เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 นางตรัสสา มณีโชติ ผู้อำนวยการกองกลยุทธ์การสื่อสาร ฝ่ายสื่อสารองค์กร MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เป็นผู้แทนร่วมพิธีเปิดและกิจกรรมเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 19 กันยายน ของทุกปี โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดพิธีฯ ภายใต้แนวคิด "การจัดการคลังและวัตถุพิพิธภัณฑ์สู่ความยั่งยืน" ภายในงานมีกิจกรรม Exhibition "Museum Unveiling" พบกับวัตถุหาชมยาก เรื่องราวเชิงลึกของวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่ไม่เคยเปิดเผย กิจกรรม Conservation Lab การ workshop อนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์ กิจกรรม Museum Fair การออกร้านจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ และกิจกรรม Museam Talk การจัดการคลังและวัตถุพิพิธภัณฑ์สู่ความยั่งยืน ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นอกจากนี้ MEA ร่วมโชว์วัตถุจัดแสดงชิ้นสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์กิจการไฟฟ้าไทย เข่น ใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าในอดีต ตั๋วรถราง โมเดลรถราง และป้ายรถราง เป็นต้น ทั้งนี้ ขอเชิญประชาชนร่วมกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 17-19 กันยายน 2566 เวลา 09.30-19.30 น. ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
MEA หรือการไฟฟ้านครหลวงเป็นองค์กรหนึ่งภายใต้กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นกลไกสำคัญในการดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้วางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ กว่าจะมาถึงวันนี้ เราได้สั่งสมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่การไฟฟ้านครหลวงกำลังจะมีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดประสบการณ์ และจุดประกายการเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่เยาวชน โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะร่วมผลักดันในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ณ ที่แห่งนี้ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กิจการไฟฟ้าไทยเป็นอย่างมาก เคยเป็นสำนักงานของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด และเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าวัดเลียบซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพระนคร MEA จึงมีความตั้งใจในการอนุรักษ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย ซึ่ง ณ ปัจจุบัน MEA กำลังบูรณะอาคาร 1 ของการไฟฟ้านครหลวง เขตวัดเลียบ เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย หรือในชื่อ MEA SPARK สถานที่ที่จะจุดประกายการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดของการไฟฟ้าไทย และส่งมอบความภาคภูมิใจของการไฟฟ้านครหลวง กระทรวงมหาดไทย ไปสู่ความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน โดยจะสามารถเปิดให้เข้าชมได้ในปี 2568 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยแล้วเสร็จ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคม และประเทศชาติ เพิ่มคุณภาพชีวิตสร้างความสุขของประชาชนที่ได้เข้าชม รวมถึงเป็นสถานที่สำคัญ Landmark ใหม่ของเมืองมหานคร และกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้แห่งใหม่ ที่ทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล ตอบโจทย์อนาคตของการเรียนรู้ของผู้คนในสังคมที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ผ่านประสบการณ์ตรง ณ สถานที่จริง เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้สำหรับประเทศไทยต่อไป