สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยพรุ่งนี้แล้วกับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ใครยังนึกไม่ออกว่าจะไปที่ไหน ก็มาท่องเที่ยวดูดาวกับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ตามลิสต์นี้ได้เลย
วันนี้ (13 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ได้โพสต์ระบุว่า “NARIT ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และเครือข่ายพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย (Amazing Dark Sky in Thailand) กว่า 30 แห่งทั่วประเทศ จัดงานท่องเที่ยวดูดาวชม "ฝนดาวตกเจมินิดส์" หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ คืน 14-รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 เริ่มสังเกตได้เวลาประมาณ 20.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า คาดมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดช่วงหลังเที่ยงคืน ประมาณ 120-150 ดวงต่อชั่วโมง ผู้สนใจสามารถติดตามชมฝนดาวเจมินิดส์ได้ด้วยตาเปล่า ในพื้นที่โล่ง มืดสนิท และปราศจากแสงสว่างรบกวน
ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 4-20 ธันวาคมของทุกปี มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม สามารถรอชมปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มดาวคนคู่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 20.00 น.เป็นต้นไป ฝนดาวตกจะปรากฏให้เห็นเป็นลำแสงวาบพาดผ่านทั่วท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ดูได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท ซึ่งปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง
สถานที่ดูดาวทั้ง 30 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย นับเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการสังเกตการณ์ฝนดาวตก เนื่องจากมีความพร้อมในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เช่น มีพื้นที่โล่งที่ไม่มีต้นไม้หรือวัตถุบดบังบริเวณขอบฟ้า มีการบริหารจัดการแสงสว่างที่ดี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะต่อการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ
ค้นหาจุดสังเกตการณ์ชมฝนดาวตกเจมินิดส์ทั้ง 30 แห่ง ได้ที่ https://darksky.narit.or.th/darkskyreserve/thailand/
ทั้งนี้ ฝนดาวตก (Meteor showers) เกิดจากการที่โลกโคจรตัดผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ในอวกาศ ที่เป็นเศษที่หลงเหลือจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย หรือเศษวัตถุที่ปล่อยออกมาจากดาวหาง โดยแรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษวัตถุเหล่านี้เข้ามา ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ ในช่วงเวลานี้จึงเกิดดาวตกบนท้องฟ้าในอัตราที่สูงกว่าปกติ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball ซึ่ง ฝนดาวตก จะแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือฝนดาวตกจะมีทิศทางเหมือนมาจากจุดจุดหนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ