ดรามาสนั่น! ทุกปี กับภาพอาชีพรับจ้างกินเจแทน พร้อมตั้งคำถามใครได้บุญ หรือทำได้ไหม และยังพบการนำเอาภาพศาลเจ้าชื่อดังที่คนภูเก็ตนับถือไปใช้โดยไม่เกี่ยวข้อง ล่าสุดผู้โพสต์ออกมาขอโทษ พร้อมลบโพสต์แล้ว
วันนี้ (29 ก.ย.) เฟซบุ๊กชื่อว่า ฮกซิ่ว ภูเก็ต - 曾福壽“ หรือ นายกิตติวงค์ จันทร์สัทธรรม นายกสมาคมอ๊ามภูเก็ต ได้โพตส์ภาพ พร้อมระบุข้อความว่า ”มีข้อความสอบถามมาทางเพจ ผมจะทำยังไงดี เห็นแล้วไปไม่เป็น ใครพอมีคำตอบให้บ้างครับ ช่วยหาคำตอบหน่อยนะ คนสร้างคอนเทนต์นี่มันช่างกล้า ถ้าบอกว่าโพสต์เล่นๆ จะบอกว่าไปเล่นที่อื่นแต่ไม่ใช่ที่นี่ “ภูเก็ตบ้านฉาน” ปล. ดีนะที่มันใช้คำว่า กินเจ ถ้าใช้คำว่า กินผัก น่าว่าเป็นคนบ้านเดียวกันแน่”
โดยมีรูปภาพที่มีที่ทราบต่อมาผู้โพสต์คือหนุ่มภูเก็ตคนหนึ่ง โดยข้อความระบุว่า “อยากกินเจ แต่ไม่สะดวกกิน กินไม่ไหว กินไม่ครบ นึกถึงเรา รับงานกินเจ (แทน)
1. กินเจล้างท้องครบ 3 มื้อ 300 บาท
2. กินเจครบ 3 วัน 500 บาท
3. กินเจครบ 5 วัน 700 บาท
4. กินเจครบ 7 วัน 1,000 บาท
5. กินเจครบ 9 วัน 1,200 บาท
6. กินเจครบ 10 วัน และขอพรเจ้า 1,500 บาท
7. กินเจครบ 10 วัน และสวดมนต์ 2,000 บาท
หมายเหตุ : เพิ่มการไปไหว้เจ้าวันธรรมดา 500 บาท/วันตั๋วเจคี้ 1,000 บาท“
ทั้งนี้ ยังพบการนำสัญลักษณ์ของ อ๊ามจุ้ยตุ่ยศาลเจ้าดังที่คนภูเก็ตนับถือไปใช้ ยิ่งทำให้เกิดกระแสดรามาวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายถึงเรื่องความเหมาะสม เป็นเรื่องราวที่อ่อนไหวของคนที่ศรัทธาเลื่อมใสในพิธีกรรม ความเชื่อดังกล่าว และมีชาวเน็ตหลายรายเห็นตรงกันว่า การทำบุญไม่น่าจะทำแทนกันได้ แต่ก็มีชาวเน็ตอีกหลายเสียงมองว่าเป็นความสมัครใจของสองฝ่าย ถ้าคนจ้างสบายใจ คนรับจ้างไม่มีปัญหา ก็ไม่น่าเป็นอะไร
โดยต่อมาพบว่า นายกิตติวงค์ จันทร์สัทธรรม นายกสมาคมอ๊ามภูเก็ต ได้โพสต์ความคืบหน้า โดยชายที่โพสต์รับจ้างกินเจได้ออกมาขอโทษแล้ว และล่าสุดเจ้าของโพตส์ยอมลบภาพและข้อความและขอโทษมายังศาลเจ้าและพี่น้องชาวภูเก็ต โดยระบุว่า "ชื่นชมต่อการออกมาแสดงความรับผิดชอบนี้ คงเป็นประสบการณ์ที่ต้องจดจำและเป็นตัวอย่างให้กับสังคมออนไลน์ในแวดวงอ๊ามให้ต้องตระหนัก, ไต่ตรอง, นึกคิด กับคำว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภูเก็ต” เพราะมันละเอียดอ่อนอย่างมาก จะพิมพ์ จะโพสต์ จะคอมเมนต์อะไร คิดให้รอบคอบนะครับ โพสต์ก่อนหน้านี้ขออนุญาตลบนะ น้องเขาออกมาแสดงสปิริตแล้วครับ ผิดหรือถูก ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ส่วนตัวผม ชื่นชมครับ เป็นกำลังใจให้ครับ"
คลิกโพสต์ต้นฉบับ
อย่างไรก็ตาม พบว่าภาพที่ถูกโพสต์ดังกล่าวเคยถูกโพสต์แล้วเมื่อปีที่แล้ว โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า "อย่าจริงจังกันนะ เป็นแค่คอนเทนต์เรียกเสียงหัวเราะนะจ๊ะ ขอบคุณทุกคน"
คลิกอ่านข่าว ปี 2565 >>> อาชีพใหม่รับจ้างกินเจ ชาวเน็ตถามแล้วใครได้บุญ? ล่าสุดผู้โพสต์แจงเป็นแค่คอนเทนต์