ามีน้อยมาก


ในมุมมองของ ผศ.ชาติณรงค์ วิสุตกุล อาจารย์ประจำจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ซึ่งเคยมีประสบการณ์การทำงานทั้งที่ประเทศไทยและประเทศจีน ได้ให้วิสัยทัศน์เกี่ยวกับความร่วมมือสื่อไทย-จีน ในอนาคตว่า ควรที่จะมีภารกิจ “เชื่อมโยงข่าวสาร ส่งเสริมความรู้ และพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน” ซึ่งขยายความได้ดังนี้

เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อให้คนจีนรู้จักคนไทย และคนไทยรู้จักคนจีน ในลักษณะของความเป็นเอเชียด้วยกัน มีความใกล้ชิดและมิตรภาพที่ดีต่อกัน มีศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่สอดคล้องและใกล้เคียงกัน ผ่านช่องทางการสื่อสารทั้งสื่อโซเชียลออนไลน์และสื่อหลัก โดยเฉพาะกับกลุ่มคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก การเชื่อมโยงต้องเข้าให้ถึงคนกลุ่มนี้ด้วยแพลตฟอร์มที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้

ส่งเสริมนวัตกรรมและความรู้ใหม่ๆ หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคมและมีคุณค่า (Soft Power) เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และพัฒนาให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นตามมา โดยการให้ทุนสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ศึกษาวิจัย สัมมนาระดมสมอง ผลิตสื่อเผยแพร่ การจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมมวยไทยกับวูซู, การแลกเปลี่ยนเรื่องอาหาร, การแลกเปลี่ยนด้านวรรณกรรม, การผลิตสื่อเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะด้าน การผลิตภาพยนตร์หรือซีรีส์ ฯลฯ

พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนและภูมิภาคอาเซียนให้ยั่งยืน สื่อต้องทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างสื่อไทยกับจีนควรมีมากขึ้นและหลากหลายรูปแบบเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนทุกช่วงวัย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน นักศึกษา หรือสายอาชีพอื่นๆ เป็นต้น


ผศ.ชาติณรงค์ วิสุตกุล ได้นำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจ ที่ควรต่อยอดศึกษาร่วมกันออกมาเป็นภารกิจและผลผลิตของความร่วมมือได้ เช่น

1. ข้อมูลทางสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย-จีน
จีนกับไทยมีต้นทุนดั้งเดิมในเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แต่ยังขาดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องการศึกษา การทำงาน หากมีความร่วมมือกันระหว่างสื่อไทย-จีน อาจจะช่วยรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเผยแพร่ นำสิ่งเหล่านี้มาต่อยอดและทำให้น่าสนใจมากขึ้น

2. ภารกิจศึกษาวิจัยในเรื่องสมดุลข่าวสารระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสื่อไทยมักจะนำเสนอข่าวต่างประเทศจากฝั่งตะวันตกมากกว่าฝั่งตะวันออก อาจจะด้วยข้อจำกัดทางภาษา นอกจากนี้ การติดตามรับชมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ การ์ตูนจากสหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ยังมีมากกว่าฝั่งจีน ดังนั้น หากมีความร่วมมือกันระหว่างสื่อไทย-จีน อาจจะช่วยทำให้การศึกษาวิจัยเห็นภาพตามความจริงมากยิ่งขึ้น

3. ศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับจีน-ไทย ที่น่าสนใจ โดยหัวข้อที่น่าสนใจและส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันมีมากมาย เช่น 1. การท่องเที่ยว 2. เศรษฐกิจ 3. สังคม การศึกษา และศาสตร์ความรู้ 4. ศิลปวัฒนธรรม และบันเทิง 5. เทคโนโลยี นวัตกรรม ไอที 6. การเกษตรและอาหาร ดังนั้น หากมีความร่วมมือกันระหว่างสื่อไทย-จีน อาจจะช่วยแนะนำการผลิตเนื้อหาที่เจาะลึก สร้างเรื่องราวเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีน ในหัวข้อข้างต้นได้

4. การพัฒนารูปแบบรายการที่เกี่ยวกับสองประเทศ หากมีความร่วมมือกันระหว่างสื่อไทย-จีน อาจจะมีความร่วมมือกันในการพัฒนารูปแบบการสื่อสารในสื่อของทั้ง 2 ฝ่าย เน้นเนื้อหาความหลากหลายมากขึ้น เน้นความสมดุลของข่าวสาร และการแลกเปลี่ยนกันอย่างเท่าเทียม โดยศึกษาวิจัยสำรวจความต้องการของผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวจีนว่าต้องการรูปแบบรายการและเนื้อหาอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น