MGR Online - กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จัดสัมมนาทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางฯ รุ่นใหม่ ระยะที่ 4 ก่อนเริ่มกระบวนการปี 67 และนำมาใช้หลังสิ้นสุดสัญญาปี 69 เผยคนไทยมีหนังสือเดินทางแล้ว 14 ล้านเล่ม เล็งเพิ่มคุณลักษณะความปลอดภัย ทำระบบยื่นคำร้องออนไลน์ จ่อพัฒนาหนังสือเดินทางดิจิทัล DTCs
วันนี้ (26 ก.ย.) ในการจัดงานสัมมนาหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของไทย” ซึ่งจัดโดยกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการกงสุลให้บริการหนังสือเดินทางแล้ว 41 ปี ขณะนี้อยู่ภายใต้โครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญา 7 ปี ในวันที่ 4 ก.ค. 2569 จึงเริ่มเตรียมความพร้อมโครงการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 4 ต่อไป หนังสือเดินทางเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการเข้าถึงประชาชน ซึ่งกรมการกงสุลเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางทั้งหมด 25 แห่ง มีคนไทยถือหนังสือเดินทางจำนวน 14 ล้านเล่ม มีสำนักงานสัญชาติและนิติกรให้บริการด้านนิติกรและรับรองเอกสารตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง
ทั้งนี้ หนังสือเดินทางที่ใช้ในปัจจุบันมีคุณลักษณะสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) และมุ่งยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น การจองคิวออนไลน์ การเพิ่มช่องทางชำระค่าธรรมเนียมผ่านพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด บัตรเครดิตและบัตรเดบิต การจัดเก็บภาพม่านตา ภาพใบหน้า และลายนิ้วมือ การร่วมมือกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ติดแผ่นข้อมูลอักษรเบรลล์บนปกหนังสือเดินทาง การเปิดบริการในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่สำนักงานปทุมวันและบางใหญ่ จ.นนทบุรี การจัดหน่วยงานหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ปีละ 12 ครั้ง การให้บริการหนังสือเดินทางต่างประเทศ 94 แห่งทั่วโลก และร่วมจัดโครงการกงสุลสัญจร การใช้นวัตกรรมคีออสก์ (Kiosk) 6 แห่ง และมีแผนขยายอีก 3 แห่ง รวมทั้งการเพิ่มคุณลักษณะที่มากกว่ามาตรฐานไอเคโอ เพื่อป้องกันการปลอมแปลง การเชื่อมระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และการเพิ่มอายุของหนังสือเดินทาง ทั้ง 5 ปี และ 10 ปี
ทิศทางการพัฒนาหนังสือเดินทางของประเทศไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องท้าทายหลังการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัลเทคโนโลยี สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ภัยคุกคามจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กรมการกงสุลได้วางแนวทางในการพัฒนาหนังสือเดินทางในอนาคต เช่น การจัดทำระบบยื่นคำร้องแบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงาน การจัดทำหนังสือเดินทางดิจิทัล Digital Travel Credentials หรือ DTCs การเพิ่มคุณลักษณะความปลอดภัย โดยใช้รูปถ่ายสีแทนรูปขาวดำ และมีโฮโลแกรมภาพบุคคลเสมือนจริงเป็นภาพสีใน Biodatabase
การพัฒนาสำนักงานหนังสือเดินทางทุกแห่งให้เป็นสมาร์ทออฟฟิศ ดังนั้นเพื่อเตรียมการโครงการฯ ระยะที่ 4 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการจัดจ้างผลิตและบริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 4 เพื่อจัดทำแนวทางดำเนินการต่างๆ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำทีโออาร์ (TOR) และดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ในเบื้องต้น คาดว่าจะเริ่มกระบวนการได้ในเดือน ก.ค. 2567 ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งความคาดหวังของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาหนังสือเดินทางและบริการต่อไป
ด้านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวสะท้อนการทูตในยุคประชาธิปไตย ที่ต้องทำงานด้วยความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ให้แนวทางการทำงานในเรื่องสำคัญต่างๆ ปัจจุบันการทูตสาธารณะ (Public diplomacy) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องภายนอกประเทศเท่านั้น ยังเป็นเรื่องภายในประเทศด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ให้แนวทางว่าทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการต่างประเทศ และการต่างประเทศเป็นผลประโยชน์ของประชาชน
สำหรับกรมการกงสุล มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองดูแลคนไทยที่ไปต่างประเทศ หรือพำนักในต่างประเทศ และการจัดทำหนังสือเดินทาง นับตั้งแต่ปี 2548 ได้นำระบบหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ มีการฝังชิปในหนังสือเดินทางและมีการพัฒนามาโดยตลอด จากเดิมการขอหนังสือเดินทางเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ เพราะต้องตรวจสอบประวัติกับตำรวจสันติบาล ภายหลังนายอาสา สารสิน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ได้ให้รองปลัดกระทรวงที่ดูแลงานบริหาร ไปหาทางให้การทำหนังสือเดินทางเร็วขึ้น จึงพัฒนามาเป็น 7 วัน และปัจจุบัน 3 วัน ถ้ากรณีจำเป็นเร่งด่วนสามารถทำได้ภายใน 1 วัน มีสำนักงานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งโครงการบัวแก้วสัญจร และเครื่องคีออสก์
ปัจจุบันเป็นยุคก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี อยากให้หนังสือเดินทางของไทยให้มีความน่าเชื่อถือ เพราะจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และศักดิ์ศรีของประเทศไทยด้วย เพราะขณะนี้กำลังเจรจากับประเทศต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ที่ผ่านมาประเทศไทยให้การยกเว้นวีซ่ากับหลายประเทศ คิดว่าจะได้รับการตอบแทนบ้าง เพราะจะทำให้การเดินทางของคนไทยไปต่างประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวและธุรกิจมีความสะดวกคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พบกับ รมช.ต่างประเทศเยอรมนี โดยได้เจรจาขอยกเว้นเชงเกนวีซ่าให้แก่คนไทยที่จะไปต่างประเทศได้หรือไม่ ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ความน่าเชื่อถือของหนังสือเดินทางประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาในการจัดทำหนังสือเดินทางฯ ระยะที่ 4 ในปี 2567 ต่อไป