xs
xsm
sm
md
lg

ใครจองที่พักผ่านเพจไว้ดูให้ดี หยุดยาวนี้รีสอร์ตเจอลูกค้าโดนหลอกจากเพจปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นประสบปัญหาลูกค้าเกือบ 30 รายจองและชำระเงินผ่านเพจปลอมที่แอบอ้างเป็นรีสอร์ต ทั้งๆ ที่ห้องพักเต็มหมดแล้ว จัดการอะไรไม่ได้เพราะโจรอยู่ต่างประเทศและใช้บัญชีม้าในไทย

วันนี้ (14 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เฟซบุ๊กรีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โพสต์ข้อความระบุว่า "ช่วงปิดเทอม ตุลาคมห้องเต็มทั้งเดือน ทุกแบบนะคะ ระวังเพจปลอม ตรวจสอบก่อนโอน รีวิวลูกค้าหน้าเพจสำคัญ เช็กก่อน ชัวร์ก่อน ค่อยโอนค่ะ"

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) เป็นวันหยุดยาวเนื่องในวันนวมินทรมหาราช ทางรีสอร์ตดังกล่าวประสบปัญหาลูกค้าเกือบ 30 รายจองและชำระเงินผ่านเพจปลอมที่แอบอ้างเป็นรีสอร์ต ทั้งๆ ที่ตลอดเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมห้องพักเต็มหมดแล้ว ทางรีสอร์ตจึงทำความเข้าใจแก่ลูกค้า และแนะนำสถานที่พักใกล้เคียงให้ ซึ่งลูกค้าก็เข้าใจ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตำรวจไม่สามารถจัดการกับเพจปลอมดังกล่าวได้ เนื่องจากผู้ก่อเหตุอยู่ต่างประเทศ และใช้บัญชีม้าธนาคารในประเทศไทย จึงวอนให้ลูกค้าตรวจสอบก่อนโอน

อย่างไรก็ตาม สำหรับขบวนการของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ก็คือ เปิดเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อเดียวกับรีสอร์ต ทำการบูสต์โพสต์ให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเปิดการมองเห็น หรือแฝงตัวไปตามกลุ่มที่พัก จากนั้นมิจฉาชีพก็จะอ้างว่ามีห้องหลุดจองราคาพิเศษซึ่งถูกกว่าปกติ ให้ลูกค้าจองโดยเร่งให้โอนเงินไปยังบัญชีบุคคล ซึ่งเป็นบัญชีม้าของมิจฉาชีพ จากนั้นลูกค้าติดต่อเพจไม่ได้อีก เมื่อลูกค้าติดต่อไปทางรีสอร์ตจึงทราบว่าถูกหลอก ซึ่งที่ผ่านมาเกิดขึ้นแล้วหลายพื้นที่ ทั้งภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

ก่อนหน้านี้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ เคยออกมาเตือนภัยประชาชนที่จองที่พักก่อนเดินทางในพื้นที่ท่องเที่ยวในหลายจังหวัด ให้ตรวจสอบให้ดีก่อนโอนเงินค่ามัดจำ เนื่องจากในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ มีผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินมัดจำที่พักก่อนเดินทางเข้าพักแต่ไม่สามารถเข้าพักได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

โดยมิจฉาชีพจะสร้างเพจเฟซบุ๊กที่พักปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจเฟซบุ๊กเดิมที่มีผู้ติดตามอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อเพจให้เหมือนกับเพจจริง คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้หลอกลวงผู้เสียหาย และใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น จากนั้นใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตารแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม หรือที่พักต่างๆ โพสต์ข้อความในลักษณะว่ามีที่พักหลุดจองราคาดี

กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้น หรือบัญชีอวตารนั้นได้ หรือกรณีที่แย่ที่สุดเมื่อผู้เสียหายเดินทางไปถึงที่พักจริงแล้ว กลับได้รับแจ้งว่าไม่ได้มีการจองที่พักมาแต่อย่างใด ทำให้นอกจากจะสูญเสียทรัพย์สิน เสียเวลาแล้ว ยังจะไม่มีที่เข้าพักอีกด้วย ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายกว่า 238 ราย ความเสียหายรวมหลายล้านบาท และยังมีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงแต่ไม่ประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น