“สนธิ” ยกตัวอย่างภาพสะท้อนคนรุ่นใหม่ที่โง่เขลาเบาปัญญา ชูป้ายอ้าง “เกษตรศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ของพระราชา เป็นศาสตร์ของประชาชน” สักแต่อยากแสดงความคิดเห็น แต่ไม่หาความรู้ จึงไม่รู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้บุกเบิกเรื่องข้าวมานาน และทรงทดลองทำการเกษตรทฤษฎีต่างๆ เพื่อให้เห็นผลจริง จนมีโครงการตามพระราชดำริเกิดขึ้นมากมาย ยกคำสอนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เรื่อง “การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้” เตือนสติ
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ภาพผู้ที่อ้างว่าเป็นนิสิตคณะเกษตร มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถือป้าย ข้อความว่า“เกษตรศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ของพระราชา เป็นศาสตร์ของประชาชน และพระราชาไม่เคยปลูกข้าวให้ประชาชนกิน มีแต่ประชาชนที่ปลูกข้าวให้พระราชากิน” ซึ่งเป็นภาพจากการชุมนุมในปี 2563 แต่มีการแชร์กันอีกครั้งเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องในวันที่ 13 ตุลาคม หรือ วันนวมินทรมหาราช หรือ วันคล้ายวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9
นายสนธิกล่าวว่า ภาพๆ นี้แสดงสะท้อนให้เห็นถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของคนรุ่นใหม่บางส่วนได้ดี หลายคนกลายเป็นคนไร้ราก คิดอยากจะสร้างอนาคตใหม่ แต่กลับไม่รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ โดยนอกจากไม่รู้แล้วก็ไม่แสวงหาความรู้ ด้วยสิ่งที่พูดออกมาก็เลยบิดเบี้ยว คิดว่าเขียนแล้วเท่ แต่หารู้ไม่ว่าที่เขียนออกมานั้นคือความโง่ล้วน ๆ
ยิ่งถ้าหากเด็กในภาพเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จริงหรือจะเรียนคณะเกษตร มหาวิทยาลัยไหน ก็แสดงว่าเขาไม่ได้เข้าใจรากเหง้าของวิชา และสถาบันที่ตัวเองเรียนแม้แต่นิดเดียวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้บุกเบิกให้ชาวนาปลูกข้าว และพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวไทยพันธุ์ดี
นายสนธิกล่าวว่า พี่ชายคนหนึ่งของตนคือนายสุเทพ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบ ม.เกษตรศาสตร์ รับราชการในกระทรวงเกษตรฯ และทำเรื่องข้าวมาชั่วชีวิตเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าว กระทรวงเกษตร(สถาบันวิจัยข้าว ที่ต่อมากลายเป็นกรมการข้าว) นอกจากนี้ยังได้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จนเกษียณอายุในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ
ถ้าเด็กรุ่นนี้ใส่ใจในการแสวงหาความรู้ให้ได้สัก 1 ใน 10 ของ“ความกระตือรือร้นในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์” ก็จะรับรู้และรับทราบได้ไม่ยากว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องข้าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของชาวไทยและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ และอาชีพทำนาก็ยังคงเป็นอาชีพหลักของชาวไทยอีกเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงค้นหาวิธีที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำนา เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าวให้สูงขึ้น
ปี 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งว่างเว้นไปหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี 2479-2502 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวนา
ปี 2504 มีพระราชดำริให้จัดทำ “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” ขึ้นโดยโปรดเกล้าฯให้นำพันธุ์ข้าว “นางมล” ไปปลูกที่พระราชวังสวนจิตรลดาฯ เพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลในปีถัดไป นับเป็นครั้งแรกที่ชาวนามีพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีจากวัง กระจายให้ชาวนาได้ปลูก โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์ ข้าว และทรงขับรถไถนาควายเหล็กด้วยพระองค์เอง
ซึ่งภายหลัง พระราชวังสวนจิตรลดา ยังเป็นแหล่งผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน ได้แก่ ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวสังข์หยดพัทลุง
นอกจากนี้ยังมีข้าว กข41 , กข6 , ข้าวดอกพะยอมและข้าวลืมผัว (ข้าวเหนียวพื้นเมือง ที่มีสีดำ เนื้อนุ่ม)เพื่อพระราชทาน ให้กรมการข้าวนำไปขยายพันธุ์ให้ชาวนา
พันธุ์ข้าวเหล่านี้ ถูกนำมาใช้และหว่านในพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ชาวนามาแย่งกันเก็บเมล็ดในพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวงด้วย
“เมื่อก่อน บ้านพักผมอยู่ตรงถนนสุโขทัยติด ๆ กับ พระราชวังสวนจิตรลดา ถ้าท่านผู้ชมเคยไปเดินออกกำลังรอบ ๆ วังสวนจิตรฯ ท่านผู้ชมจะเห็นคอกวัว-คอกควาย เห็นบางส่วนของแปลงนา เวลาฝนตก หรือฝนไม่ตกก็ตามก็จะได้กลิ่นดิน กลิ่นขี้วัว ขี้ควาย ลอยออกมาจากรั้ววัง มีฝรั่งเคยถามผมว่า นี่หรือคือ พระราชวังสวนจิตรลดา ที่พระมหากษัตริย์ของไทยอาศัยอยู่เหรอ ทำไมมีกลิ่นขี้วัวขี้ควายลอยออกมาอย่างนี้
“เขาตกใจครับ เพราะไม่มีพระราชวังที่ไหนในโลกหรอกที่จะเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เลี้ยงปลา ปลูกข้าว ทดลองทำการเกษตร ทฤษฎีต่างๆ ทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงคิดขึ้นมาและทดลองเพื่อให้เห็นผลจริง เพื่อที่ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปสานต่อ คนไทย ชาวนาไทย เกษตรกรไทยจะไปทำต่อ และหาเลี้ยงชีพได้”
นายสนธิ กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วเรื่องข้าวเป็นแค่หนึ่งในโครงการพระราชดำริกว่า 4 พันโครงการ ที่ได้ทรงงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขความอดอยากยากจนของคนไทยตลอดพระชนม์ชีพ รวมไปถึงฝนหลวง, เขื่อน, ประตูระบายน้ำ, โคนม, ปลานิล, หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, การแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ดินเค็ม, โครงการเกษตรหลวงที่ดอยอ่างขางเพื่อให้ชาวเขา เลิกปลูกฝิ่นมาปลูกพืชผลและดอกไม้ที่จะเป็นประโยชน์กว่า
นอกจากนี้ยังมีโครงการธนาคารโคกระบือ ให้เกษตรกรยืมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตร, โครงการชั่งหัวมัน แปลงทดลองเกษตรวิถีใหม่, ศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตที่ดินชายฝั่งทะเลและอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน
การที่เด็กมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ จะมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็ตาม ออกมาเขียนป้าย โดยบอกว่า“เกษตรศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ของพระราชา เป็นศาสตร์ของประชาชน และพระราชาไม่เคยปลูกข้าวให้ประชาชนกิน มีแต่ประชาชนที่ปลูกข้าวให้พระราชากิน” ทั้งยังมีเด็กอีกบางส่วนที่ตอนประท้วงเมื่อหลาย ปีก่อนยังเขียนป้ายด้วยว่า“ถ้า 4,000 กว่าโครงการดี ผ่านมา 70 ปี ทำไมเป็นแค่ "ประเทศด้อยพัฒนา” จึงเป็น “ความคิดเห็นผ่านป้าย” ที่แสดงให้เห็นถึงความโง่เง่าเบาปัญญาของคนเขียนโดยแท้ ส่วนคนที่เอาไปแชร์ต่อก็ต้องบอกว่า นอกจากไม่รู้ตัวว่าตัวเองโง่ ไม่มีความรู้ แล้วก็ยังไม่แสวงหาความรู้ และในจิตใจนั้นเต็มไปด้วย อคติเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะต้องหยิบยกเรื่องนี้มาพูด และมาชี้แจงให้ฟังอีกครั้ง โดยต้องขอหยิบยกคำสอนทางพุทธศาสนาขึ้นมาเตือนใจผู้คน และพ่อแม่ผู้ปกครองในยุคนี้ เพราะเยาวชนรุ่นหลังอาจจะไม่มีเวลาเข้าถึงธรรมะของพระพุทธศาสนา และก็อาจจะไม่สนใจที่จะฟังแล้วก็ได้
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เคยสอนเอาไว้ตั้งแต่ท่านเป็นพระธรรมปิฎก หัวข้อเรื่อง "การแสดงความคิดเห็น ต้องคู่มากับการแสวงหาความรู้" โดยท่านกล่าวเอาไว้ดังนี้
“การศึกษาปัจจุบันเดี๋ยวนี้พูดกันบ่อยว่า เด็กไทยไม่ค่อยชอบแสดงความคิดเห็น จะต้องสนับสนุนให้เด็กแสดงความคิดเห็น
“อย่าลืมว่า การแสดงความคิดเห็นนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ประเทศที่จะเจริญต้องเน้นการหาความรู้ ให้มีความใฝ่รู้ และบนฐานของความรู้นั้น จึงแสดงความคิดเห็นได้เป็นหลักเป็นฐาน
“ถ้าไม่มีความรู้ ไม่รู้เรื่องราว ก็ได้แค่แสดงความคิดเห็นไปตามชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ใช่ความคิดเห็นที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ
“เพราะฉะนั้น การแสดงความคิดเห็น ต้องมาคู่กับการหาความรู้ ให้ความคิดเห็นเกิดจากความรู้ความเข้าใจ และเป็นไปเพื่อพัฒนาปัญญา ไม่ใช่เป็นแค่ความคิดเห็นที่มาจากความชอบใจไม่ชอบใจ
“ถ้าเอาแค่ชอบใจไม่ชอบใจก็พูดไป อย่างนั้นพูดได้แค่ว่าฉันต้องการอะไร แต่ถ้าจะก้าวต่อไปว่า ที่ฉันต้องการนั้นควรจะได้หรือไม่และแค่ไหน ตอนนี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ จะเอาแค่ชอบใจไม่ชอบใจไม่ได้
“ฉะนั้น การศึกษาทั่วไปนี้ อย่าเอาแค่ส่งเสริมให้เด็กชอบแสดงความคิดเห็น เดี๋ยวก็แสดงความคิดเห็นเหลวไหลไร้สาระ เอาแค่มาพูดแข่งกัน ข่มกัน ทะเลาะกัน ไม่เป็นเรื่อง
“การที่ให้มีการแสดงความคิดเห็น ก็เพราะต้องการจะส่งเสริมสติปัญญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ ให้ได้แก่นสาร เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมการหาความรู้ขึ้นมาเป็นคู่กัน โดยเฉพาะจะต้องส่งเสริมลักษณะนิสัยให้มีคุณสมบัติเป็นคนใฝ่รู้
"ในประเทศที่คนไม่มีความใฝ่รู้ แต่ชอบแสดงความคิดเห็นนั้น จะไม่มีแก่นสารอะไร ข้างในกลวงหมด เป็นเรื่องใหญ่ที่ว่า ถ้าการศึกษาไปเน้นในด้านการแสดงความคิดเห็น ก็เป็นการข้ามขั้นตอน
“เพราะฉะนั้น จะต้องหันไปเน้นด้านการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะต้องสร้างความเป็นคนใฝ่รู้ขึ้นมาเป็นแกน แล้วการแสดงความคิดเห็นจึงจะไปดีได้
“เวลานี้เป็นปัญหาของสังคมไทยอยู่แล้ว ที่ว่าคนมักชอบแสดงความคิดเห็นกันมาก โดยไม่หาความรู้ และเมื่อได้แสดงความคิดเห็นแค่ชอบใจไม่ชอบใจแล้ว ก็เลิกกัน หรือทะเลาะกัน ขัดใจกัน ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจ และไม่หาความรู้ต่อไป
“หลักพระพุทธศาสนาสอนไว้เป็นขั้นพื้นฐานตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวว่า เมื่อรับรู้ด้วยตา หู จมูกเป็นต้น ไม่ใช่ว่าได้เห็นได้ยินแล้วก็ได้แค่ยินดียินร้าย ตาเห็นรูป พอถูกตาก็ชอบใจ ไม่ถูกตาก็ไม่ชอบใจ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน
“พระพุทธเจ้าตรัสเริ่มด้วยเรื่องอินทรียสังวรว่า ให้รับรู้ดูฟังด้วยสติ ทำให้ได้ความรู้ ได้ปัญญา ท่านให้มองอะไรด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่มองแค่ตามชอบใจไม่ชอบใจ
“เรื่องนี้เป็นหลักขั้นต้นสำหรับพุทธศาสนิกชนว่า จะมองอะไรไม่ใช่มองแค่ชอบใจไม่ชอบใจ แต่ต้องมองด้วยความรู้ความเข้าใจ และเพื่อให้มองด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็ต้องมองตามเหตุปัจจัย ...”