1.ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 21 อดีตแกนนำ-แนวร่วม พธม.ชุมนุมหน้ารัฐสภา ชี้ชุมนุมโดยสงบ เหตุวุ่นวายเกิดจาก จนท.ยิงแก๊สน้ำตาข้ามขั้นตอน ทำผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส-เสียชีวิต!
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปีเศษ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับพวกรวม 21 คน ซึ่งเป็นอดีตแกนนำและแนวร่วม พธม. เป็นจำเลยที่ 1-21 กรณีกลุ่ม พธม. เคลื่อนการชุมนุมจากทำเนียบรัฐบาลไปปิดล้อมรอบอาคารรัฐภา ช่วงวันที่ 7 ต.ค. 2551 ไม่ให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ประชุมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ฯลฯ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216, 309, 310
ทั้งนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 สรุปความผิดว่า เมื่อวันที่ 5-7 ต.ค. 2551 จำเลยและกลุ่ม พธม.จำนวนหลายพันคน ร่วมมั่วสุมภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตั้งเวทีปราศรัย และได้ยุยงปลุกปั่นให้กลุ่ม พธม. ทั้ง ประเทศไปรวมตัวปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้ สส. สว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุมสภา โดยวันที่ 7 ต.ค. 2551 กลางวัน จำเลยกับพวกใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงเคลื่อนพร้อมนำลวดหนามชนิดหีบเพลง และแผงกั้นเหล็กยางรถยนต์ผ่านไปลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อขวางบริเวณรอบรัฐสภาทำให้ประชาชนไม่สามารถผ่านไปได้ และปราศรัยปลุกระดมให้ล้อมรัฐสภา เป็นเหตุให้ สส. และ สว. บางส่วนเดินทางเข้าไปประชุมสภาไม่ได้
และจำเลยกับพวกยังร่วมกันข่มขืนใจนายสุริยา ปันจอร์ อดีต สว.สตูล, นายมณฑล ไกรวัตนุสรณ์ อดีต สส.สมุทรสาคร พรรคเพื่อไทย, นายปัญญา ศรีปัญญา อดีต สส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย และข้าราชการฝ่ายการเมืองหลายคน โดยไล่ให้กลับบ้านและขู่ให้กลัวว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และยังมีการโห่ร้อง ด่าทอ ใช้หนังสติ๊ก อาวุธปืนยิง มีดฟัน ใช้ปลายธงทำด้วยเหล็กปลายแหลมแทงเจ้าหน้าที่รับบาดเจ็บสาหัส 1 คน แถมยังมีการนำโซ่ไปล็อกกุญแจทางเข้า-ออกสภาทุกด้าน พร้อมประกาศขู่ว่า หากไม่ยุบสภาในเวลา 18.00 น. จะจับตัวประธานสภาและประธานวุฒิสภา รวมทั้งสมาชิกทั้งหมด ซึ่งสมาชิกรัฐสภาบางส่วนได้ปีนกำแพงหนีออกทางด้านพระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะที่เจ้าหน้าที่หลายคนถูกขังอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง
ต่อมาเวลากลางคืน จำเลยกับพวกยังได้ปราศรัยยุยงให้กลุ่ม พธม. จำนวนหลายพันคน โดยมีอาวุธ มีด ปืน ไม้กระบอง ธง หนังสติ๊ก ฯลฯ เคลื่อนไปหน้าอาคารรัฐสภาและปิดล้อมทางเข้าออก และได้นำน้ำมันราดบนถนนหน้ารัฐสภาและขู่ว่าจะใช้กำลังประทุบร้าย สส. และ สว. รวมทั้งใช้รถกระบะ ทะเบียน วพ1968 กทม. ที่ขับขี่โดยนายปรีชา ตรีจรูญ ขับรถพุ่งไล่ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งอัยการได้แยกฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาไปแล้ว โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมา อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์
เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายสนธิ, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายวีระ สมความคิด,นายสุริยะใส กตะศิลา และแกนนำทั้งหมดเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมีผู้สนันสนุนและผู้ใกล้ชิดมาร่วมให้กำลังใจ
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือแล้วมีข้อวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การชุมนุมของกลุ่มพธม.เป็นไปโดยสงบและชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อต้านการทุจริตต่อจากยุคของนายทักษิณ ชินวัตร และประกาศว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 239 และมาตรา 309 เพื่อช่วยให้นายทักษิณไม่ถูกยึดทรัพย์และไม่ต้องรับโทษจำคุก และมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นมหาชน สร้างความเสียหายให้กับประเทศ
จะเห็นได้ว่ามีนโยบายหลายๆ ข้อที่ทำให้คนจากหลายภาคส่วนไม่พอใจ จึงได้ออกมาโต้แย้งโดยการชุมนุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ตั้งแต่เดือน พ.ค.2551 จนถึงวันที่ถูกสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.2551 จำเลยที่ 1-2, 4-21 ได้กล่าวเน้นย้ำให้ชุมนุมด้วยความสงบ ห้ามนำอาวุธเข้ามา และไม่มีการวางแผนทำผิดกฎหมาย เป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ต่อมา มีการเข้าสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ลักษณะจู่โจมโดยที่ผู้ชุมนุมยังไม่ทันตั้งตัวจนเกิดความวุ่นวาย ทำให้ผู้ชุมนุมวิ่งหลบหนี บางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก็สน้ำตา เป็นการปฏิบัติข้ามขั้นตอน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าได้ประสานขอรถน้ำจาก กทม. แต่ไม่ได้รับการร่วมมือส่งรถน้ำมาให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงแก็สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม พธม. ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย บางรายถึงขั้นเสียชีวิต
ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่พอใจและหันมาตอบโต้ตำรวจโดยใช้ที่ยิงหนังสติ๊ก โดยใช้ด้ามธงปลายแหลม กระบองและหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมบางคน โดยไม่มีใครสั่งการ ถือว่าเป็นเจตนาส่วนตัว มิอาจนำมาถือเป็นเจตนาของทุกคนในกลุ่มผู้ชุมนุมได้
ขณะที่โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่า พวกจำเลยชุมนุมโดยไม่สงบ ซึ่งไม่อาจชี้ได้ว่า จำเลยที่ 1-2, 4-21 เป็นผู้สั่งการ แต่ความวุ่นวายเกิดมาจากการเริ่มยิงแก็สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เห็นว่าเจ้าหน้าที่กระทำขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน มีการยิ่งแก็สน้ำตาจำนวนมาก เกินความจำเป็น
อีกทั้งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยว่า การะทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำละเมิดต่อกลุ่มผู้ชุมนุม การกระทำของจำเลยที่ 1-2, 4-21 ไม่เป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 215, 216, 309, 310 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษยกฟ้อง
หลังศาลพิพากษายกฟ้อง นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา 1 ในจำเลยในคดีนี้ เผยว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในวันที่ 7 ต.ค. 2551 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น มาจากตำรวจใช้กำลังและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ทันตั้งตัวและไม่ได้เตรียมการมาเพื่อก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งก่อนเกิดเหตุนั้น การชุมนุมก็เป็นไปด้วยความสงบ ไม่ได้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน คือ ไม่ได้มีการประกาศเตือน เจรจา หรือใช้รถน้ำ
ส่วนอัยการโจทก์จะมีการยื่นฎีกาต่อหรือไม่นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า อยากขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด เพื่อขอให้พนักงานอัยการไม่ยื่นฎีกา
ส่วนจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ จากนี้นั้น ปัจจุบันแกนนำก็ได้สลายตัวกันไปหมดแล้ว การชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น เป็นเรื่องของกลุ่มอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรฯ แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองมามากพอแล้ว
2."ก้าวไกล" มีมติขับ "วุฒิพงศ์" พ้นพรรค ปมคุกคามทางเพศ ส่วน "ปูอัด" เสียงขับไม่ถึงเกณฑ์ หลายฝ่ายจี้ลาออก พรรคเตรียมประชุมอีกรอบ หลังเจ้าตัวไม่สำนึกผิด!
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะทำงานพิเศษเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการสอบสวนกรณีมี สส.พรรคก้าวไกล (นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี และนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. เขตจอมทอง-บางขุนเทียน-ท่าข้าม) ถูกกล่าวหาคุกคามทางเพศว่า ขณะนี้ทั้ง 2 กรณีอาจเข้าข่ายคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ทางกรรมการวินัยของพรรคได้รายงานข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมของกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เรียบร้อยแล้ว มีมตินัดประชุม สส. ร่วมกับ กก.บห. ในวันที่ 1 พ.ย. เพื่อมีมติเรื่องดังกล่าว
วันต่อมา (1 พ.ย.) นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล เผยมติที่ประชุมร่วมว่า ทั้งสองกรณีมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศจริง และขัดต่อวินัยของพรรคอย่างร้ายแรง โดยโทษสูงสุดสำหรับกรณีนี้คือ ขับให้พ้นจากสมาชิกพรรค และโทษรองลงมาคือ ตัดสิทธิ์พึงมีทั้งหมด รวมถึงการคาดโทษตามแต่กรณี แต่การจะขับสมาชิกพรรคให้พ้นจากพรรคต้องอาศัยเสียง 3 ใน 4 ของ สส. และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
โดยผลการลงมติ ที่ประชุมร่วมมีมติให้นายวุฒิพงศ์ ออกจากพรรคก้าวไกล ด้วยมติ 120 เสียง
สำหรับกรณีนายไชยามพวาน เสียงส่วนใหญ่ เห็นควรให้ขับออกจากสมาชิกพรรค 106 เสียง แต่เนื่องจากเสียงไม่ถึง 3 ใน 4 ซึ่งคือ 116 เสียงของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรค และ สส.ที่มีอยู่ เท่ากับว่าไม่สามารถมีมติที่จะขับนายไชยามพวานออกจากพรรคได้ แต่ที่ประชุมเห็นว่า ควรจะตัดสิทธิ์พึงมีทั้งหมด และให้คาดโทษไปตลอดสมัยประชุม หากมีพฤติกรรมใดๆ ที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศอีก จะต้องให้พ้นจากสมาชิกพรรค
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า นายไชยามพวานจะต้องออกมายอมรับผิด ขอโทษต่อสังคม และขอโทษต่อผู้เสียหายทั้งหมด รวมถึงจะต้องชดเชยเยียวยาตามที่ผู้เสียหายต้องการ หากนายไชยามพวานยืนยันว่า ตนเองไม่ได้กระทำผิด ไม่ยินดีที่จะขอโทษต่อผู้เสียหาย และไม่ยินดีที่จะชดใช้ความผิดของตนเอง ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และ สส.พรรคก้าวไกลร่วมกันอีกครั้งเพื่อมีมติต่อไป
วันต่อมา (2 พ.ย.) นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี เขต 2 พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงเปิดใจหลังพรรคมีมติขับให้พ้นจากสมาชิกพรรคจากกรณีคุกคามทางเพศว่า ค่อนข้างผิดหวังต่อการถูกขับออกจากพรรค เพราะเป็นเรื่องรุนแรง ทั้งนี้สามารถไปพิสูจน์ความจริงได้ตามกระบวนการยุติธรรมภายนอก ซึ่งทำได้เร็วและง่ายกว่า แต่ตอนนี้พรรคใช้วิธีการตรวจสอบภายใน
เมื่อถามว่า จะยื่นอุทธรณ์มติที่ประชุม กก.บห. และ สส. ที่ขับพ้นสมาชิกพรรคหรือไม่ นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคงไม่อุทธรณ์มติที่ประชุมพรรค จากนี้คงต้องแสดงจุดยืนต่อพรรคที่จะเข้าไปร่วมงานด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายไชยามพวานไม่ถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล เนื่องจากเสียงที่ลงมติขับไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้ สส.พรรคบางคน รวมถึงแกนนำคณะก้าวหน้า และนักกิจกรรมทางการเมืองที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล ต่างแสดงความไม่พอใจที่นายไชยามพวานไม่ถูกขับออกจากพรรค พร้อมจี้ให้เจ้าตัวลาออกจากพรรค เนื่องจากผิดวินัยร้ายแรงฐานคุกคามทางเพศ
โดยโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์สเตตัสจอดำผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความระบุว่า ...ไชยามพวาน ควรลาออก
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ (2 พ.ย.) ว่า “คณะกรรมการวินัย คณะกรรมการบริหาร #พรรคก้าวไกล มีมติว่า คุณทำผิดวินัยร้ายแรง คุกคามทางเพศ ที่ประชุมร่วม สส. และกรรมการบริหาร ก็โหวตขับคุณถึง 106 เสียง จาก 128 เสียง ขาดเพียง 10 เสียงก็จะขับออกได้ตามกฎหมาย ถึงขนาดนี้แล้ว ดิฉันขอเรียกร้องให้ สส. ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค”
ขณะที่ “รุ้ง ปนัสยา” แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า ...ปูอัดต้องลาออก อย่าหน้าด้าน เมาไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไปกระทำเลวต่อคนอื่น ก้าวไกลต้องแก้ปัญหาเรื่องเพศให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ เรื่องอื่นก็สู้ไม่รอด
วันต่อมา (3 พ.ย.) นายไชยามพวาน ได้แถลงหลังได้รับหนังสือจากพรรคว่า จากกรณีที่มีผู้ร้องทั้งหมด 3 คน หากข้อความส่วนตัวระหว่างตนและคู่กรณี เป็นการคุกคามทางเพศ โดยใช้อำนาจบีบบังคับตามที่คณะกรรมการพรรควินิจฉัย ผมก็ต้องขอโทษจริงๆ
ส่วนกรณีที่อ้างว่า มีรูปถ่ายขณะที่ผู้ร้องคนที่สองผูกเน็กไทให้กับตน และอยู่ด้วยกันสองต่อสองในห้องพัก เป็นการคุกคามทางเพศ นายไชยามพวานชี้แจงว่า รูปดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นคอนเทนต์ เพื่อเตรียมไว้สำหรับลงโซเชียลมีเดีย
ส่วนสลิปการโอนเงินที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นการโอนเพื่อปิดปากนั้น ตนขอชี้แจงว่า เป็นการโอนเงินเดือนตามบันทึกข้อตกลงร่วมงาน และให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพระหว่างการว่างงาน
ส่วนกรณีที่มีการแตะเนื้อต้องตัวผู้ร้องคนที่สามนั้น นายไชยามพวาน ยืนยันว่า เป็นการแตะเนื้อต้องตัวธรรมดาของผู้ร่วมงาน ไม่ได้มีเป้าประสงค์ทางเพศ “หากผมผิดพลาดที่อาจไม่ได้คิดให้รอบคอบถึงขอบเขตเหล่านี้ให้ดีพอว่า แต่ละคนอาจมีขอบเขตในการยอมรับที่แตกต่างกัน และผมต้องขออภัย หากการกระทำของตน ทำให้ผู้ร้องรู้สึกไม่สบายใจ ...และจะระมัดระวังตัวมากขึ้น”
ส่วนถ้าพรรคนัดประชุมและลงมติใหม่ นายไชยามพวาน กล่าวว่า ก็ต้องน้อมรับมติพรรค เมื่อถามว่าเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร นายไชยามพวาน กล่าวว่า ทางพรรคจะเป็นคนจัดการ จะเรียกผู้เสียหายมาไกล่เกลี่ยเอง
ผู้สื่อข่าวถามถึงการแถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการขอโทษประชาชนและผู้สื่อข่าว แต่ยังยืนยันหรือไม่ว่ายังขอโทษผู้เสียหาย นายไชยามพวาน ลุกขึ้น ถอนหายใจเฮือกใหญ่ ก่อนเดินออกจากโต๊ะแถลงข่าว พร้อมระบุว่า ตนมาแถลงด้วยใจ และสัปดาห์หน้าจะไปชี้แจงที่ ป.ป.ช. และ กกต.จะเรียกไปพบหรือไม่
ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก (3 พ.ย.) ระบุว่า หลังจากฟังการแถลงของคุณไชยามพวานแล้ว มีความเห็นส่วนตัวว่า คุณไชยามพวานไม่ได้สำนึกหรือยอมรับว่าพฤติการณ์ของตนนั้น เข้าข่ายเป็นการคุกคามทางเพศแม้แต่น้อย และไม่ได้ขอโทษต่อผู้เสียหายอย่างจริงใจ และยังเจตนาจะแสดงให้เห็นว่า ตนเองกับผู้เสียหายมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ดังนั้น การล่วงเกินทางเพศที่มีต่อผู้เสียหายจึงเกิดขึ้นโดยความยินยอม...
คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาแล้วเห็นว่า การล่วงเกินทางเพศเกิดขึ้นโดยผู้เสียหายอยู่ในสภาพมึนเมา ย่อมไม่อยู่ในสถานะที่สามารถให้การยินยอมหรือไม่ยินยอมได้ นอกจากนี้ คุณไชยามพวานยังมีพฤติกรรมที่ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ โดยการพาผู้เสียหายไปที่คอนโดมีเนียมของตนเอง....
คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาพฤติการณ์และข้อเท็จจริงผู้เสียหายทั้งสามรายประกอบกัน ซึ่งมีลักษณะต่อเนื่องและมีรูปแบบทำนองเดียวกัน จึงเห็นว่า คุณไชยามพวานมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่อผู้เสียหายทั้งสามราย และล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายหนึ่งราย โดยผู้เสียหายทั้งหมดมีสถานะเป็นอาสาสมัครหรือผู้ช่วยดำเนินงานของคุณไชยามพวาน
“ผมเห็นว่า การแถลงของคุณไชยามพวาน นอกจากจะไม่สำนึกยอมรับผิดและขอโทษต่อผู้เสียหายอย่างจริงใจแล้ว ยังอาจเป็นการก่อความเสียหายซ้ำเติมต่อผู้ถูกกระทำทั้งสามรายอีกด้วย ดังนั้น หลังจากวันเสาร์นี้ ผมในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้พิจารณาว่า คุณไชยามพวานกระทำการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ หากคณะกรรมการบริหารพรรคเห็นว่า คุณไชยามพวานกระทำการขัดต่อมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ก็จะนำไปสู่กระบวนการทางวินัยจากฐานการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และหากมีความผิดจริง ก็จะนำไปสู่การจัดประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารกับ สส. ของพรรค เพื่อมีมติให้คุณไชยามพวานพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลหรือไม่ต่อไป”
ทั้งนี้ แหล่งข่าวคนใกล้ชิดของนายไชยามพวาน ระบุว่า นายไชยามพวาน จะยังไม่มีการลาออก ส่วนที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ก็ถือว่าเป็นอำนาจในฐานะหัวหน้าพรรค พร้อมยืนยันว่า ได้ชี้แจงทุกอย่างตามข้อเท็จจริง และความบริสุทธิ์ใจที่จะขอโทษ ส่วนเรื่องจะลาออกหรือไม่นั้น ขอให้การประชุมหลังจากนี้ มีมติพรรคออกมาอย่างชัดเจน
3. ศาลพิพากษาจำคุก "เบนจา อะปัญ" 2 ปี 8 เดือน ผิด ม.112-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี รอลงอาญา 2 ปี เจ้าตัวเผย มีคดีหมิ่นสถาบันรออยู่อีก 8 คดี!
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมทางการเมือง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นจำเลย ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 น.ส.เบนจาปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรม “คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช” ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 มาตรา 9, 18 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนในเขตพื้นที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนในเขตพื้นที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท
ในทางนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีกำหนด 2 ปี ฐานร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนในเขตพื้นที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยกระทำความผิดขณะอายุ 22 ปี ซึ่งถือว่าอายุยังน้อย อาจมีความคึกคะนองโดยยังขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตและขาดวิจารณญาณไตร่ตรองถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตน
อีกทั้งปัจจุบันจำเลยศึกษาอยู่ในระดับชั้นอุดมศึกษา ยังอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะกลับตนเป็นพลเมืองดีได้ และการจับกุมจำเลยในคดีนี้น่าจะทำให้จำเลยสำนึกผิดต่อการกระทำและเข็ดหลาบแล้ว การจำคุกจำเลยในระยะสั้นนั้นไม่เป็นผลดีกับจำเลย จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ชี้ว่า จำเลยปราศรัยกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 โดยตรง ชัดว่าเป็นการหมิ่นประมาทล่วงเกิน การเบิกความของจำเลยไม่ได้ทำให้เห็นว่า มีเจตนากล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐบาลอย่างไร จึงมีความผิดตามมาตรา 112
ด้าน น.ส.เบนจา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งเรื่องที่จะต้องต่อสู้และผ่านไปให้ได้ ส่วนตอนนี้ตนมีคดีรอการพิพากษาอยู่ 8 คดี ซึ่งเป็นคดีในมาตรา 112 ทั้งหมด
4. "เศรษฐา" ยัน 10 พ.ย. นี้รู้ชัดปมเงินดิจิทัลฯ 1 หมื่น ย้ำ ไม่เคยถอยหลังเรื่องนี้ แย้ม ใช้ "เป๋าตัง" ร่วม เพื่อ ปชช.ใช้สะดวก!
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เผยความคืบหน้าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า วันที่ 10 พ.ย.นี้ รู้เรื่องทุกอย่าง อย่างที่ตนเรียนแล้วไม่ได้ไปว่าใครที่ไปพูดอะไรทั้งสิ้น วันนี้การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ วันที่ 10 พ.ย. นี้จะรู้ที่มาที่ไปทุกอย่าง มีขั้นตอนไทม์ไลน์กฎกติกาที่ชัดเจน และต้องให้เกียรติคณะกรรมการด้วย ซึ่งตนอยากให้เป็นไปตามขั้นตอน เพราะเดี๋ยวจะเกิดความสับสน อย่างที่บอกเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะมีความเห็นต่างบ้าง แต่ทุกคนก็ยอมรับว่า จะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ลักษณะหรือขอบเขต หรือปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไหร่อย่างไร ก็ต้องมาพูดคุยกัน อย่างที่ตนยืนยันตลอดเวลาว่า หากใครมีข้อเสนอแนะก็รับฟังตลอด และการรับฟังก็ไม่ใช่การรับฟังเฉยๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายนี้ดูเหมือนจะเป็นการเดิมพันฝีมือก้าวต่อไปของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนคิดว่าให้ประชาชนเป็นคนตัดสินจะดีกว่า ทุกนโยบายสำคัญ และกรณีที่สื่อบางสำนักได้ทำโพลสำรวจมา เห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นเรื่องสำคัญ
นายเศรษฐากล่าวว่า เมื่อมีคำเตือนมาตนก็รับฟัง สื่ออาวุโสหลายท่านก็เตือนมา ผู้ว่าฯ แบงค์ชาติก็บอกไม่ได้ติดอะไร แต่ให้ระวังในเรื่องนี้ ให้เขียนภาพระยะยาว เวลาที่ออกมาแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างไร รวมถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นเวลาที่จะแถลงก็ต้องแถลงให้ครบทั้งหมด เมื่อเวลามีคำถามอะไรตนจะได้ตอบได้
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีมาจากนักธุรกิจประชาชนก็คาดหวังสูงในเรื่องเศรษฐกิจปากท้องจะดีขึ้น นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจแบบนั้นหรือไม่ว่าภายในกี่เดือนประชาชนจะยิ้มอย่างมีความสุข นายเศรษฐากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ความตั้งใจของตนอยากให้ยิ้มทุกวัน อยากให้ยิ้มเร็วๆ ตนกระตือรือร้น มีความอยากจะทำ แต่ไม่ได้หมายว่าจะทำไม่ได้ นิสัยของตนไม่ใช่คนแบบนั้น ตนก็อยากทำให้ได้ ทุกคนก็รู้ดีมันไม่ได้อยู่ที่ตนคนเดียว ซึ่งก็มีปัญหาต่างๆ เข้ามาและมีปัจจัยภายนอกรุมเร้าเยอะ
เมื่อถามว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าต้องระวัง ถอยหลังก็ไม่ได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าพูดอย่างนั้นก็หมายความว่าตนมีความคิดที่จะถอยหลัง ตนไม่ได้คิดจะถอยหลังเลย ฉะนั้นจะต้องทำ และต้องทำออกไปให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามกฏหมายที่สุด ให้คนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งสาธารณชนต้องเข้าใจด้วยว่าระบบนี้วิธีการนี้ ไม่มีการคอร์รัปชัน ในเชิงปฏิบัติไม่มีที่ให้ประชาชนต้องสงสัยว่าใครได้อะไร เป็นเรื่องที่ธรรมดา เรื่องทุจริต ประพฤติมิชอบ ตนก็ไม่สบายใจ แต่ไม่ต้องห่วง
ส่วนแอปพลิเคชันเป๋าตังมีส่วนร่วมแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของการให้ความสะดวกและง่ายให้กับประชาชนใช้นโยบายนี้ได้อย่างสบายใจ
ส่วนการกำหนดพื้นที่การใช้ หรือการระบุให้ถอนใช้เป็นเงินสด แล้วไปใช้ที่จังหวัดอื่น ตนบอกว่าไม่ได้ อย่างที่ จ.เชียงใหม่หรือ กทม. เมืองเหล่านี้มันเขียวอยู่แล้ว ตนอยากให้ไปใช้ในเมืองที่มีจีดีพีรายได้ต่อหัวต่ำ อยากให้หญ้าพื้นที่ตรงนั้นเขียว ก็จะทำให้ชุมชนและเศรษฐกิจพื้นที่เหล่านั้นเฟื่องฟูลืมตาอ้าปากได้ ส่วนที่มีการบอกว่าให้ไปซื้อของออนไลน์ได้นั้น ตนตอบไม่ได้หมดตรงนี้
5. สธ.-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เคาะผู้ครอบครอง "ยาบ้า" ไม่เกิน 5 เม็ด ถือเป็น "ผู้เสพ" เหตุถ้าเสพมากกว่านี้ เสี่ยงก่อเหตุรุนแรง เตรียมประชาพิจารณ์ก่อนชง ครม.!
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมหารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า สธ.เคยยื่นร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ต่อ ครม.เมื่อเดือน ก.พ. 2566 ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีข้อสั่งการให้ทบทวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมาวันที่ 3 ต.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อกำชับสั่งการเรื่องนโยบายความปลอดภัยยาเสพติดให้มาดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกฯ เพื่อนำเสนอต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข เพื่อพิจารณากฎกระทรวงต่อไป
โดยเบื้องต้นที่พิจารณาในวันนี้ ในส่วนของเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด หมายความว่า สันนิษฐานว่ามีไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อเสพ "ขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการตามระเบียบกฎหมายของการออกร่างกฎกระทรวง ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์อีกประมาณหนึ่ง ถึงจะเสนอ ครม.ได้”
ส่วนเหตุผลที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 5 เม็ดนั้น นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า เรารับฟังและใช้เหตุผลทางวิชาการทางการแพทย์ มีตัวแทนของ สธ. ทั้งกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาให้ข้อมูลรายละเอียดองค์ประกอบของยา ผลกระทบจากขนาดของยา และมีการรับฟังผลกระทบต่อมิติอื่นๆ
ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทธ์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุผลในทางการแพทย์ และข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า การใช้ตั้งแต่ปริมาณน้อยจนถึงเพิ่มมากขึ้น จะมีผลต่อสมองและระบบประสาทของผู้เสพแตกต่างกันไป โดยการเสพในระดับที่มากกว่า 55 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดอาการทางจิต ชนิดหลงผิดแบบหวาดระแวง การเสพถึงจุดนี้จะเข้าเกณฑ์ผู้ป่วย SMI-V ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง มีความเสี่ยงสูงต่อการทำร้ายตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสังคม
เมื่อถามว่า ถ้าน้อยกว่า 5 เม็ดถือเป็นผู้เสพ ถ้ามากกว่านั้นจะมีความผิดอย่างไร พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผู้บังคับบัญชาตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า โดยหลักกฎหมายจะแบ่งความผิดเป็น 2 ประเภท คือ 1.ผิดเรื่องของเสพ จะเสพโดยตรงหรือครอบครองเพื่อเสพ และ 2.ความผิดร้ายแรง ได้แก่ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง มีโทษเท่ากัน ไม่ว่าครอบครองหรือจำหน่ายฐานโทษเท่ากัน
ซึ่งหากมีไม่เกิน 5 เม็ด จะสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ และต้องสมัครใจเข้ารับการบำบัดด้วย ถ้าไม่สมัครใจก็จะดำเนินคดีข้อหาครอบครองเพื่อเสพ คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ศาลก็จะบังคับส่งไปบำบัดได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะต่ำกว่า 5 เม็ด แต่สืบสวนมีพฤติกรรมลักลอบจำหน่าย ก็จะดำเนินคดีข้อหาจำหน่าย ส่วนมากกว่า 5 เม็ดขึ้นไปก็เป็นความผิดครอบครองยาเสพติดฐานหนึ่งแล้ว ซึ่งผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบครอง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี ส่วนจะมีพฤติกรรมการค้าหรือไม่ ก็ต้องดูความจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดข้อหาไหน
ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวเสริมว่า "สมัยก่อนยังไม่มีการกำหนดตัวนี้ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดความยากลำบาก ในการดำเนินคดีกับผู้เสพผู้ใช้ต่างๆ เหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถที่จะเอากฎหมายข้อไหนมาบังคับคดีกับเขาได้ เมื่อครอบครองยาบ้าแม้กระทั่ง 50 เม็ด แต่บอกเอาไว้เสพนานๆ หลายๆ วัน ตำรวจทำอะไรไม่ได้ก็ต้องส่งไปบำบัดรักษา"