กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยทีมสัตวแพทย์ฯ ปรับแนวทางดูแลลูกช้างป่าพลัดหลง "พลายเดือน" ที่ทับลาน เตรียมใส่เฝือกรักษาอาการบาดเจ็บที่ขาแทนการผ่าตัด
กรณีลูกช้างป่าอายุ 1 เดือนพลัดหลงได้รับบาดเจ็บในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินลูกช้างผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกตามวิธีที่เหมาะสม
วันนี้ (15 พ.ย.) เพจ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช“ โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า ”นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ ที่หารือร่วมกับทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาช้าง ได้ข้อสรุปจากการประเมินจากการดูแลลูกช้างป่าบาดเจ็บ พบว่าลูกช้างยังคงมีอาการปวดขาหลัง จากการปรึกษาอาจารย์ด้านกระดูกและสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช้างหลายท่าน มีความคิดเห็นว่า ควรเปลี่ยนจากการผ่าตัดเป็นการใส่เฝือก เนื่องจากวิธีผ่าตัดที่น่าจะได้ผลในกรณีนี้คือ การใส่อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกภายนอก (ilizarov)
แต่ทั้งนี้ต้องรอสั่งทำอุปกรณ์พิเศษ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีขนาดที่เหมาะสมกับลูกช้าง ซึ่งน่าจะกินเวลา 5-7 วัน และอาจจะช้าไปสำหรับช้างตัวนี้ ประกอบกับสภาพตัวลูกช้างป่า ค่อนข้างไม่พร้อมต่อการเคลื่อนย้ายรวมถึงไม่พร้อมต่อการผ่าตัดใหญ่ ถึงแม้ว่าการใส่เฝือกจะไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมที่สุดแต่วิธีนี้ใช้เวลาในการเตรียมการระยะสั้น สามารถปฏิบัติการได้ในวันศุกร์นี้ ณ จุดเลี้ยงและดูแลลูกช้างป่า โดยไม่ต้องขนย้ายตัวลูกช้าง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตัวลูกช้างป่าในปัจจุบันมากที่สุด
ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ จังหวัดลำปาง และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยทีมสัตวแพทย์จะเดินทางเข้าประเมินสภาพลูกช้างป่าในวันพฤหัสบดีที่ 16 พ.ย. 66 และวางแผนใส่เฝือกวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. 66 นี้
ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังเฝ้าติดตามดูแลอาการของลูกช้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยุงอาการปวดขา ทีมสัตวแพทย์จึงใช้วิธีการพันขาหลังข้างขวา และขาหลังข้างซ้าย เพื่อทำการซัปพอร์ตน้ำหนัก และกระดูกที่แตกหัก ใช้อุปกรณ์พยุงตัว สำหรับลดการปวด และอักเสบ โดยอุปกรณ์พยุงตัวจะช่วยยกขาหลังทั้งสองข้างให้ทิ้งน้ำหนักลงดินน้อยที่สุด นอกจากนี้ให้ยารักษา แคลเซียม วิตามินซี และผงโปรไบโอติก และยังได้ทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อลดปวด ลดอักเสบ ควบคู่กับการรักษาทางยา โดยจะทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตามโปรแกรมการรักษาด้วย
คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ