โดย ปิติ ปัฐวิกรณ์
แล้วก็ได้เห็น “แนวทางการทำลายวัตถุพยานในคดีซากสัตว์ (สุกร)” เพื่อฝังทำลายหมูเถื่อนจำนวนมหาศาลออกมาเป็นรูปเป็นร่างเสียที หลังจากเกษตรกรและผู้บริโภคเฝ้าติดตามคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ณ แหลมฉบัง มายาวนานหลายเดือน ในที่สุดวันที่ 25-29 กันยายนนี้ คนไทยจะได้เห็นการทำลายหมูผิดกฎหมายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยกันแล้ว ด้วยจำนวนหมูที่จะฝังนั้นมีมากถึง 4,500,000 กิโลกรัม
ไม่แปลกที่จะต้องมีการวางแผนทำลายอย่างรอบคอบรัดกุมและถูกต้องตามหลักวิชาการ ปริมาณหมูที่มีจำนวนมากขนาดนี้ จำเป็นต้องแบ่งขั้นตอนการขนส่งออกไปถึง 5 วัน รวมถึงเส้นทางที่ต้องใช้ ระยะทางที่ต้องไม่ไกลจนเกินไป ดังที่เลือกเป็น จ.สระแก้ว ซึ่งไม่ไกลจากแหลมฉบังมากนัก ตลอดจนพื้นที่ที่จะฝังต้องออกแบบให้ลึกและกว้างอย่างเหมาะสม
เส้นทางที่ออกมา จะเริ่มต้นที่ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มุ่งหน้า ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา แล้วเข้าสู่ถนน 331 มุ่งหน้า อ. พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จนเข้าสู่ถนน 304 ขึ้นสะพานต่างระดับแยกเขาหินซ้อน แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 359 ขับตรงไป จนถึงแยกสระขวัญ ต.สระขวัญ อ.เมือง จ.สระแก้ว มุ่งหน้าต่อ ผ่าน อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว แล้วใช้ถนนสาย 3021 และ 3395 ตามลำดับ จนผ่านสำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยถนนลูกรัง (เส้นแบ่งจังหวัดสระแก้วและจันทบุรี) ก็จะพบสถานที่ฝังกลบทำลายซากสุกรซึ่งจะมีหลุม ขนาดยาว 150 เมตร x กว้าง 9 เมตร x ลึก 4 เมตร เรียงรายอยู่ 6 หลุม โดยจะปูด้วยพลาสติก PE ที่มีความหน้า 0.3 มม.ก่อนฝังทำลาย เพื่อป้องกันของเสียจากซากสัตว์ปนเปื้อนสู่ธรรมชาติ พร้อมโรยปูนขาวที่ก้นหลุม จากนั้นจะใช้เครนยกยกตู้คอนเทนเนอร์และเทซากจนเต็มหลุม แล้วพ่นทับด้วยน้ำยา EM ตามด้วยการใช้แบ็กโฮและแทรกเตอร์ฝังดินกลบหลุม โดยทุกหลุมติดตั้งท่อระบายก๊าซจากซากที่เน่าเปื่อยด้วย ทั้งหมดนี้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ
ดูแล้วนับว่ามีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไฮไลต์สำคัญคือ “งบประมาณ” ที่ใช้ในการจัดการทำลายหมูเถื่อนครั้งใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาทซึ่งปรากฏว่า “ไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐแม้แต่บาทเดียว” เพราะผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้คือสายเดินเรือทั้ง 19 แห่ง ที่ต้องจ่ายตามจำนวนตู้ที่บริษัทของตนขนส่งสิ่งผิดกฎหมายเข้ามายังราชอาณาจักรไทย อาจจะดูน้อยเกินไปถ้าเทียบกับสิ่งที่ขบวนการนี้จะได้รับ หากหมูลักลอบเหล่านี้สามารถแทรกซึมออกไปในตลาดได้ คิดกลมๆ ที่ราคา 140 บาท/กก. ขบวนการนี้จะมีเงินสะพัดถึง 630 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย
ส่วนที่ได้ยินว่ามีหมูเถื่อนจำนวน 4 ตู้ที่เน่าเสียเพราะระบบความเย็นมีปัญหา เจ้าหน้าที่อาจจำเป็นต้องเผาทำลาย ณ ท่าเรือแหลมฉบังแทน ตรงนี้ไม่แน่ใจว่ามีการเผาทำลายไปแล้วจริงๆ หรือยัง เนื่องจากยังไม่เห็นข่าวการเผาทำลายออกมา ไม่แน่ว่างานฝังทำลายที่จะเกิดขึ้นปลายเดือนนี้ อาจจะมีคนนั่งนับจำนวนหมูว่าครบทั้ง 161 ตู้หรือไม่ หากเผาทำลายไปแล้ว 4 ตู้ ก็ควรรีบเปิดเผย เพื่อป้องกันคำถามที่อาจจะตามมา
ไม่กี่วันก่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประกาศสงครามกับหมูเถื่อน-โคเถื่อน พร้อมให้คำมั่นว่าเมื่อถึงมือท่านแล้ว การปราบปรามเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายต้องแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน ซึ่งน่าจะหมายถึงการได้เห็นโฉมหน้า “ผู้บงการ” หรือ “มาเฟียหมูเถื่อน” แบบตัวเป็นๆ ไม่เกินตุลาคม 2566 นี้
ล่าสุด ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กล่าวในสภาเมื่อ 12 ก.ย. 66 ว่า “ได้รับฟังปัญหามาในหลายพื้นที่ที่มีการค้าสุกรว่าเป็นปัญหาใหญ่ จึงประสานอธิบดีกรมศุลกากร เชิญเจ้าหน้าที่มาพูดคุยวันนี้เพื่อหาแผนสั่งการให้ได้โดยเร็ว” ตอกย้ำให้เกษตรกรทั้งประเทศอุ่นใจ และมีความหวังว่า “หมูเถื่อน” ใกล้ถึงจุดจบ
อย่างไรก็ตาม คงต้องแอบกระซิบท่านนายกฯ ว่า ให้ลอง “ตรวจซ้ำ” ท่าเรือแหลมฉบัง...เพราะแว่วว่ายังมีอีกกว่า 100 ตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นตกค้างที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ... ซึ่งไม่รู้ว่าในนั้นซุกอะไร?