ปลายทางหมูเถื่อนบราซิลส่งสิงคโปร์...ไฉนมาโผล่ไทย?
สามารถ สิริรัมย์ เขียนบทความถึงกรณีหมูเถื่อนบราซิลส่งสิงคโปร์ โดยเผยว่า ก่อนหน้านี้ ภาครัฐเคยเปิดเผยรายละเอียดการฝังทำลายซากหมูเถื่อนจำนวน 4,500,000 กิโลกรัมใน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ออกมาแล้วว่า จะใช้เวลาไม่เกินเดือนกรกฎาคม ก็สามารถฝังได้ทั้งหมด โดยมีสายเรือต่างๆสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งและทำลายซากสัตว์ แต่จนแล้วจนรอดก็ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึงเดือนนี้ และเพิ่งมีการเรียกประชุมว่าด้วยรายละเอียดของการทำลายอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (18 สิงหาคม 2566) ซึ่งได้แต่หวังว่าผลการประชุมระหว่าง DSI กรมปศุสัตว์ และกรมศุลกากร ว่าด้วยเรื่องการฝังทำลายหมูเถื่อนของกลาง 161 ตู้ในครั้งนี้จะเป็นไปตามกำหนดการ ไม่ล่าช้าดังเช่นที่ผ่านมา
แม้หมูเถื่อน 161 ตู้กำลังจะถูกทำลายในเร็วๆนี้ แต่การดำเนินคดีเพื่อเชื่อมโยงไปหาผู้บงการยังคงดำเนินต่อไป ล่าสุดยังพบเบาะแสสำคัญ เมื่อคณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เข้าพบทูตเกษตรประเทศบราซิล เพื่อหารือประเด็นความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เกิดจากปัญหาหมูเถื่อน ซึ่งส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดต้นทางจากบราซิล
Ana Carolina Miranda Lamy ทูตเกษตรบราซิล ระบุว่า “บรรจุภัณฑ์สินค้าสุกรจากบราซิลที่ถูกจับกุมในตลาดเมืองไทยนั้นเมื่อถอดรหัสจากฉลากข้างกล่องแล้ว ปรากฏว่าล้วนมีข้อมูลการขนส่งปลายทางไปประเทศอื่นทั้งสิ้น เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จึงแปลกใจว่าสินค้าเหล่านี้เข้ามาประเทศไทยได้อย่างไร”
อาจเป็นวิธีเจรจาทางการทูตเพื่อแสดงให้เห็นว่าบราซิลไม่มีเจตนาส่งหมูเถื่อนเข้าไทย เพราะทราบดีว่าไทยไม่มีกฎหมายอนุญาตนำเข้าเนื้อสุกรอย่างเป็นทางการ แต่ในข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่าหมูเถื่อนมาจากบราซิลมากที่สุดจริง ส่วนเส้นทางขนส่งและวิธีการแปลงสัญชาติปลายทางที่เกิดขึ้นต่างหากที่กำลังบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว
ที่สำคัญ สถานทูตบราซิลมีหนังสือสอบถามไป “หน่วยงานภาครัฐ” ของไทยที่เกี่ยวข้องว่าปล่อยให้เกิดปรากฏการณ์แปลงสัญชาติปลายทางนี้ได้อย่างไร ซึ่งจนป่านนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ
ประเด็นนี้น่าจะทำให้เจ้าหน้ารัฐที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกหมูเถื่อนต้องสะเทือนอีกครั้ง รวมถึงเป็นสัญญาณบ่งบอกกลายๆ ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่หมูเถื่อนอาจแวะพัก ณ สิงคโปร์ หรือฮ่องกงก่อน แล้วจึงค่อยๆ ทยอยลำเลียงเข้าไทย แต่จะด้วยวิธีการใดนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสืบหาความจริง ซึ่งอาจช่วยให้ DSI เชื่อมโยงเส้นทางสืบสวนสอบสวนต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วสาวไปถึงตัวการใหญ่ได้เร็วยิ่งขึ้น
จากนี้ไปการทยอยเดินสายเข้าพบทูตเกษตรของประเทศผู้ส่งออกหมูอีกหลายประเทศของสมาคมฯ ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินา เยอรมนี สเปน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ อาจทำให้ได้เบาะแสดีๆ ที่จะช่วยนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากวังวน “หมูเถื่อน” ได้เสียที