xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ “ชิปหาย” แบนจีนแต่ฆ่าตัวเอง หัวเว่ย Mate 60 Pro ตัวเปลี่ยนเกม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” ชี้ “หัวเว่ย” เปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ Mate 60 Pro คือตัวเปลี่ยนเกมสงครามเทคโนโลยีจีน-สหรัฐฯ เพราะมือถือรุ่นนี้ใช้ชิปขนาด 7 นาโนเมตรที่จีนผลิตได้เอง หลังจากถูกอเมริกาแบนมา 3 ปี ทำให้จีนพัฒนาชิปประสิทธิภาพสูงของตัวเองสำเร็จ และทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมใหม่ไม่หยุดยั้ง ส่งสัญญาณหลังจากนี้จีนจะพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยีได้อย่างสมบูรณ์แบบ และโลกตะวันตกที่รวมหัวกีดกันจีนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียเอง



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือหัวเว่ย (Huawei) รุ่น เมท 60 โปร (Mate 60 Pro) ว่า มีนัยและผลกระทบหลายมิติ ทำให้เห็นว่าในขณะนี้สหรัฐอเมริกากำลังตกเป็นเบี้ยล่างของจีนในสงครามเทคโนโลยี

ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน 2566 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา หรือ ช่วงเช้าวันพุธที่ 13 กันยายน 2566 ตามเวลาในบ้านเรา มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนชื่อดังในสหรัฐฯ นั้นคือ iPhone 15 ของบริษัทแอปเปิล แต่ก่อนที่ไอโฟน 15 จะออกวางจำหน่ายนั้น ในสหรัฐอเมริกา และในโลกตะวันตก ข่าวการเปิดตัวโทรศัพท์สมาร์ทโฟนอีกรุ่นหนึ่งของจีน คือ บริษัทหัวเว่ย ที่เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่น Huawei Mate 60 Pro


เป็นการเปิดตัวแบบ “สายฟ้าแลบ” กล่าวคือ
- ไม่ได้มีการนัดแถลงข่าวล่วงหน้า
- ไม่ได้มีการแจ้งผู้สื่อข่าวว่าจะวางจำหน่ายโทรศัพท์รุ่นนี้ในวันดังกล่าว
- ไม่ได้มีการทุ่มโฆษณาอย่างมากมายมหาศาล โดย หัวเว่ย เพียงเปิดให้ลูกค้าจองล่วงหน้า และแจ้งผู้จองว่าสามารถไปรับเครื่องได้วันแรก ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2566 คือ วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566

มีข้อสังเกตว่าหัวเว่ย เปิดตัววางจำหน่าย Mate 60 Pro ก่อนที่แอปเปิลจะเปิดตัว iPhone 15 ราว 2 สัปดาห์


แม้จะเปิดตัวอย่างเงียบ ๆ ไม่มีงานแถลงข่าว ไม่มีการโฆษณา แต่ว่าตอนนี้โทรศัพท์รุ่นนี้ขาดตลาดหาซื้อกันไม่ได้แล้ว แม้ว่าจะราคาค่อนข้างสูงคือ 6,999 หยวน หรือราว 34,000 บาท โดยจะวางจำหน่ายเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น

แต่ว่าคนที่ตื่นเต้นกับ Huawei Mate 60 PRO ไม่ใช่เฉพาะคนจีน แต่เป็นฝรั่งตะวันตกด้วย ทั้ง ๆ ที่สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ไม่ได้วางขายในตลาดต่างประเทศเลย

ทั้งนี้ นอกจากเปิดตัวก่อนหน้า iPhone รุ่นใหม่เป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดของหัวเว่ย ยังเปิดตัวในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ นางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ที่เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการตบหน้ารัฐมนตรีสหรัฐ ที่รับผิดชอบมาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีต่อจีน

นางจีนา ไรมอนโด รมต.พาณิชย์ของสหรัฐฯ พบกับนายหลี่ เฉียง ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
นางไรมอนโดบอกกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีนว่า ต้องการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนที่มีมูลค่าสูงถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 24 ล้านล้านบาท และย้ำว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ฝากให้แสดงจุดยืนว่า สหรัฐฯ ไม่ได้คิดจะ“แยกทาง”กับจีน

ทว่า รัฐมนตรีพาณิชย์หญิง สหรัฐฯ กลับแสดงท่าที“หน้าไหว้หลังหลอก”โดยปฏิเสธคำขอของฝ่ายจีนที่ให้ลดมาตรการควบคุมการส่งออก โดยอ้างว่าสหรัฐฯ จะไม่เจรจาในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ

นางไรมอนโด หารู้ไม่ว่า ในวันเดียวกับที่เธอเดินทางเยือนจีน และกล่าวปฏิเสธ บอกปัดคำขอของจีนให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการการส่งออก วันนั้นเอง จีนก็ได้ทำการเปิดตัว Huawei Mate 60 PRO อันเป็นส่งสัญญาณของจีน ไปถึงสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า จีนสามารถทลายมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ได้สำเร็จแล้ว และไม่จำเป็นต้องเป็น “เบี้ยล่างทางเทคโนโลยี” อีกต่อไป


คำถามที่น่าสนใจก็คือ Huawei Mate 60 PRO มีดีอย่างไร? ทำไมจึงไม่ใช่สมาร์ทโฟน ธรรมดา ๆ แต่เป็น Game Changer ที่ทำให้สื่อตะวันตก และสื่อทั่วโลกถึงกับต้องหยิบยกมากล่าวถึง และวิเคราะห์กันอย่างละเอียดยิบ

เป็นเรื่องเป็นราว ถึงขั้นที่สำนักข่าวอย่าง Bloomberg ต้องวิ่งหาซื้อโทรศัพท์รุ่นนี้มาให้ผู้เชี่ยวชาญถอดออกมาเป็นชิ้น ๆ และวิเคราะห์กันแบบชิ้นต่อชิ้นว่า จีน และบริษัทหัวเว่ยทำอย่างไรจึงสามารถ ทลายกำแพงการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้อย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

รายงานข่าวการถอดโทรศัพท์ Huawei Mate 60 Pro ของบลูมเบิร์กออกมาเป็นชิ้น ๆ เพื่อวิเคราะห์ว่า จีนผ่าทางตันการแซงก์ชันของสหรัฐฯ จนสามารถผลิตสมาร์ทโฟน 5G ที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่สุดได้อย่างไร ?
Huawei ดับอหังการ์สหรัฐคว่ำบาตรเทคโนโลยีจีน

วันที่ 29 สิงหาคม 2566  วันแรกที่ Huawei Mate 60 Pro เปิดตัววางจำหน่าย ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม โดยลูกค้าไปต่อคิวกันหน้าร้านหัวเว่ย ในเมืองใหญ่ของจีนเพื่อรอเข้าไปรับเครื่องยาวเฟื้อย ทำให้สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ จำหน่ายหมดสต็อก 800,000 เครื่องภายใน 2 วันแรก ทำยอดขายทะลุ 1 ล้านเครื่องภายในระยะเวลา 5 วัน มีการคาดการณ์ว่า หัวเว่ย จะสามารถสมาร์ทโฟนรุ่น Mate 60 และ Mate 60 PRO ได้มากกว่า 15 ล้านเครื่อง

สำนักวิจัยการตลาด IDC คาดการณ์ว่า สมาร์ทโฟน Mate 60 และ Mate 60 Pro ของหัวเว่ย น่าจะสามารถจำหน่ายได้มากถึง 15 ล้านเครื่อง แม้จะวางจำหน่ายแค่ในประเทศจีน (เปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2566 ที่หัวเว่ยจำหน่ายสมาร์ทโฟน ทุกรุ่นของบริษัทได้เพียง 14.3 ล้านเครื่องเท่านั้น)
คำถามสำคัญก็คือทำไมการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นเดียวของหัวเว่ย คือ Huawei Mate 60 Pro ถึงสร้างกระแสฮือฮา และแรงกระเพื่อมให้กับโลกเทคโนโลยีไปจนถึง เศรษฐกิจธุรกิจ ห่วงโซ่อุปทานการผลิต ไปจนถึงการเมือง-การต่างประเทศอย่างมากมายมหาศาล จนถึงขั้นว่า การเปิดตัว Huawei Mate 60 Pro นี้ถือเป็น Game Changer หรือแปลเป็นไทย ตัวเปลี่ยนเกมเทคโนโลยี ครั้งใหญ่ในรอบสิบปีก็ว่าได้

เมื่อพิจารณาลงไปในคุณสมบัติเด่น ๆ ของโทรศัพท์รุ่นนี้จะพบว่า

-Mate 60 Pro เป็นสมาร์ทโฟนที่สนับสนุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วสูง ระบบ 5G ทั้งยังทำความเร็วในการดาวน์โหลดได้ทัดเทียม หรือ เหนือกว่า โทรศัพท์ 5G ของยี่ห้อและรุ่นอื่น ๆ ที่วางจำหน่ายในต่างประเทศ เสียด้วยซ้ำ


- สามารถใช้งานผ่าน “ดาวเทียม” (satellite connectivity) เมื่ออยู่นอกพื้นที่การให้บริการของเครือข่ายภาคพื้น ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมาก ในพื้นที่ห่างไกล หรือ ในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยการเชื่อมต่อกับระบบดาวเทียมของ Mate 60 Pro นั้นไม่ใช่แค่การส่ง message หรือ sms แบบทางเดียว เหมือนที่มีในไอโฟน แต่เป็นการสื่อสารสองทาง ที่สามารถโทรศัพท์หาปลายทาง อีกทั้งยังสามารถทำวีดิโอ คอลล์ (Video Call) ผ่านการเชื่อมต่อดาวเทียมได้อีกด้วย


- นอกจากนี้หัวเว่ยยังได้พัฒนาระบบไวไฟ, บลูทูธ และระบบจัดการพลังงานของตัวเอง และจับยัดเข้ามาใส่ไว้ในโทรศัพท์รุ่นนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามคำตอบสำคัญของการเป็น Game Changer ของ Huawei Mate 60 Pro นั้นไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติข้างต้น หรือรูปลักษณ์ภายนอก แต่ทุกอย่างอยู่ “ข้างใน” โดยองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของสมาร์ทโฟนในยุคนี้ก็คือ ชิป (Chips) หรือ แผงวงจรขนาดจิ๋ว ที่ถือเป็นหัวใจของสมาร์ทโฟนทุกรุ่น

สาเหตุที่ Huawei Mate 60 PRO กลายเป็น Talk of the Town หรือ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น Talk of the World ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเปิดตัววางจำหน่ายในประเทศจีนเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เพราะว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ ใช้ชิปที่มีชื่อรุ่นว่า Kirin 9000s ผลิตโดยบริษัท SMIC ซึ่งย่อมาจาก Semiconductor Manufacturing International Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนเอง


โดย Kirin 9000s นั้น ใช้เทคโนโลยีการผลิตชิประดับ 7 นาโนเมตรซึ่งระบุชัดว่า Made in China หรือ ผลิตขึ้นเองในจีน ทั้งหมด

Huawei Mate 60 PRO เป็นสมาร์ทโฟนเทคโนโลยี 5G รุ่นแรกที่หัวเว่ยวางจำหน่าย ภายหลังจากหัวเว่ยถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะนั้น คว่ำบาตรทางเทคโนโลยีตั้งแต่ปี 2562

วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ประธานาธิบดีทรัมป์ ออกคำสั่งทางการบริหาร (Executive Order) ที่มีเนื้อหาระบุว่า ห้ามบริษัทสัญชาติอเมริกันใช้อุปกรณ์สื่อสารของต่างชาติที่ อาจ เป็นภัยความมั่นคง (ซึ่งแม้จะไม่ระบุชื่อ Huawei แต่พุ่งเป้าโดยตรงไปที่บริษัทหัวเว่ยของจีน)
จากการคว่ำบาตรครั้งนั้น ทำให้หัวเว่ยไม่สามารถซื้อหาเมมโมรีชิปเทคโนโลยีล่าสุดได้ จนไม่สามารถผลิตสมาร์ทโฟน 5G รุ่นใหม่ ๆ ได้นานกว่า 3 ปี

การเปิดตัว Huawei Mate 60 PRO ครั้งนี้ แม้ว่าจะวางจำหน่ายเฉพาะในตลาดในประเทศจีนเท่านั้น จึงถือเป็นชัยชนะของจีนต่อมาตรการคว่ำบาตร ที่สหรัฐใช้เพื่อสกัดกั้นการเติบโตทางเทคโนโลยีของจีนมานานกว่า 4 ปี

ทั้งนี้ มาตรการการคว่ำบาตรดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อหัวเว่ยตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อนนั้นมุ่งเป้าไปที่
-การฉุดรั้ง และจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตชิปของจีน ให้อยู่ที่ 14 นาโนเมตร ซึ่งถือว่าห่างจากเทคโนโลยีล่าสุด 3 นาโนเมตร (อย่าง iPhone 15 ที่กำลังจะวางขายจะใช้ชิป A17 ที่ผลิตโดยบริษัท TSMC ของไต้หวัน) ประมาณ 7 ปี


-อย่างไรก็ตาม การที่ Huawei Mate 60 Pro สามารถทลายกำแพงนั้นได้คือ ใช้ชิป Kirin 9000s ที่มีเทคโนโลยี 7 นาโนเมตร(nm) พิสูจน์ว่าเทคโนโลยีจีนกำลังไล่กวดเข้ามาแล้ว เพราะเทคโนโลยีชิป 7nm นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ไล่หลังเทคโนโลยีล่าสุดอยู่เพียงแค่ราว 5 ปีเท่านั้นและด้วยความมุ่งมั่น ขยันในการพัฒนา ทำงานวิจัย ที่หัวเว่ยและประเทศจีนทุ่มลงไปในเรื่องของชิปเทคโนโลยีระยะทาง 5 ปีนั้นอาจจะยาวเกินไป ไม่เกิน 2-3 ปีนี้ จีนก็จะเริ่มกระโดดก้าวไปสู่ 3 นาโนเมตรแล้ว

ชาร์ต Nanosheet จาก TSMC ระบุชัดเจนว่า เทคโนโลยีการผลิตชิปประมวลผลขนาด 7 นาโนเมตร นั้นอยู่ห่างจากเทคโนโลยีล่าสุดประมาณ 5 ปี ซึ่งการเปิดตัว Huawei Mate 60 Pro ซึ่งใช้ชิป Kirin 9000s ที่มีเทคโนโลยี 7nm นั้นเป็นบทพิสูจน์ว่าจีนได้ทลายกำแพง 14 นาโนเมตรที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว

ภาพเปรียบเทียบเทคโนโลยีชิปประมวลผลที่ใช้เทคโนโลยี 14nm กับ 7nm อันจะเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างของขนาด

ชิปประมวลผลที่มีขนาดเท่ากัน แต่ ภาพซ้าย คือ ชิปประมวลผลที่ใช้เทคโนโลยี 14nm ซึ่งสามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋วซึ่งใช้ควบคุมกระแสไฟฟ้า) 3,500 ล้านตัว ส่วน ภาพขวา คือ ชิปประมวลผลที่ใช้เทคโนโลยี 7nm ซึ่งสามารถบรรจุดทรานซิสเตอร์ได้มากถึง 9,800 ล้านตัว (มากกว่าชิปขนาด 14nm ถึง 2.8 เท่าตัว ) โดยจำนวนทรานซิสเตอร์ที่มากขึ้นก็หมายถึงพละกำลัง และประสิทธิภาพในการประมวลผลของชิปนั้น ๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากตัว “ชิปประมวลผล” เองแล้ว การคว่ำบาตรจีนออกจากอุตสาหกรรมชิปนั้น สหรัฐฯ ไม่ได้กระทำเฉพาะการแบนบริษัทอเมริกันจากการขายชิปให้ หัวเว่ย หรือบริษัทไฮเทคของจีนเท่านั้น

แต่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำทั้งหัวเว่ยและ SMIC โดยห้ามบริษัททุกประเทศทั่วโลกใช้เทคโนโลยีของสหรัฐในการผลิตไมโครชิปให้กับบริษัทของจีน ทั้งบริษัทผลิตไมโครชิปของไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมถึงญี่ปุ่น

นอกจากนี้ สหรัฐยังล็อบบี้บริษัท ASML ของเนเธอร์แลนด์ไม่ให้ขายเครื่องจักรผลิตชิปให้กับ SMIC อีกด้วย แต่เมื่อHuawei Mate 60 PROเปิดตัวขึ้นโดยใช้ชิป 5G ซึ่งสหรัฐพยายามทุกวิถีทางไม่ให้จีนผลิตได้ บรรดาฝรั่งตะวันตกจึงตกตะลึงว่า จีนทำได้อย่างไร? มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐบีบบังคับผู้ผลิตชิปทั่วโลกถูกพิสูจน์ว่า ไม่สามารถหยุดยั้งจีนได้

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมึน จีนผลิตชิปไฮเทค เองได้ยังไง?

วันที่ 5 กันยายน 2566 ภายหลังจากการวางจำหน่าย Huawei Mate 60 Pro ได้ราว 1 สัปดาห์ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่าจะดำเนินการสืบสวนว่า บริษัทของจีนสามารถผลิตชิปไฮเทคได้อย่างไร มีใครฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือไม่

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา
เมื่อสื่อ และหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ตรวจสอบ ชิป Kirin 9000s ขนาด 7 นาโนเมตร ที่ Huawei Mate 60 PRO ใช้ ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่า Kirin 9000s อาจใช้ต้นแบบมาจากเมมโมรีชิปที่ผลิตโดย SK Hynix จากเกาหลีใต้ ที่หัวเว่ยซื้อมาสต็อกเอาไว้ตั้งแต่สหรัฐฯ จะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร แต่ว่าทาง SK Hynix ของเกาหลีใต้ก็ยืนยันว่า ปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการส่งออกของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด และยินดีจะให้ตรวจสอบ

.
กระทั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบุว่า ชิป Kirin 9000s มีโครงสร้างคล้ายกับชิปที่ผลิตโดย SMIC โดยบนชิประบุชื่อ HiSilicon ซึ่งเป็นหน่วยงานออกแบบชิปของหัวเว่ยอาจเป็นผู้ผลิตขึ้น โดย “หัวเว่ย” อาจจะซื้อเทคโนโลยีและอุปกรณ์จาก SMIC เพื่อผลิตชิป Kirin 9000s ขึ้นด้วยตัวเอง หลังจากที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2562

ย้อนอดีต ตัวประกัน “เมิ่ง หว่านโจว” ถึงปัจจุบันสหรัฐฯ พ่ายแพ้อย่างราบคาบ

รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ เคยพูดถึงเรื่องนี้เรื่อยมาตั้งแต่การจัดรายการในช่วงแรก ๆ ก็คือ Ep.36 ตอน “ทำไม อเมริกาถึงกลัวหัวเว่ย?” ออกอากาศเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563

นอกจากนี้ต่อมา ยังเล่าให้ฟังถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของการที่สหรัฐฯ จับเอา นางเมิ่ง หว่านโจว CFO ของหัวเว่ย และบุตรสาวของ เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย เอาไว้เป็นตัวประกัน


ทั้งนี้ นางเมิ่ง หว่านโจว ถูกจับกุมตัวระหว่างที่แวะเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ตามหมายจับของสหรัฐฯ ในข้อกล่าวหาฉ้อโกงธนาคาร ชี้นำธนาคารเอชเอสบีซี โฮลดิ้ง ในทางที่ผิดเกี่ยวกับธุรกรรมของหัวเว่ยในอิหร่าน เป็นเหตุให้ HSBC ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยเธอถูกจับกุมตัวไว้ที่แคนาดายาวนานเกือบ 3 ปี ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวกลับจีน เมื่อ 25 กันยายน 2564เธอกลับจีนในฐานะที่เป็นฮีโร่ เดินลงจากเครื่องบิน ซึ่งจีนส่งแอร์ไชน่า โบอิ้ง 747 ไปรับเธอมาคนเดียวเลย คนในประเทศจีนปรบมือให้กับเธอ เพราะเธอเป็นวีรสตรีของจีนที่ไม่หวั่นกลัวอำนาจของอเมริกาที่จับเธอ เธอลุกขึ้นมาสู้ เปิดหน้าชก เธอจ้างทนายแล้วเธอก็ฟาดฟันกลับไป

การคว่ำบาตรขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2562 ไม่ประสบความสำเร็จ ที่จะตัดแขนตัดขายักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของจีนให้พิการ แต่หัวเว่ย กลับทำให้โลกตะลึงด้วยการเปิดตัวHuawei Mate 60 Pro ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ นับเป็นฝันร้ายของอเมริกาทีเดียว

โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสมาร์ทโฟนของจีน ‘หัวเว่ย’ ที่ประกาศชัยชนะเหนือสหรัฐอเมริกาที่เจตนาคว่ำบาตรจีน ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย ไม่ยอมให้หัวเว่ยใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งเจ้าของคือบริษัท Google หรือ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และอยู่ภายใต้การควบคุมของของสหรัฐฯ ในตลาดต่างประเทศได้ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดและยอดขายทั่วโลกของหัวเว่ยที่ผงาดขึ้นเป็นคู่แข่งของ แอปเปิล และซัมซุงลดลงจากปีทอง 2562-2563 ที่หัวเว่ยส่งออกสมาร์ทโฟนได้ 240.6 ล้านเครื่อง

.
จากกราฟข้างบนจะเห็นได้ชัดว่าช่วงปี 2564-2565 รายได้ของหัวเว่ยตกลงอย่างฮวบฮาบภายหลังการประกาศการขึ้นบัญชีดำ Huawei ของสหรัฐอเมริกาในปี 2563 (ค.ศ.2563)

เพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยประสบปัญหาในการจำหน่ายในตลาดนอกประเทศจีน (รวมถึงประเทศไทยด้วย) เนื่องจากไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการ Android ได้ หัวเว่ยจึงต้องสร้างระบบปฏิบัติการ หงเมิ่ง หรือ Harmony OS ขึ้นมาใช้ในจีนเอง


ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯ โน้มน้าวให้หลายประเทศในโลกตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา เดนมาร์ก สวีเดน เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ให้แบนหัวเว่ย จากเครือข่าย 5G ใหม่ของพวกเขา ยิ่งทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟน ของ Huawei ลดลง ส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกของ Huawei ในปี 2563 ลดลงเหลือ 15 %

แต่หัวเว่ยสู้กลับด้วยการพึ่งพาเทคโนโลยีของของตัวเองแบบ “จีนทำ-จีนใช้-จีนเจริญเอง” การคว่ำบาตรไม่ได้ทำให้ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของจีนหยุดชะงักลง แต่เป็นแรงผลักดันให้หัวเว่ยเริ่มสำรวจตลาดและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ


เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ผลประกอบการหัวเว่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 รายได้รวมของหัวเว่ยอยู่ที่ประมาณ 310,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกันปีต่อปี โดยและอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 15.0%

Huawei Mate 60 PROเป็นประจักษ์พยานที่พิสูจน์ว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเทคโลยีของสหรัฐฯ ไม่สามารถทำให้จีนพ่ายแพ้ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ยิ่งถูกกดดันบีบคั้น จีนก็ยิ่งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อปลดแอกจากการพึ่งพาต่างชาติ

และในวันนี้ จีนสามารถเป็นอิสระทางเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนได้ครบทั้ง 3 องค์ประกอบหลัก คือ

1. ฮาร์ดแวร์ ซึ่งชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ไมโครชิป : หัวเว่ยสามารถผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรได้ด้วยตัวเอง และบริษัทอื่น ๆ ของจีนก็กำลังวิจัยเทคโนโลยีไมโครชิปอย่างขะมักเขม้นเช่นกัน

2. ระบบปฏิบัติการ :
ปัจจุบันระบบปฏิบัติการหลักของสมาร์ทโฟนในโลกนี้มีอยู่ 2 ระบบ คือ iOS ของค่ายแอปเปิล และ Android ของค่ายกูเกิล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทของสหรัฐฯ และอยู่ในความควบคุมของวอชิงตัน แต่หลังจากสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตร ทำให้มือถือที่ผลิตโดยหัวเว่ยไม่สามารถใช้ระบบ Android ได้ หัวเว่ยจึงได้พัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองที่ชื่อว่า ฮาร์โมนี (Harmony OS) โดยสมาร์ทโฟน สมาร์ทวอช และอุปกรณ์เทคโนโลยีของหัวเว่ยได้เปลี่ยนผ่านเลิกใช้ระบบแอนดรอยด์ ไปใช้ระบบปฏิบัติการฮาร์โมนี ทั้งหมดแล้ว


3. แอปพลิเคชั่น : ขณะที่ผู้คนทั่วโลกต้องพึ่งพาแอปพลิเคชั่นอย่าง กูเกิล, ยูทูป, X (ชื่อใหม่ของทวิตเตอร์) และเฟชบุ๊กแต่ในประเทศจีนได้สั่งแบน ห้ามการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นเหล่านี้

ชาวต่างชาติวิจารณ์ว่า รัฐบาลจีนปิดกั้นคนจีนไม่ให้ใช้แอปพลิเคชั่นของต่างชาติ ปิดหูปิดตาประชาชน ทำให้สังคมล้าหลัง แต่ว่านั่นเป็นทัศนะของชาวต่างชาติที่ต้องพึ่งพา “ระบบนิเวศทางเทคโนโลยี” ของชาติตะวันตก ผู้สื่อข่าวที่เคยประจำที่ประเทศจีน พบว่า ประชาชนชาวจีนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความยากลำบากแม้แต่น้อยในชีวิตประจำวัน ชาวจีนใช้สมาร์ทโฟนในการจ่ายเงินซื้อสินค้าแพร่หลายยิ่งกว่าประเทศอื่น ๆ , สื่อสังคมออนไลน์ และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เราใช้กันเป็นประจำทุกวัน คนจีนก็มีแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่าเป็นแอปพลิเคชั่นของจีนเอง

การมี “ระบบนิเวศทางเทคโนโลยี” ของตัวเองจึงไม่ใช่ความล้าหลัง แต่เป็นความก้าวหน้าที่สามารถพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยีได้ ไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตก ที่เผยแพร่ข่าวสารตามทัศนะของตัวเอง เซนเซอร์ข้อมูลที่ตัวเองไม่พึงประสงค์ ถึงแม้ว่าบางเรื่องจะเป็นความจริงก็ตาม และที่สำคัญก็คือ รายได้จากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นของบริษัทสัญชาติจีน ไม่ใช่ของบริษัทต่างชาติ

จีนเอาคืน สั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐใช้ ไอโฟน และสมาร์ทโฟนต่างชาติ


เมื่อไม่กี่ปีก่อน ในช่วงกลางปี 2563 “หัวเว่ย” เคยเป็นแบรนด์ที่มียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนสูงที่สุดของโลก แซงหน้าซัมซุงและแอปเปิล แต่หลังจากหัวเว่ยเผชิญมาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ จนไม่สามารถวางตลาดสมาร์ทโฟน 5G รุ่นใหม่ได้ หนึ่งในคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือ แอปเปิล

ส่วนแบ่งการตลาดของ“หัวเว่ย”ในจีนลดลงจาก 27% ในปี 2563 เหลือ 11% ในปี 2566 นี้

ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของ “ไอโฟน” ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำรายได้ในจีนเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 19% ทิม คุก CEO ของแอปเปิล เดินทางเยือนประเทศจีนหลายครั้ง และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากทางการจีน


แต่หลังจาก Huawei Mate 60 PRO เปิดตัวได้เพียงไม่กี่วัน วันที่ 7 กันยายน 2566 ทางจีนก็ได้ออกประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง, รัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศใช้ไอโฟนและโทรศัพท์แบรนด์ต่างชาติ เป็นอุปกรณ์ในการทำงาน

ประกาศดังกล่าวส่งผลให้ หุ้นบริษัทแอปเปิ้ลร่วงลง 6.4% สูญเสียมูลค่าไปราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7.1 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่ช่วงวันที่ 6-7 กันยายนที่ผ่านมา


เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ ที่สำคัญที่สุดของแบรนด์ โดยยอดขายไอโฟนในจีน (รวมไต้หวันและฮ่องกง) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20-25% หรือราว 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 ของยอดขายทั่วโลกของแอปเปิล

ทั้งนี้ กระทรวงและหน่วยงานส่วนกลางของจีน ได้จำกัดการใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างประเทศในการทำงานอย่างตั้งแต่ช่วงปี 2563 หลังจากนั้น มาตรการดังกล่าวได้ขยายไปบังคับใช้กับพนักงานของรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งระดับจังหวัดและเมือง และล่าสุดขยายไปจนครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ

พนักงานคนหนึ่งของบริษัทในกรุงปักกิ่งที่รัฐบาลเป็นเจ้าของกล่าวว่า เธอได้รับแจ้งเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ ประกาศล่าสุดรวมถึงห้ามนำหูฟังไร้สาย Airpods และ นาฬิกาแอปเปิลวอตช์ เข้าไปในที่ทำงาน โดยคำสั่งห้ามมีผลบังคับใช้กับแผนกที่เกี่ยวข้องกับความลับทางการค้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ และจะบังคับใช้กับพนักงานทุกคนอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 หรือต้นปีหน้า


บริษัทของรัฐหลายแห่งในจีนได้ “แนะนำ” ให้พนักงานหลีกเลี่ยงการใช้ไอโฟนมาตั้งแต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้นำไอโฟนไปใช้ในการทำงานนับตั้งแต่ที่มีประกาศ แม้ว่าหลายคนจะใช้ไอโฟนในชีวิตส่วนตัวก็ตาม

ประกาศล่าสุดที่เพิ่มความเข้มงวด และขยายการบังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อยอดขายของไอโฟน และสินค้าอื่น ๆ ของแอปเปิลในจีน อย่างแน่นอน เพราะว่าจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนในปี 2564 ระบุว่าจีนมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และพนักงานของรัฐวิสาหกิจรวมกว่า 56.33 ล้านคน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ แอปเปิลก็คาดว่าในปีหน้า 2567 บริษัทจะสามารถขายไอโฟนในจีนได้ 45 ล้านเครื่อง

ถ้าจีนสั่งแบนไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ใช้ไอโฟน แล้วจะเกิดสถานการณ์ที่ คู่ค้า และเอกชนจีน รวมถึงประชาชนชาวจีนอื่น ๆ จะชะลอการซื้อสินค้าจากแอปเปิลอีกหรือไม่?

ลองคิดดูว่า อยู่ ๆ ลูกค้าหายไป 50 ล้านคน หรืออาจจะ 100 ล้านคน มากกว่าประชากรของประเทศไทยทั้งประเทศอีก แอปเปิลจะได้ผลกระทบจนแทบกระอักเลือดหรือไม่?

จากกรณีดังกล่าว สหรัฐฯ จึงพยายามออกมาโวยวายว่า จีนกำลังใช้มาตรการกีดกันทางการค้า แต่ฝ่ายจีนถือคติ “ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย”

เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งแบนห้ามใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมของหัวเว่ยและ ZTE Corporation บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อีกแห่งของจีน โดยอ้างว่าอุปกรณ์ของบริษัททั้ง 2 มี "ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้" ต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ สหรัฐยังห้ามสมาชิกรัฐสภา และผู้แทนราษฎรของหลายเมืองใช้แอปพลิเคชั่น TikTok ในสมาร์ทโฟน โดยอ้างว่ารัฐบาลจีนอาจจะล้วงความลับข้อมูลของผู้ใช้ เพราะ TikTok มีบริษัทแม่เป็นของบริษัทสัญชาติจีน

คว่ำบาตรทางเทคโนโลยี สหรัฐฯ เล่นเองเจ็บเอง

ไม่เพียงแต่ ไอโฟน และอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ รวมถึงแกดเจ็ตของแอปเปิลที่จะได้รับผลกระทบจาก “มาตรการโต้กลับ” ครั้งนี้ของจีน ที่มีหัวหอกเป็น สมาร์ทโฟน Mate 60 Pro ของหัวเว่ย


แต่ มาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีของสหรัฐที่ใช้กับจีนส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย รวมทั้งสหรัฐฯ เองด้วย “พันธมิตรไมโครชิป”หรือChip 4 Allianceคือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวันที่รวมตัวเพื่อกีดกันจีน ล้วนแต่ต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับจากการร่วมมือกับจีน กล่าวคือ

สหรัฐ : ผู้ผลิตไมโครชิป 3 รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกอบไปด้วยIntel, Qualcomm, Nvidia เคยมีจีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของรายรับรวมมูลค่า 52,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 มีการประเมินว่า บริษัทผลิตชิปของสหรัฐจะสูญเสียรายได้ราว 2,500 ล้านดอลลาร์ฯ (ราว 90,000 ล้านบาท) จากมาตรการคว่ำบาตรต่อจีน


ผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐ บอกว่า “แน่นอนว่าในระยะสั้น จีนจะเจ็บ แต่ในระยะยาว การแทรกแซงทางการเมืองเช่นนี้จะบีบให้บริษัทของจีนต้องหาทางเลือกอื่น และหากบริษัทจีนมีทางเลือกอื่นแล้ว ก็จะไม่มาซื้อของกับผู้ผลิตของสหรัฐฯอีกเลย”

ชัยชนะของหัวเว่ยต่อการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อซัพพลายเออร์เทคโนโลยีเดิมรวมทั้งบริษัทชิปของอเมริกา เช่น Intel, Qualcomm รวมไปถึง NVIDIA ซึ่งสูญเสียรายได้มหาศาล ทำให้งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทลดลง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของบริษัทที่จะเกิดขึ้น

นายแพท เกลซิงเกอร์ ซีอีโอของอินเทล
นายแพท เกลซิงเกอร์ ซีอีโอของ Intel เปิดเผยว่า หากไม่มีคำสั่งจากลูกค้าชาวจีน แรงจูงใจในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของบริษัทก็จะลดน้อยถอยลง ตามนโยบายส่งเสริมศักยภาพผลิตชิปในกฏหมาย “CHIPS and Science Act of 2022” หรือ CHIPS Act กฎหมายที่ตั้งเป้าในการจัดหางบประมาณจำนวน 52,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.88 ล้านล้านบาท) เพื่อใช้เป็นแรงจูงใจสำหรับการตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นในอเมริกา หรือเพื่อสนองสหรัฐฯ

แต่ความจริงที่ปรากฏจากปากซีอีโอ Intel คือ โรงงานที่วางแผนไว้ของ Intel ในรัฐโอไฮโอก็จะมีความสำคัญน้อยลง เพราะอเมริกาแพ้ภัยตัวเอง


Qualcomm เป็นบริษัทชิปอเมริกันอีกแห่งที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก การที่บริษัทจีน อย่าง SMIC และหัวเว่ยสามารถผลิตชิปได้เอง เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ย ถือเป็นหนึ่งลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ Qualcomm โดย
ปี 2565 – หัวเว่ยซื้อชิปจาก Qualcomm ประมาณ 23-25 ล้านชิ้น
ปี 2566 – หัวเว่ยซื้อชิปจาก Qualcomm ประมาณ 40-42 ล้านชิ้น

และเดิมที ก่อนที่หัวเว่ยจะเปิดตัวชิป Kirin 9000s ในสมาร์ทโฟนรุ่น Mate 60 Pro คาดกันว่า ปีหน้า ปี 2567 หัวเว่ยจะซื้อชิปจาก Qualcomm มากถึงราว 50-60 ล้านชิ้น ซึ่งหากยอดสั่งซื้อตรงนี้หายไป Qualcomm อาจจะสูญเสียรายได้มากถึงราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 350,000 ล้านบาทเลยทีเดียว !

ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่เป็นลิ่วล้อของสหรัฐฯ ก็จะกระทบหนักเช่นกัน กล่าวคือ

ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ : ต้องสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ คือ จีน ที่แต่ก่อนสั่งซื้อไมโครชิปที่ผลิตโดย 2 ประเทศนี้ โดยเฉพาะซัมซุงและเอสเค ไฮนิกซ์ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ในปี 2564 ผลิตให้กับแบรนด์ของจีนมากถึง 40% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 128,000 ล้านดอลลาร์


สถานการณ์ของเกาหลีใต้แตกต่างจากไต้หวัน เพราะไต้หวันส่งออกชิปให้กับสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของ TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน แต่ว่าเกาหลีใต้ส่งออกชิปไปจีนมากกว่าไต้หวันถึง 4 เท่าตัว

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเศรษฐกิจของเกาหลีใต้กังวลอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการตอบโต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมโครชิปของเกาหลีใต้ ถึงกับออกตัวว่า “พันธมิตร Chip4 เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยี ไม่ใช่พันธมิตรด้านการผลิต และไม่ใช่พันธมิตรเพื่อต่อต้านจีน”

ไต้หวัน : TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน มีความได้เปรียบที่มีเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก และพึ่งพาตลาดจีนค่อนข้างน้อย โดยลูกค้ารายใหญ่ 10 ลำดับแรกไม่มีบริษัทของจีนเลย รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามมาตลอดที่จะให้ TSMC มาตั้งโรงงานในสหรัฐฯ แต่ นายมอริส จาง ผู้ก่อตั้ง TSMC บอกว่า ถ้าการผลิตของไต้หวันย้ายไปสหรัฐก็ขาดแรงกระตุ้นจากการแข่งขัน และสหรัฐฯ ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับอุตสาหกรรมการผลิตอีกแล้ว


จากการเปิดตัวชิปขนาด 7nm ที่อยู่ในสมาร์ทโฟน Mate 60 Proของหัวเว่ยจะทำให้ “พันธมิตรไมโครชิป”หรือChip 4 อาจถึงคราวต้อง “วงแตก” เพราะมีความย้อนแย้งกันภายในกลุ่ม 3 ประการ คือ

1.สมาชิกในกลุ่มมีการพึ่งพาจีนที่แตกต่างกัน : เกาหลีใต้ มีจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ แต่ไต้หวันมีสหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ เกาหลีใต้จึงไม่อยากที่จะ “เลือกข้าง” หรือร่วมมือในการคว่ำบาตรจีน

2.เกาหลีใต้และไต้หวันเป็นคู่แข่งขันกันโดยตรงในการผลิตไมโครชิป : ซัมซุงมองว่า TSMC เป็นคู่แข่งเบอร์ 1 และต้องการจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐมากกว่า ในขณะเดียวกันเกาหลีใต้ก็กลัวว่า ถ้าหากจีนพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาไล่กวดได้แล้ว จีนก็จะขึ้นมาแข่งกับเกาหลีใต้โดยตรง เพราะมีอุตสาหกรรมที่คล้ายกันทั้ง สมาร์ทโฟน หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หน่วยความจำ จนถึง รถยนต์ และแบตเตอรี่

3.ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน : บุคลากรที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาไมโครชิปของจีนนั้นล้วนแต่เป็นชาวไต้หวัน สหรัฐฯ สั่งห้ามส่งออกไมโครชิปขนาดเล็กกว่า 16 นาโนเมตรให้กับจีน แต่บริษัทของจีนก็ยังสามารถผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรได้ นี่แสดงว่าการสกัดกั้นของสหรัฐมีช่องโหว่ มีผู้ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับจีนได้

สมาร์ทโฟน Huawei Mate 60 PRO เป็นตัวอย่างที่จีนต้องการแสดงให้เห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาของจีนได้แต่ในสงครามเทคโนโลยี สมาร์ทโฟนเป็นแค่ “สมรภูมิย่อย” เพราะสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่ชาวบ้านทั่วไปที่มีเงินก็ซื้อหาได้


จีนตระหนักว่า หากยังคงเล่นตามเกมของสหรัฐต่อไป ก็จะไม่มีวันที่จะพึ่งพาตัวเองได้ เพราะจีนเริ่มต้นทางเทคโนโลยีช้ากว่าสหรัฐมาก จีนจึงหันมาใช้วิธี “พลิกเกม” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมที่ตัวเองได้เปรียบ เพื่อให้มาทดแทนกับเทคโนโลยีที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร

จีนไม่จำเป็นต้องขายสมาร์ทโฟนให้ได้มาก ๆ เพื่อแข่งกับแอปเปิล แต่จีนได้หันไปพัฒนาเทคโนโลยีใหม่สำหรับ
-รถยนต์ไฟฟ้า
-พลังงานแสงอาทิตย์
-พลังงานลม
-โครงข่ายระบบสื่อสาร 5G และ 6G ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบดาวเทียมทั้งระบบ Beidou (ซึ่งแข่งกับระบบ GPS) และ ระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) ซึ่งใช้ในระบบการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 6 หรือ 6G
-รถไฟความเร็วสูง
-ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ฯลฯ

ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน มีอุตสาหกรรมปลายและกลางน้ำรองรับมากมาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลกำไรมากยิ่งกว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน ที่สหรัฐสกัดกั้นจีน

ในระยะยาว จีนจะพึ่งพาตัวเองได้ทางเทคโนโลยี และจะเป็นผู้นำในเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ได้อาศัยต้นแบบจากชาติตะวันตกอีกต่อไป

ยิ่งทำลาย ยิ่งแข็งแกร่ง - ยิ่งกีดกัน ยิ่งเจริญเติบโต

การที่หัวเว่ยสามารถ สร้างสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์คือ Huawei Mate 60 Pro ที่มีความพิเศษคือ
1.ไม่มีชิ้นส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรของสหรัฐฯ
2.ไม่เกี่ยวข้องกับ TSMC บริษัทไต้หวันผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งผลิตชิปให้กับตะวันตก อย่างไอโฟนของแอปเปิลก็พึ่งพาการผลิตชิปจาก TSMC
3.ไม่พึ่งพิงซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนของสหรัฐฯ
4.ไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ดินแดนหรือประเทศ ที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดอยู่ภายใต้อาณัติของสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น


ผลที่ตามมาคือการสูญเสียรายได้มหาศาลของบริษัทชิปในอเมริกา จากมาตรการปิดล้อมและจำกัดจีนเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย กลับกลายเป็นสหรัฐอเมริกาต่อต้านตัวเอง ดังนั้นสถานการณ์การคว่ำบาตรของสหรัฐต่อจีนจึงถูกมองว่าเป็นสถานการณ์ที่อเมริกามีแต่แพ้ กับ แพ้ แต่กลับช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของจีนในระยะยาว


การเปิดตัวของHuawei Mate 60 Proหากเป็นคนทั่วไปมองเพียงผิวเผินก็อาจจะนึกว่าเป็นเพียงการแข่งขันกันในโลกของธุรกิจ การดิ้นรนของหัวเว่ยในการกลับเข้ามาช่วงชิงตลาดสมาร์ทโฟน

แต่แท้จริงแล้ว เรื่องสมาร์ทโฟน Mate 60 Pro นั้นมีนัยที่สำคัญมาก ๆ เพราะเปรียบได้กับ จุดเริ่มต้นที่จีนตอบโต้กลับได้เป็นครั้งแรกในเรื่องสงครามชิป (Chip War) และ สงครามเทคโนโลยี


หากเมื่อ 4 ปีที่แล้วสหรัฐฯ ไม่ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และ SMIC ก็ไม่มีวันที่ทั้ง 2 บริษัทจะร่วมมือกันผลิตชิปKirin 9000sเลย

หากสหรัฐฯ ไม่ขึ้นบัญชีดำ Huawei โดยกีดกันไม่ให้ Google ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ กับสินค้าของ Huawei ก็จะไม่มีวันนี้ที่หัวเว่ยพัฒนาระบบปฏิบัติการHarmony OSขึ้นมาใช้เอง และเชื่อว่าจะแพร่กระจายไปสู่สมาร์ทโฟน และสมาร์ทดีไวซ์ทั้งหลายของจีนในอนาคตอันใกล้


ถ้าสหรัฐฯ ไม่กีดกัน และแทรกแซงจีนเรื่องระบบ GPS (Global Positioning System) ก็ไม่มีวันที่จีนจะสร้างระบบระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (BDS) ขึ้นมาใช้เองได้เลยและตอนนี้ระบบนำทาง GPS ของจีนที่ชื่อเป่ยโต่ว เข้ามาสู่รุ่นที่สามแล้ว (Third Generation) และคุณภาพของ GPS ของจีนล้ำลึก ลึกซึ้งกว่า GSP ของอเมริกามาก


ถ้าสหรัฐฯ ไม่กีดกันจีนออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ก็ไม่มีวันที่จีนจะทุ่มสร้างสถานีอวกาศ เทียนกง (Tiangong) ของตัวเองได้ซึ่งใหญ่กว่าสถานีอวกาศนานาชาติที่อเมริกาเป็นเจ้าของ และปีหน้าก็จะหมดอายุใช้งานไม่ได้แล้ว ก็จะเหลือเทียนกงของจีนสถานีเดียว อเมริกาจะว่าอย่างไร


นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จีน เทคโนโลยีของจีนจะค่อย ๆ กระเตื้องขึ้นจากการถูกบีบคั้น และตกเป็นเบี้ยล่าง จนในที่สุด เชื่อว่าจีนจะสามารถปลดแอก จนเอาชนะสหรัฐอเมริกาในเรื่องสงครามเทคโนโลยีได้ในที่สุด

จีนทุ่มงบวิจัยเทคโนโลยีขับเคลื่อนประเทศ

“ถ้าจะเข้าใจเรื่องทั้งหมดนี้ เดี๋ยวผมจะสรุปตอนท้ายนี้ให้ฟัง ประเทศจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นคนที่อ่อนนอกแข็งใน อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ แข็งแรงแต่ไม่แข็งกร้าว สี จิ้นผิง และประเทศจีน ไม่ยอมอยู่เฉยๆ รอให้อเมริกาชกแต่ฝ่ายเดียว หรือว่าก้มหน้ายอมรับความกดดัน หรือการกีดกันทางเทคโนโลยีจากอเมริกาได้”

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนฉบับที่ 14 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ตั้งไว้เพื่อพัฒนาปี 2564-2568 เป็นแผนพัฒนาฉบับแรกของจีนที่ไม่ได้กำหนดการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) แต่ตั้งเป้าอยู่ด้านเดียว มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพมากกว่าปริมาณ

นอกจากนี้แล้ว ยังใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้จีนพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง จีนวางแผนจะทุ่มงบประมาณในด้านการค้นคว้าวิจัย R&D ไม่ต่่ำกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก

ตัวเลขปี 2565 ประเทศและดินแดนที่มีการใช้งบประมาณในการวิจัยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีมากที่สุด 10 ประเทศแรก ก็คือ อิสราเอล 5.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เกาหลีใต้ 5 เปอร์เซ็นต์ ไต้หวัน 3.8 สวีเดน 3.7 เบลเยียม 3.6 ญี่ปุ่น 3.4 เยอรมนี 3.3 ออสเตรีย 3.3 สวิตเซอร์แลนด์ 3.3 เดนมาร์ก 3.3 ฟินแลนด์ 3.3 และจีน 3.1 เปอร์เซ็นต์

เมื่อคิดเป็นมูลค่างบประมาณนั้น อเมริกาทุ่มงบมากที่สุดราว 660,000 ล้านดอลลาร์ จีนอันดับสอง คือ 556,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนไทยนั้นใช้งบประมาณในการวิจัย 13,400 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1.3 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ของจีนระบุด้วยว่า ครอบคลุมถึงแผนระยะยาว 15 ปี ถึง 2578 มีการระบุเรื่องยุทธศาสตร์เกี่ยวกับชิปอย่างชัดเจน ในบทที่ 4 หัวข้อ สร้างความแข็งแกร่งด้านความสามารถทางยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ


จะเห็นได้ว่าเขามุ่งเป้าไปที่ 1.ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) 2.สารสนเทศเชิง Quantum information 3.วงจรรวม (Integrated Circuit) 4.การวิจัยเกี่ยวกับสมอง (Brain Science หรือ Brain Inspired Research) 5.พันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (Genetic and Biotechnology) 6.วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านคลินิกและสุขภาพ (Clinical Medicine and Health) 7.การสำรวจห้วงอวกาศ ใต้พื้นโลก ใต้ทะเล และขั้วโลก


ในข้อที่ 3.ของแผนพัฒนาฯ ของจีน เขาบอกว่า การสร้างความแข็งแกร่งเกี่ยวกับวงจรรวม (Integrated Circuit) ระบุรายละเอียดว่า จีนจะดำเนินการวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ในการออกแบบวงจรรวม คือ ชิป อุปกรณ์สำคัญ วัตถุเป้าหมายที่มีความบริสุทธิ์สูง รวมทั้งวัสดุสำคัญอื่นๆ เพื่อสร้างการค้นพบใหม่ๆ ในระบบวงจรวมที่ก้าวหน้า Transister Gate Bipolar หุ้มฉนวน ระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค ระบบประมวลผลพิเศษอื่นๆ รวมถึงพัฒนาระบบเทคโนโลยีเก็บกักที่ก้าวหน้า รวมถึงการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์จาก ซิลิคอนคาร์ไบด์ แกลเลียมไนไตรต์ และเซมิคอนดักเตอร์แบบช่องว่างแถบกว้าง


ตั้งแต่ปี 2563 (2020) สี จิ้นผิง ประกาศทุ่มงบประมาณอีก 10 ล้านล้านหยวน หรือ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ราวๆ 50 ล้านล้านบาท ในช่วง 6 ปี ระหว่าง 2563-2568 จนจบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 เพื่อให้จีนสามารถพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยีให้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติอีกต่อไป


เป้าหมาย Made in China 2025 อีกสองปีข้างหน้า จีนต้องบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาชิปที่ผลิตด้วยตัวเองได้ถึงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุนี้จีนจึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการวิจัยและพัฒนาชิป หรือไมโครชิป เทียบเท่ากับวิจัยและพัฒนาโครงการระเบิดนิวเเคลียร์ในช่วงสงครามเย็นเลยทีเดียว

SMIC และ “ชิปคาร์บอน” อนาคตของชิปสัญชาติจีน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 (2543) จีนมีการก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตชิปของตัวเองในนาม SMIC หรือ จงซินกั๋วจี้ ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นหัวหอกในวงการผลิตชิปของจีน มีความสามารถที่จะผลิตชิปที่มีความสลับซับซ้อนชั้นสูงได้แล้ว จีนยังมุ่งมั่นที่จะทุ่มเทกับ SMIC ซึ่งถือเป็นความหวังที่สดใสที่สุดของจีนในการสร้างอุตสาหกรรมชิปที่พึ่งพาตัวเองได้ในประเทศ

2564 จีนเพิ่งทุ่มสร้างโรงงานชิปแห่งใหม่ในเขตการค้าเสรี ย่านชานเมืองมหานครเซี่ยงไฮ้ โรงงานดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 8,870 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย 290,000 ล้านบาท


จีนมองเห็นว่าข้อจำกัดชิปในปัจจุบันที่ผลิตจากวัสดุซิลิคอน ถ้าพัฒนาจนเล็กที่สุด เข้าใกล้ขนาดของอะตอมมากขึ้นทุกที ก็จะถึงทางตัน จะต้องหาวัสดุอื่้นเข้ามาทดแทน เช่น กราฟิน ซึ่งมีพื้นฐานจากคาร์บอน โดยเป็นวัสดุที่ใช้แพร่หลายในแบตเตอรี่ลิเทียม และนาโนคอมโพสิต

จีนมองว่า คาร์บอนชิป นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยน เพราะจะทำให้จีนสามารถแซงประสิทธิภาพของซิลิคอนชิปที่ฝรั่งเชี่ยวชาญได้


พฤษภาคม 2563 เว็บไซต์ของ Global Times ของทางการจีน ได้เปิดเผยว่านักวิทยาศาสตร์จีนประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ที่พัฒนาจากวัสดุคาร์บอนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

ศาสตราจารย์เผิง เหลียน เม่า ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่เป็นหัวหน้าโครงการ ระบุชัดเจนว่า เซมิคอนดักเตอร์ที่ทำมาจากวัสดุคาร์บอนนั้นมีข้อได้เปรียบวัสดุซิลิคอน คือต้นทุนการผลิตต่ำกว่า บริโภคพลังงานต่ำกว่า และให้ประสิทธิภาพสูงกว่า

ในช่วงปลายปี 2563 จีนเคยนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากต่างประเทศมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 2561 จีนนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากต่างประเทศมากมายมหาศาล คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 10 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หกเดือนแรกของปี 2566 การนำเข้าชิปของจีนลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการค้าระหว่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น หดตัวลงท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีระหว่างอเมริกา และจีน ทวีความรุนแรงมากขึ้น

มกราคม-พฤษภาคม 2566 การนำเข้าวงจรรวมของจีนลดลง 19.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่มูลค่ารวมของการนำเข้าชิปลดลง 24.2 เปอร์เซ็นต์ จาก 2 แสนกว่าล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 130,000 ล้านดอลลาร์ นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า 2566 อาจจะเป็นปีแรกที่จีนจะลดการพึ่งพาการนำเข้าชิปจากต่างประเทศ และหันมาผลิตเองมากขึ้น ตั้งเป้าว่า 2 ปีข้างหน้าจีนจะต้องบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาชิปที่สามารถผลิตได้ด้วยตัวเองถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการ

“ในศตวรรษที่ 20 วิกฤตเศรษฐกิจโลกหลายครั้งหลายหนอาจเกิดเพราะปัญหาเรื่องราคาพลังงาน แต่ศตวรรษที่ 21 วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มว่าจะเกิดจากปัญหาขาดแคลนสมองกล หรือชิป ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการประมวลผลอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และการแข่งขันเรื่องชิปนี้เองที่จะเป็นต้นตอและจุดชี้ขาดว่าผู้ใดจะเป็นมหาอำนาจตัวจริงของโลกในศตวรรษที่ 21 และศตวรรษต่อไป” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น