xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจไซเบอร์ เปิดเผย 7 รูปแบบ เพจเฟซบุ๊กปลอม ที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



โฆษก บช.สอท. เปิดเผย 7 รูปแบบ เพจเฟซบุ๊กปลอม ที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media หรือ Social Network ) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การทำกิจกรรม หรือการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างเพจ เฟซบุ๊กปลอม แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยจากการตรวจสอบจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าสามารถแบ่งรูปแบบของเพจ เฟซบุ๊กปลอมที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกลวงประชาชนได้ จำนวน 7 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1.เพจหน่วยงานราชการปลอม แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นข้าราชการระดับสูง สามารถช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางคดี ให้บริการรับแจ้งความ หรือร้องทุกข์ออนไลน์ รวมถึงการรับทำเอกสารราชการออนไลน์ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น
2.เพจบริษัท ตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวม หุ้นปลอม ชักชวนหลอกลวงให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ เงินดิจิทัล เงินสกุลต่างประเทศ หุ้นพลังงาน เป็นต้น โดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว หรือลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนมาก การันตีผลกำไร แอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านการลงทุน
3.เพจสถาบันการเงิน หรือธนาคารปลอม ชักชวนให้กู้เงิน ปล่อยสินเชื่อ บริการกู้เงินฉุกเฉินในวงเงินสูง โดยอ้างว่า สมัครง่ายอนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่ตรวจสอบเครดิต มีกฎหมาย PDPA คุ้มครอง เป็นต้น มักให้โอนเงินค่ามัดจำ เงินค่าค้ำประกันไปก่อน
4.เพจโรงแรม หรือที่พักปลอมในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ หลอกลวงให้โอนเงินเป็นค่าจองที่พัก เงินประกันต่างๆ
5.เพจห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าออนไลน์ปลอม หลอกขายสินค้าออนไลน์ โอนเงินแต่ไม่ส่งสินค้า แม้ว่าความเสียหายจะไม่มาก แต่ผู้เสียหายมีจำนวนสูงเป็นอันดับที่ 1
6.เพจหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนปลอม รับสมัครทำงานออนไลน์ มักเป็นงานง่ายๆ กดไลก์ กดแชร์ รีวิวสินค้า ที่พัก กดออเดอร์สินค้าเป็นต้น โดยจะให้โอนเงินเข้าไปในระบบให้เพียงพอก่อนถึงจะทำกิจกรรม หรือทำภารกิจได้ เริ่มแรกได้เงินคืนจริงภายหลังถอนเงินไม่ได้
7.เพจปลอมแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลธรรมดา โดยใช้เหตุการณ์สำคัญๆ เช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติธรรมชาติ กิจกรรม โครงการต่างๆ หลอกลวงรับเงินบริจาค หรือเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากประชาชนผู้ใจบุญ
ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างหน่วยงานต่างๆ หลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมายังคงตรวจสอบพบเพจเฟซบุ๊กในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่าเป็นของหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ นอกจากนี้แล้วสิ่งที่สำคัญกว่าการดำเนินการปิดเพจปลอมเหล่านี้ คือ การที่ประชาชนมีสติ ไม่หลงเชื่อง่ายๆ แม้ว่ามิจฉาชีพจะเปิดเพจใหม่มาหลอกลวงอย่างไร ถ้ามีประชาชนมีสติ ไม่หลงเชื่อ ตรวจสอบอย่างรอบคอบเสียก่อน ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันเพจเฟซบุ๊กปลอม ดังนี้
1.ประชาชนที่ได้รับความเสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com เท่านั้น โดยสามารถโทรสอบถามหรือปรึกษาได้ที่ สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000 และไม่มีช่องทางไลน์ในการติดต่อ มีเพียงแชทบอท @police1441 ที่เอาไว้ปรึกษาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
2.โดยปกติหน่วยงานของรัฐจะไม่มีนโยบายในการติดต่อ หรือทำธุรกรรมกับประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบนโยบายของหน่วยงานนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน
3.เพจเฟซบุ๊กปลอมมักมีการซื้อโฆษณาเพื่อการเข้าถึงเหยื่อ และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มักแอบอ้างข้าราชการระดับสูง หรือบุคคลสำคัญๆ และหากตรวจสอบให้ดีจะพบว่ามีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงานที่ไม่สอดคล้องกันกับเพจ
4.เพจเฟซบุ๊กปลอม หากตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ จะพบว่าสร้างขึ้นมาได้ไม่นาน และอาจเคยเปลี่ยนชื่อมาจากเพจอื่นที่น่าสงสัย หรือมีผู้ดูแลเพจอยู่ต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศไทย
5.เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม
6.เพจเฟซบุ๊กจริง มักจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป
7.ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ผ่านสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเด็ดขาด
8.หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา เพราะมักจะเป็นบัญชีม้าที่มิจฉาชีพเตรียมเอาไว้
9.ตรวจสอบให้แน่ใจ โดยการติดต่อไปยังหน่วยงานนั้นๆ ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์โดยตรง เพื่อสอบถาม หรือแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที




กำลังโหลดความคิดเห็น