สธ.หารือร่วมทุกฝ่าย เอกฉันท์กำหนดยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดเป็น "ผู้เสพ" หลังทบทวนข้อมูลการแพทย์ ยุติธรรม ราชทัณฑ์ บำบัด ผลกระทบสังคม เหตุรับเกิน 55 มก. เสี่ยงหลงผิดหวาดระแวง ก่อเหตุรุนแรง แจงไม่สมัครใจบำบัดถูกดำเนินคดีครอบครองเพื่อเสพ ถ้าเกิน 5 เม็ดเป็นครอบครองผิด กม.มีโทษต่างกัน เร่งหารือกำหนดปริมาณ "ยาเสพติด" ตัวอื่นด้วย เตรียมประชาพิจารณ์ก่อนเสนอ ครม. พร้อมชงขอขยายเวลาออกกฎหมายลูกก่อนครบกำหนด 8 ธ.ค.
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมหารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นต้น ซึ่งใช้เวลาหารือมากกว่า 2 ชั่วโมง
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า สธ.เคยยื่นร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ต่อ ครม.เมื่อเดือน ก.พ. 2566 ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีข้อสั่งการให้ทบทวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมาวันที่ 3 ต.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อกำชับสั่งการเรื่องนโยบายความปลอดภัยยาเสพติดให้มาดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกฯ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมการประชุมอย่างครบถ้วน เพื่อนำเสนอต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข เพื่อพิจารณากฎกระทรวงต่อไป โดยเบื้องต้นที่พิจารณาในวันนี้ ในส่วนของเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด หมายความว่า สันนิษฐานว่ามีไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อเสพ
"ขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการตามระเบียบกฎหมายของการออกร่างกฎกระทรวง ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์อีกประมาณหนึ่ง ถึงจะเสนอ ครม.ได้ โดยทั่วไป ครม.ก็ต้องรับฟังจากส่วนที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย หน่วยงานที่รับผลกระทบและให้ความเห็นถึงพิจารณา จึงต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้เอง" นพ.กิตติศักดิ์กล่าว
ถามถึงเหตุผลที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 5 เม็ด นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า เรารับฟังและใช้เหตุผลทางวิชาการทางการแพทย์ มีทางตัวแทนของ สธ. ทั้งกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาให้ข้อมูลรายละเอียดองค์ประกอบของยา ผลกระทบจากขนาดของยา มาเป็นองค์ประกอบเบื้องต้น และมีการรับฟังผลกระทบต่อมิติอื่นๆ เช่น ผู้บังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม มิติต่อสังคมที่เกิดจากปริมาณที่ต้องกำหนดจำนวนเม็ดเท่านั้นเท่านี้ จะเกิดผลกระทบต่อสังคม ชุมชน ระบบจัดการเรื่องกฎหมาย การบำบัด กระบวนการยุติธรรม และระบบราชทัณฑ์อย่างไร ซึ่งมีตัวแทนอย่างครบถ้วนในการพิจารณา ทั้งศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด กฤษฎีกา สตช. ป.ป.ส. ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมประชาสมพันธ์ กระทรวง พม. และอุตสาหกรรม
ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทธ์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุผลในทางการแพทย์ เรามีข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมและข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า การใช้ตั้งแต่ปริมาณน้อยจนถึงเพิ่มมากขึ้น จะมีผลต่อสมองและระบบประสาทของผู้เสพแตกต่างกันไป โดยการในระดับที่มากกว่า 55 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดอาการทางจิต ชนิดหลงผิดแบบหวาดระแวง การเสพจึงถึงจุดนี้จะเข้าเกณฑ์ผู้ป่วย SMI-V ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการก่อความรุนแรง มีความเสี่ยงสูงต่อทำร้ายตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสังคม การอนุญาตให้ใช้ปริมาณที่สูงมากต่อครั้งต่อวัน เกินกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดฤทธิ์ต่อสมองในแบบที่หลงผิดจะเพิ่มผู้ป่วย SMI-V และเพิ่มเสี่ยงทำให้สังคมไม่ปลอดภัย
ถามย้ำว่าถ้าน้อยกว่า 5 เม็ดจะถือเป็นผู้เสพ ถ้ามากกว่านั้นจะมีความผิดอย่างไร พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผู้บังคับบัญชาตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า โดยหลักกฎหมายจะแบ่งความผิดเป็น 2 ประเภท คือ 1.ผิดเรื่องของเสพ จะเสพโดยตรงหรือครอบครองเพื่อเสพ และ 2.ความผิดร้ายแรง ได้แก่ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง มีโทษเท่ากัน ดังนั้น ไม่ว่าครอบครองหรือจำหน่ายฐานโทษเท่ากัน ดังนั้น เมื่อเราแยกคนตรงนี้ก็เป็นวิธีการในการปราบปรามผู้กระทำผิดให้รับโทษตรงตามข้อหาและความหนักเบา ซึ่งหากมีไม่เกิน 5 เม็ด จะสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ และต้องสมัครใจเข้ารับการบำบัดด้วย ถ้าไม่สมัครใจก็จะดำเนินคดีข้อหาครอบครองเพื่อเสพ คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ศาลก็จะบังคับส่งไปบำบัดได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะต่ำกว่า 5 เม็ด แต่สืบสวนมีพฤติกรรมลักลอบจำหน่าย ก็จะดำเนินคดีข้อหาจำหน่าย ส่วนมากกว่า 5 เม็ดขึ้นไปก็เป็นความผิดครอบครองยาเสพติดฐานหนึ่งแล้ว ซึ่งผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบครอง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี ส่วนจะมีพฤติกรรมการค้าหรือไม่ ก็ต้องดูความจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดข้อหาไหน
"สมัยก่อนยังไม่มีการกำหนดตัวนี้ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดความยากลำบาก ในการดำเนินคดีกับผู้เสพผู้ใช้ต่างๆ เหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถที่จะเอากฎหมายข้อไหนมาบังคับคดีกับเขาได้ เมื่อครอบครองยาบ้าแม้กระทั่ง 50 เม็ด แต่บอกเอาไว้เสพนานๆ หลายๆ วัน ตำรวจทำอะไรไม่ได้ก็ต้องส่งไปบำบัดรักษา" พล.ต.ท.คีรีศักดิ์กล่าว
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ตัว 5 เม็ดเป็นตัวไว้ให้โอกาสกับผู้ที่ครอบครอง กฎหมายมีเจตนารมณ์เขียนไว้ว่า ให้สันนิษฐานไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อเสพ การกำหนดตรงนี้ทำให้คนทำงานทำงานง่าย แยกแยะเบื้องต้นเป็นเสพ ถ้ามากกว่า 5 เม็ดไม่ใช่เสพ อย่างไรก็ตาม ถ้าการสืบสวนพฤติกรรมหรือการต่อเนื่องในการดำเนินการทางกระบวนการ ทราบว่ามีการจำหน่ายจ่ายแจก แม้ต่ำกว่า 5 เม็ดก็ผิดกฎหมาย เป็นผู้ค้าผู้ครอบครองผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นผู้เสพ
ถามย้ำว่าทำไมถึงกำหนดมากกว่า 1 เม็ด ไม่กำหนดแค่เม็ดเดียว พล.ต.ท.คีรีศักดิ์กล่าวว่า ในที่ประชุมได้ข้อมูลความรู้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องฤทธิ์ยา ปริมาณยาที่ส่งผลต่อสุขภาพและอาการทางจิต มีการหารือกันนานกว่า 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปแล้วว่า จำนวนกี่เม็ดมันจะส่งผลในหลายๆ มิติ ในแง่สาธารณสุข การบังคับใช้กฎหมาย และผลกระทบเกิดกับสังคม มาประกอบกัน จึงกำหนด 5 เม็ดเป็นปริมาณที่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการประชาพิจารณ์ จะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ก่อนจะนำมาประมวลผลอีกครั้ง แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 กำหนดให้ สธ.ออกกฎกระทรวงภายใน 2 ปี แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถออกได้ และกำลังจะครบระยะเวลา 2 ปี ในวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ดังนั้น สธ.จะเสนอ ครม.พิจารณาขยายเวลาในการจัดทำกฎกระทรวงออกไป ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า จะขยายเวลาได้นานไหน ซึ่งหากไม่ขอขยายเวลาและครบตามที่กำหนดแล้วยังออกกฎกระทรวงไม่ได้ ก็จะทำให้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวที่จะกำหนด 5 เม็ดสันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ ต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ ที่ประชุมดังกล่าวยังมีการหารือกันต่อถึงยาเสพติดให้โทษตัวอื่นๆ ด้วย ว่าจะกำหนดปริมาณที่จะสันนิษฐานมีไว้ในการครอบครองเพื่อเสพจำนวนเท่าใดด้วย ซึ่งจะออกเป็นร่างกฎกระทรวงเดียวกันและเสนอ ครม.พร้อมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ยาบ้า 1 เม็ดมีเมทแอมเฟตามีนประมาณ 10-20 มิลลิกรัม ซึ่งหากกำหนดปริมาณที่ 5 เม็ดเป็นผู้เสพ การรับเมทแอมเฟตามีนจะอยู่ที่ปริมาณ 50-100 มิลลิกรัม โดยการออกฤทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนหากได้รับ 55 มิลลิกรัม จะมีอาการหวาดระแวง หูแว่ว ภาพหลอน ก้าวร้าว เกิดอาการทางจิต แต่หากรับมากกว่า 120 มิลลิกรัมจะถึงขั้นเสียชีวิต