xs
xsm
sm
md
lg

เหตุใดประเทศส่วนใหญ่จึงเดินสวนทางกับ WHO ในเรื่องการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในปัจจุบันมีการคาดการณ์ไว้ว่ามีผู้สูบบุหรี่กว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งตัวเลขแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างนั้น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็ได้ให้กำเนิดสนธิสัญญาด้านสาธารณสุขระดับโลกอย่างกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ หรือ Framework Convention on Tobacco Control (FCTC) ขึ้นมา เพื่อมุ่งจัดการปัญหาว่าด้วย ‘การสูบบุหรี่’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านสุขภาพเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของโลก

แต่ใครเล่าจะรู้ว่า แท้จริงแล้วการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ขององค์การอนามัยโลกเกิดขึ้นโดยเพิกเฉยต่อหลักฐานในโลกแห่งความเป็นจริงหลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของหลักการ “ลดอันตราย” ซึ่งการปิดกั้นผู้สูบบุหรี่จากทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณสุขโดยรวมอย่างยิ่ง


ในประเทศที่นำหลักการลดอันตรายมาปรับใช้เพื่อช่วยในการลดอัตราการสูบบุหรี่ เช่น นิวซีแลนด์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร ต่างก็พบผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจในการจัดการกับอัตราผู้สูบบุหรี่ภายในประเทศ กรณีของประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำที่สุดในยุโรป โดยมีประชากรผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ทุกวันต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ นำโดยผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบไร้ควันที่บริโภคผ่านช่องปาก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างยิ่งกว่าทศวรรษในสวีเดน

ขณะที่สหราชอาณาจักร ซึ่งจัดว่าเป็นประเทศที่มีการนำนวัตกรรมมาปรับใช้และสนับสนุนแนวทางการลดอันตราย ได้ประกาศโครงการ “เปลี่ยนเพื่อหยุด (Swap to Stop)” เพื่อมอบบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ผู้สูบบุหรี่ที่พยายามเลิกบุหรี่ โดยมีผู้สูบบุหรี่ในประเทศกว่าล้านรายที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้าชุดเริ่มต้นพร้อมด้วยการเข้ารับคำแนะนำในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งความพยายามของสหราชอาณาจักรทั้งหมดนี้นำมาซึ่งอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลงถึงร้อยละ 4 จากปี 2014 ถึงปี 2020 โดยปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ต่ำกว่าร้อยละ 13 ไปแล้ว ซึ่งนับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในสหภาพยุโรปที่ไม่ได้นำหลักการลดอันตรายมาปรับใช้นั้นมีอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลงเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น


สำหรับประเทศในฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดให้ความร้อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายนั้น พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 20 ในปี 2014 เหลือเพียงร้อยละ 13.1 ในปี 2019 ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 7 เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่มีกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับยาสูบที่เข้มงวดอย่างออสเตรเลีย ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 14.5 ในปี 2014 และลดลงเหลือร้อยละ 14.7 ในปี 2019 ซึ่งลดลงเพียงร้อยละ 0.2 นั้น นับได้ว่าเป็นหนังคนละม้วนเลยทีเดียว

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็หันมาเปิดใจให้กับ ‘หลักการลดอันตราย’ และ ‘ทางเลือก’ ใหม่ๆ ที่มีหลักฐานสนับสนุนมากมาย จึงเป็นที่น่าจับตาดูท่าทีของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกครั้งที่ 10 (COP10) ว่าจะเลือกหันหัวเรือไปในทิศทางใด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้สูบบุหรี่กว่า 9.9 ล้านราย รวมถึงผู้คนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง เพราะอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทยก็ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 17.4 และไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เปิด “ทางเลือก” ให้กับบรรดาสิงห์อมควัน




กำลังโหลดความคิดเห็น