xs
xsm
sm
md
lg

Smart Metro Grid นวัตกรรมระบบไฟฟ้าสุดล้ำจาก MEA ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนเมืองสู่ ‘มหานครอัจฉริยะ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



          ทำความรู้จัก Smart Metro Grid นวัตกรรมโครงข่ายไฟฟ้าสุดล้ำจาก MEA ที่มุ่งพัฒนาเพื่อรองรับเมืองมหานครที่กำลังก้าวสู่การเป็น ‘มหานครอัจฉริยะ’ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคดิจิทัลให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีสุดทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ยกระดับทั้งเรื่องของระบบไฟฟ้า งานบริการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งมหานครมีการพัฒนาเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ หนึ่งในความต้องการที่จำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน การดำเนินธุรกิจและการพาณิชย์ ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ดังนั้น มหานครหลายแห่งทั่วโลกจึงเร่งพัฒนานวัตกรรม “ระบบไฟฟ้า” โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า Smart Grid

          Smart Grid คือ เทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจร ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ โดยครอบคลุมระบบทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งไฟฟ้า การจำหน่ายไฟฟ้า ไปจนถึงผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน มหานครหลายแห่งทั่วโลกได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เช่น เมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Smart Grid City แห่งแรก ๆ ของโลก เพราะมีการวางระบบ ติดตั้ง และใช้งาน Smart Grid ตลอดทั้งเมือง หรืออย่างประเทศในแถบเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น ก็มีการลงทุนอย่างจริงจังเพื่อสร้างระบบ Smart Grid ให้เกิดขึ้น ขณะที่สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ก็ได้มีการประกาศวิสัยทัศน์ไว้แน่วแน่ว่า “จะต้องเป็นระบบ Smart Grid อย่างทั่วถึงทั้งประเทศและดีที่สุดในโลก ในปี ค.ศ. 2030” โดยเชื่อมั่นว่า Smart Grid จะช่วยทำให้ประเทศพัฒนาไปสู่สังคมที่เติบโตแบบสีเขียวและคาร์บอนต่ำ


          จะเห็นได้ว่า หลายประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวในเรื่องนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งที่ประเทศไทยของเรา ซึ่ง “การไฟฟ้านครหลวง” (Metropolitan Electricity Authority: MEA) ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เมืองมหานคร ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ มองเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้ไฟฟ้า โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา MEA ได้เร่งเดินหน้าพัฒนาระบบ Smart Grid ภายใต้ชื่อ Smart Grid for Metropolis หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Smart Metro Grid เพื่อร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็น Smart City หรือ “มหานครอัจฉริยะ”

          โดย Smart Metro Grid คือ “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับเมืองมหานคร” ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับโครงข่ายไฟฟ้าอย่างมหาศาล โดยมี Smart Meter เป็นหัวใจหลักในการวัดข้อมูลการใช้ การผลิตพลังงานระหว่างผู้ให้บริการคือ MEA กับผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยการสื่อสาร 2 ทาง ซึ่งข้อดีของระบบนี้ก็คือ ความละเอียดและความแม่นยำในการเก็บข้อมูลและสามารถนำมาประกอบการพิจารณาและตัดสินใจ ส่งผลให้บริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ในการพัฒนาระบบ Smart Metro Grid ขึ้นมานี้ MEA ให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าและสังคมส่วนรวมจะได้รับ โดยมุ่งเน้นยกระดับใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่


         1. ยกระดับความสามารถของระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Excellent Reliability & Power Quality)
          Smart Metro Grid สามารถช่วยให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามีความเสถียร และมีคุณภาพที่สูงขึ้น จากระบบการสื่อสารอย่างทั่วถึงและเท่าทันแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที เช่นกรณีเกิดความขัดข้องหรือไฟฟ้าดับ เทคโนโลยี Smart Metro Grid จะช่วยให้วิเคราะห์หาสาเหตุแห่งปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และลดระยะเวลาของไฟฟ้าดับให้สั้นลง

          ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้ประเมินความสามารถในการรองรับ Solar PV และ EV Charger ของผู้ใช้ไฟฟ้า และรองรับการเติบโตของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้นได้


          2. ยกระดับคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า (Excellent Service)
          ประโยชน์ข้อนี้นับว่าดีต่อใจผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยี Smart Metro Grid มีฐานข้อมูลที่แม่นยำ จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบลักษณะการใช้ไฟฟ้าของตนเอง และบริหารจัดการค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญ ระบบสามารถระบุจุดเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งประเมินระยะเวลาไฟฟ้าดับ และแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ

          นอกจากนั้น ในด้านบริการ Smart Metro Grid ยังพร้อมที่จะสนับสนุนการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือผลิตไฟฟ้าใช้เอง รวมทั้งขายคืนกลับเข้าสู่โครงข่าย เมื่อ Solar PV ถูกเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า


          3. อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Excellent Energy)
          เนื่องจากปัจจุบัน ผู้คนให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด Smart Metro Grid จะเอื้อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งมีส่วนช่วยโลกจากการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

          อีกทั้งปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ดังนั้น MEA จึงมุ่งมั่นพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าควบคู่กับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โดยที่ระบบไฟฟ้ายังสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดมลพิษทางอากาศ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนโยบายการใช้รถ EV อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหัวใจสำคัญคือช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงได้


          ทั้งนี้ ในการพัฒนาระบบ Smart Metro Grid ของ MEA ได้มีการตั้งเป้าที่จะทำให้ครอบคลุมมหานคร 3 แห่ง ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยมีสิ่งที่น่าสนใจและถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการและการใช้ไฟฟ้ามีความสมาร์ทมากขึ้น นั่นก็คือมิเตอร์ที่ก้าวล้ำอย่าง Smart Meter โดยการดำเนินงานในส่วนนี้ของ MEA มี 5 โครงการย่อยที่น่ากล่าวถึง ได้แก่

          1. Advanced Metering Infrastructure (AMI)
          แต่เดิมนั้น มิเตอร์ไฟฟ้าจะเป็นแบบจานหมุน ที่เมื่อถึงเวลาครบกำหนดในแต่ละเดือน เจ้าหน้าที่จะไปจดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าแล้วคำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่าย แต่ Smart Meter ที่พัฒนาขึ้นใหม่ เป็นมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งการรับ-ส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้แบบกึ่งเรียลไทม์ นอกจากจะสามารถอ่านหน่วยวัดไฟฟ้าได้อัตโนมัติ ยังช่วยให้รู้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและย้อนหลัง ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตรวจสอบค่าบริการและข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้ทุกเวลา ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้อย่างคุ้มค่าและประหยัด

         2. Outage Management System (OMS)           
          ก่อนหน้านี้ เมื่อไฟฟ้าดับแต่ละครั้ง อาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องทำหลายขั้นตอน ตั้งแต่แจ้งหน้าที่ให้มาทำการตรวจสอบและวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ แต่ระบบจัดการไฟฟ้าขัดข้องหรือ Outage Management System จะแก้ปัญหาและลดขั้นตอนให้สั้นลง เพราะระบบจะทำการวิเคราะห์และหาสาเหตุของไฟฟ้าดับได้อย่างรวดเร็ว ด้วยข้อมูลที่อยู่ใน Smart Meter ที่สามารถระบุพิกัดของจุดเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง และทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำมาวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันที ทำให้แก้ไขไฟฟ้าขัดข้องได้รวดเร็วขึ้น


          3. Transformer Load Monitoring
          เป็นการนำ Smart Meter มาติดตั้งที่หม้อแปลงจำหน่าย เป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่คอยตรวจจับความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าที่หม้อแปลงจำหน่าย และจะทำหน้าที่แจ้งเตือนทันที หากมีการชำรุดของหม้อแปลงจำหน่าย หรือมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าเกินพิกัด อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลมาจัดการโหลดในแต่ละเฟสได้อย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดปัญหา

          4. Load Aggregator Management System (LAMS)
          จากนโยบายการดำเนินงานด้าน Demand Response ของภาครัฐ ที่มีเป้าหมายในการลดความต้องการการใช้พลังงานสูงสุด ‘Load Aggregator Management System’ คือระบบที่พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมโหลด หรือปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งช่วยให้สามารถจัดการการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่เกิดข้อจำกัดการผลิตไฟฟ้าได้ เช่น การปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำให้ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง เป็นต้น

          5. ICT Integration
          แน่นอนว่า โครงการย่อยทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมา จำเป็นต้องมีระบบที่เชื่อมโยงครอบคลุมการทำงานทั้งหมด ซึ่ง ICT Integration จะทำหน้าที่เสมือนระบบหลังบ้านที่เชื่อมต่อระบบงานต่าง ๆ ภายในโครงการ Smart Metro Grid และระบบงาน MEA ปัจจุบันเข้าด้วยกัน เช่น SCADA, EMS, DMS, ERP และ GIS เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดงบประมาณในการรับ-ส่งข้อมูลและสื่อสารภายในแล้ว ยังรองรับระบบงานใหม่ในอนาคตที่จะช่วยให้การทำงานของ MEA ดียิ่งขึ้น


          และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ พร้อมรองรับการเชื่อมต่อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้า และพร้อมรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในวันนี้และระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นสำหรับอนาคตด้วย

          สุดท้ายแล้ว ต้องยอมรับว่า นี่คืออีกหนึ่งนวัตกรรมซึ่งเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจอันดีของ MEA ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองยุคใหม่ให้สะดวกสบายและง่ายขึ้นกว่าเดิม ตามวิสัยทัศน์ “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า โดยที่ Smart Metro Grid นับเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค Smart Energy และขับเคลื่อนมหานครสู่การเป็น Smart City โดยสมบูรณ์

          เพราะไม่มี Smart City ใด ไม่ใช้ Smart Energy
          MEA พัฒนาและพร้อมดูแลระบบไฟฟ้าเพื่อคนเมืองตลอด 24 ชั่วโมง


Reference:
https://www.usnews.com/news/energy/slideshows/10-cities-adopting-smart-grid-technology

(Advertorial)


กำลังโหลดความคิดเห็น