นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ เผยเคสคนไข้ผู้ป่วยชายแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ปั่นจักรยานล้ม มีแผลเลือดออกที่หัวเข่าและข้อศอกด้านซ้าย สุดท้ายพบอาการไตอักเสบเฉียบพลัน สาเหตุจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส
วันนี้ (27 พ.ย.) เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์” หรือ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์เผยข้อมูลโดยระบุข้อความว่า “ผู้ป่วยชายอายุ 47 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ปั่นจักรยานล้ม มีแผลเลือดออกที่หัวเข่าและข้อศอกด้านซ้าย ต่อมาแผลมีการติดเชื้อ หลังได้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินแผลติดเชื้อดีขึ้น
วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เจาะเลือด ค่าไต creatinine Cr 0.78 การทำงานของไตปกติ 100% วันที่ 16 พฤศจิกายน มีอาการปวดศีรษะ ขาบวม อาเจียน ปัสสาวะออกน้อย น้ำหนักเพิ่มขึ้น 4 กิโลกรัม ความดันโลหิตสูง 190/105 แผลที่ข้อศอกและหัวเข่าข้างซ้ายดีขึ้นตกสะเก็ดแล้ว (ดูรูป) ทำอัลตราซาวนด์ไตขนาดปกติ ตรวจปัสสาวะมีโปรตีน 3+ เลือด 2+ เม็ดเลือดแดง 20-30 cells/HPF เจาะเลือด BUN 62, Cr 2.38 การทำงานของไตลดลงเหลือ 33%, Uric acid 13.6 สูง
Anti-DNase B 2,560 (ค่าปกติ 0-200) ASO 122.6 (ค่าปกติ <200) ผลเลือด Anti-DNase B ให้ผลบวก และ ASO ให้ผลลบ บ่งชี้มีการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสที่ผิวหนังไม่ใช่ลำคอ C3 0.47 (ค่าปกติ 0.9-1.8) C3 ต่ำบ่งชี้มีการกระตุ้นระบบคอมพลีเมนต์ (complement system) ภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นต่อเชื้อสเตรปโตคอคคัสไปมีปฏิกิริยาต่อไต ทำให้ไตเกิดการอักเสบ
สรุป: ผู้ป่วยเป็นโรคไตอักเสบเฉียบพลัน สาเหตุจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Acute post streptococcal glomerulonephritis) ที่ผิวหนังบริเวณข้อศอกและหัวเข่า การติดเชื้อที่ผิวหนังเกิดขึ้นก่อนไตอักเสบประมาณ 3 สัปดาห์ 10 วันต่อมาหลังจากไตอักเสบ วันที่ 26 พฤศจิกายน ผู้ป่วยดีขึ้นมาก ไม่ปวดหัว ความดันดีขึ้นหลังได้ยาลดความดัน ปัสสาวะออกดีขึ้น บวมยุบลง เจาะเลือดค่าไตดีขึ้น BUN 23, Cr 1.23 การทำงานของไตเพิ่มขึ้นเป็น 73% Uric acid ลดลงเหลือ 9.8
โรคไตอักเสบเฉียบพลันหลังการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสส่วนใหญ่จะหายเองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ ไตอักเสบเฉียบพลันหลังการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสส่วนใหญ่พบในเด็กเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ group A beta hemolytic streptococcus ชนิดที่เป็น nephritogenic strain ในลำคอและผิวหนัง โรคนี้พบน้อยมากในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี พบน้อยกว่า 1 ในแสน”