การเลือกตั้งคณะกรรมการ หรือบอร์ดประกันสังคม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ พบ หมอบูรณ์ แกนนำกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน ลงสมัคร เช่นเดียวกับ คณะก้าวหน้า มีอาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นำทีมลงสมัคร ส่วนผู้ประกันตนและนายจ้าง ถ้าอยากลงคะแนนต้องรีบลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะจะหมดเขต 31 ต.ค.นี้เท่านั้น
วันนี้ (29 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานประกันสังคมจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค. เวลา 08.00-16.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งที่ผู้ประกันตนได้ลงทะเบียนไว้ในแต่ละจังหวัดและอำเภอ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง และเลือกสถานที่ลงคะแนน ผ่านเว็บไซต์ระบบลงทะเบียนเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน https://sbe.sso.go.th/sbe/ ภายในวันที่ 31 ต.ค. 2566 และสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 10 พ.ย. 2566 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดให้ฝ่ายลูกจ้างสามารถเลือกได้ 7 คน นายจ้างเลือกได้ 7 คน
โดยคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สำหรับผู้ประกันตน คือ 1. มีสัญชาติไทย 2. มีสถานะเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง หรือช่วงเดือน มี.ค. ถึง ส.ค. 2566 3. จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนประกาศเลือกตั้ง) 4. ลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านช่องทาง www.sso.go.th เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด
สำหรับนายจ้าง คุณสมบัติ 1. มีสัญชาติไทย 2. มีสถานะเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง หรือช่วงเดือน มี.ค. ถึง ส.ค. 2566 3. จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนประกาศเลือกตั้ง) 4. ลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านช่องทาง www.sso.go.th เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด 5. กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจ กรณีเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิแห่งเดียว
สำหรับคณะกรรมการประกันสังคม มีอํานาจหน้าที่ ดังนี้ 1. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม 2. พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ 3. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงินของกองทุน 4. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน 5. พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงาน ผลการปฏิบัติงานประจําปีของสํานักงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคม 6. ให้คําปรึกษาและแนะนําแก่คณะกรรมการอื่นหรือสํานักงาน 7. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมาย หรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม มีผู้สมัครที่น่าสนใจ เริ่มจากนายสัตวแพทย์บูรณ์ อารยพล หรือหมอบูรณ์ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม คืนเงินหรือกู้เงินสมทบชราภาพ เพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกันตน ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้มาในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่ม 3 ขอต้องไปต่อ" ส่งผู้สมัครจำนวน 5 คน
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า" นำโดยนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งผู้ร่วมจดจัดตั้งและที่ปรึกษาปีกแรงงานพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยทีมงาน รวม 7 คน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ เจ้าตัวตั้งใจที่จะประกันสังคมให้เป็นรัฐสวัสดิการ ที่มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นประกันสังคมที่ประชาชนพึ่งพาได้จริง ภายใต้สโลแกน ‘ประกันสังคมก้าวหน้า ก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ’