xs
xsm
sm
md
lg

นักเรียนเตรียมพัฒน์ฯ แสดงพลัง "ยืนหยุดหยก" ไล่พ้นโรงเรียน เจ้าตัวอึ้งเพื่อนหายทั้งห้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการทำกิจกรรม "ยืนหยุดหยก" แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านเยาวชนวัย 15 ปีก่อความวุ่นวายบ่อยครั้ง ขณะที่เจ้าตัวโพสต์เฟซบุ๊ก ไม่มีใครในห้อง ครูบอกเพื่อนไม่สบาย อีกวันอ้าง รปภ.ปิดประตู ถูกเรียกคุยเรื่องมอบตัว โวยโรงเรียนคืนค่าเทอมไม่มีหลักฐาน ด้านโบว์ ณัฏฐา ลั่นแม่หยกจะหนีความรับผิดชอบไม่ได้

วันนี้ (8 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ทำกิจกรรมที่เรียกว่า "ยืนหยุดหยก" เพื่อแสดงพลังต่อต้าน หยก เยาวชนวัย 15 ปี ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าทะลุวัง ผู้ต้องหาคดี 112 ที่เข้ามาก่อความวุ่นวายในโรงเรียนบ่อยครั้ง โดยมีการเขียนข้อความด้วยป้ายกระดาษติดตามสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียน ระบุข้อความ เช่น "ไม่เอาหยก #SAVEเตรียมพัฒน์ฯ" หรือ "อยากเรียนเตรียมพัฒน์ฯ ต้องทำตามกฎ แต่ถ้าอยากเป็นกบฏ ต้องไปเรียน _ _ _ #ยืนหยุดหยก"

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ขึ้นป้ายผ้าแสดงความไม่พอใจที่หน้าโรงเรียน ระบุว่า “ขอความสงบคืนโรงเรียน” “เบื่อความวุ่นวายเพราะคนคนหนึ่ง” “เก็บคำว่าสิทธิไปสอนตัวเอง”

อ่านประกอบ : นร.เตรียมพัฒน์ฯ ประท้วงหยก ขอความสงบคืนโรงเรียน เจ๊จุกแฉภาพเงาคู่บังเอิญ วอนเอาเด็กออกจากตรงนั้น 

ขณะที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของหยกโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ระบุว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ 6 กันยายน 2566

วันนี้หนูมาโรงเรียน ที่โรงเรียนให้หนูเข้ามาที่ห้อง แต่ห้องปิดไฟดับไฟ ไม่มีใครในห้อง แต่ห้องข้างๆ เรียนกันอยู่แต่ห้องหนูเพื่อนหายไปหมด หนูมาทราบทีหลังผู้ปกครอง-ครูบอกว่าเพื่อน "ไม่สบาย"

หนูเลยนั่งเรียนพยายามอ่านหนังสือไปเอง ไม่ได้ไปตามหาว่าเพื่อนไปไหน สักพักจากนั้นผู้ปกครองของเด็กที่อุ้มหนูก็เข้ามา ผู้ปกครองคนอื่นก็เข้ามา รอง 2 คนของโรงเรียนก็เข้ามา เขาเริ่มพูดถึงด้วยการว่าพี่บุ้ง และบอกว่าคนแบบนี้สุดท้ายเป็นยังไงก็ต้องลี้ภัย จนหนูทนไม่ไหวเลยไปนั่งริมหน้าต่าง แล้วบอกให้เขาออกไป ตอนแรกเขาก็ออก แต่ต่อมาก็เอาครูคนอื่นมาพูดใส่หนู หนูเลยใส่หูฟังนอนก้มหน้าหลับตาไป ช่วงประมาณก่อนเที่ยง

หนูหลับไปอาจเป็นเพราะไม่ค่อยสบาย พี่คนหนึ่งที่มาก็ขึ้นมาดูหนูแต่หนูไม่รู้หนูหลับอยู่ พี่อีกคนที่ตามมาดูหนูก็เดินเข้ามา หนูถามว่าเข้ามาได้ไง พี่เขาก็เล่าว่าหน้าโรงเรียนมีคนให้เข้ามาเลย พอผ่านประตูมาก็มีครูมารับแล้วพาเดินมาหาหนู หนูก็นั่งในห้องเรียน พี่เขาอยู่ด้วย ส่วนครูกับผู้ปกครองที่เคยเดินเข้ามาว่าก็ไม่มาแล้วพอพี่เขามา ต่อมาก็มีเพื่อนนักเรียนผู้หญิงสองคนนั่งเฝ้าหน้าห้อง แต่หนูไม่รู้ว่ามาเองหรือโรงเรียนให้มานั่งเฝ้า จนบ่ายสามโมงเวลาเลิกเรียนหนูก็ออกมา

หนูเห็นสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนออกจดหมายถึงหนู หนูเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเรียกร้องกับโรงเรียน เรื่องขอความชัดเจนในสถานะของหนูเพราะหนูก็อยากรู้ หนูก็เห็นว่าการไม่แจ้งอะไรเป็นตัวหนังสือหลักฐานมาเลย แต่ก็อ้างว่าอยากช่วย "เด็กที่ไม่มีชื่อในระบบ" ให้เริ่มต้นใหม่ คือการให้หนูมาเจออะไรแบบนี้เหรอ ทำไมหนูถึงไม่มีชื่อเป็นความผิดใคร มอบตัวแล้วเกิดความผิดพลาดไม่ให้เรียนจู่ๆ ก็คืนเงินได้เลยใช่ไหม โรงเรียนมีแผนการอะไรหรือให้ความชัดเจนอะไรได้ และทำไมมันถึงไม่มีความชัดเจนมาจนวันนี้ คือโรงเรียนอาจจะเคยไปบอกเพื่อนๆ ลับหลังหนูว่าหนูไม่ใช่นักเรียน แต่หนูไม่เคยได้เอกสารแจ้งชัดเจนเลยนะคะ และไม่มีการอธิบายด้วยว่าเพราะอะไรถึงมอบตัวไม่สำเร็จ แค่เพราะไม่มีผู้ปกครองมาใช่ไหม

นอกจากเห็นด้วยกับสมาคมผู้ปกครองในเรื่องนี้แล้ว หนูอยากเรียกร้องพ่อแม่ของเพื่อนๆ คนอื่นเหมือนกัน ว่าบางทีครูอาจจะทำไม่ถูก บางเรื่องที่เป็นความไม่ปลอดภัยหรือการสนับสนุนพฤติกรรมของนักเรียนคุณครูไม่น่าจะทำ และคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนๆ น่าจะต้องเป็นกังวลกับเรื่องนี้ที่คุณครูปล่อยหรือสนับสนุนให้เพื่อนๆ ทำอะไรต่างๆ กับหนู

สุดท้าย จดหมายที่สมาคมผู้ปกครองบอกให้หนู "ขอโทษ" หนูไม่เห็นด้วยเลย หนูเองไม่เคยได้รับคำอธิบายจากศาลเยาวชนฯ จากบ้านปรานีฯ จากโรงเรียน จากคุณครู ไม่เคยมีใครบอกอะไรกับหนูและไม่เคยมีใครมาขอโทษหนูเหมือนกัน กับทุกๆ เรื่องที่ผ่านมา และหนูคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับหนูไม่ใช่เรื่องปกติ และนอกจากหนูในโรงเรียนนี้แล้วก็มีเด็กคนอื่นๆ ที่เจอเรื่องแบบนี้อยู่ทั่วประเทศ เช่นเด็กที่ถูกพักการเรียน 1 ปี เพราะใส่ชุดไปรเวต 1 วัน หรือเด็กที่โรงเรียนทำให้ออกจากโรงเรียนเพราะโดนมาตรา 112

หนูไม่ใช่คนไม่กล้าที่จะพูดคำว่าขอโทษ หนูเคยพูดคำนี้ในชีวิตมาแล้ว เมื่อพิจารณาแล้วมีเหตุผลสมควรที่จะพูด คำว่าขอโทษ ถ้าสมควรจะพูดหนูก็สามารถพูดได้ไม่ต้องใช้ความกล้าหาญใดๆ"

อีกโพสต์หนึ่ง วันที่ 7 ก.ย. ระบุว่า "วันนี้ 7 กันยายน 2566 หนูเดินทางไปโรงเรียนเหมือนเดิม แต่เมื่อ รปภ.เห็นหนูเขาก็รีบปิดประตูไม่ให้หนูเข้า ให้หนูเข้าไปห้องข้างๆ เขาบอกให้คุยกับโรงเรียน โรงเรียนได้คุยซ้ำๆ ย้ำๆ กับหนูหลายรอบเรื่องเดิมๆ คือครูพูดซ้ำว่าให้หาแม่และมอบตัวไม่สำเร็จนะ เขาถามคำถามหนูว่า มีเรียนวิชาอะไรวันนี้ หนูก็ตอบไปว่ามีเรียนตามตาราง ครูก็ถามว่า เรียนกับใคร หนูก็ตอบไปตามที่เรียนกับใคร หนูรู้สึกรำคาญทำไมถึงถามแต่ไม่ให้เข้าเรียน หนูต้องการเข้าไปเรียน หนูจึงไม่อยากคุยต่อ ต่อมาเขาก็พูดเรื่องการมอบตัว เรื่องผู้ปกครองซ้ำๆ เขาไม่ให้หนูเข้าผ่านจากห้องนั้นไปในโรงเรียน เพราะฉะนั้นวันนี้หนูไม่ได้ปีนเข้าไป หนูหยิบหนังสือที่มีติดในกระเป๋าไปอ่านในห้องนั้นไปเรื่อยๆ มีช่วงพักบ้าง นั่งเขียนจดวาดในไอแพดบ้าง พอถึงเวลาพักเที่ยงหนูก็กดแกร็บสั่งบะหมี่กิน จนไปถึงช่วงประมาณบ่ายสองบ่ายสามก็ได้มีครูมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับหนู ครูถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือต่างๆ

การแลกเปลี่ยนก็สนุกดีแต่หนูอยากไปเรียนที่ห้องเรียน การที่โรงเรียนโอนเงินค่าเทอมคืนมาแล้วค่อยมาบอกว่าคืนแล้วไม่ใช่นักเรียนแล้วก่อนเข้าค่าย 2 วัน ไม่มีหลักฐานการโอนเงินคืนให้หนู ให้หนูต้องไปเช็กเองมันไม่ถูกต้องค่ะ"

ส่วน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า "ประเด็นแม่ของหยก ประเมินได้สามทาง

1. แม่เป็นผู้ปกครองแบบอยากใช้ไม้แข็ง รอให้หยกสิ้นหนทางจนต้องกลับบ้านเอง เป็นวิธีปราบที่ใช้ได้กับเด็กบางคน แต่ไม่ได้กับเด็กทุกคน ซึ่งผู้ปกครองบางคนดันทุรังใช้วิธีแบบนี้เพราะเข้าใจว่าจะได้ผล สุดท้ายคือเสียลูก

2. แม่เป็นคนขี้ขลาดตาขาว กลัวแรงกดดันจากสังคม ไม่กล้าเผชิญหน้า ใช้วิธีหนีปัญหา

3. ความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ เล่นบทหลบเพื่อให้กลุ่มและหยกสร้างประเด็นต่อไป ด้วยข้ออ้างว่าหยกไม่มีผู้ปกครองดูแล ฯลฯ

ไม่ว่าจะอย่างไร หนีความรับผิดชอบไม่ได้ค่ะ"


























กำลังโหลดความคิดเห็น