xs
xsm
sm
md
lg

อาหารผู้ทรงเกียรติ ยุคก่อนไม่พอยุคนี้เหลือเยอะ ย้อนรอยรังสิมาโวย ส.ส.ขนอาหารกลับบ้าน คนอื่นต้องกินไข่เจียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สืบเนื่องจากดรามา ส.ส.ก้าวไกลถูกกล่าวหาลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน เจ้าตัวแจงอาหารเหลือเยอะ ถ้าไม่ห่อกลับเจ้าหน้าที่ก็แจกอยู่แล้ว ย้อนรอยปัญหาในอดีต "รังสิมา" เคยโวยมี ส.ส.บางคนขนอาหารกลับบ้านเป็นสิบๆ ถุง คนมาทีหลังต้องกินข้าวไข่เจียวก็มี พบที่ผ่านมาสภาฯ ให้เบิกจ่ายค่าอาหารกินกันทั้งวันตั้ง 1 พันบาทต่อคน

วันนี้ (7 ก.ย.) จากกรณีที่มีภาพปรากฏบนโซเชียลฯ ถ่ายภาพ น.ส.สิริลภัส กองตระการ สส.กทม. พรรคก้าวไกล หิ้วถุงกับข้าว พร้อมข้อความว่า “พบเห็นอดีตดาราสาวลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน” ทำให้เจ้าตัวโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ @Sirilapas_mfp กล่าวหาว่า คนที่ถ่ายภาพเป็น ส.ส. 2 สมัย อ้างว่าที่ห้องอาหารรัฐสภาจะมีอาหารที่เตรียมไว้ให้ตามจำนวน ส.ส. แล้วทำไมตอนเลิกประชุม อาหารถึงได้เหลือมากขนาดที่เขาต้องห่อใส่ถุงให้เอากลับบ้าน อาหารที่เหลือเหล่านี้ ถ้าไม่ห่อกลับ เจ้าหน้าที่ก็จะแจกจ่ายอยู่แล้ว ตนใช้สิทธิ์ไม่ได้นั่งกินที่ห้องอาหาร แต่ห่อกลับมากินที่บ้าน พร้อมถามกลับว่าการใช้คำว่า "ลักลอบ" อ่อนภาษาไทยหรือจงใจใส่ร้ายกันแน่ และเตือนว่าการถ่ายรูปจับผิดคนอื่น อย่าคิดว่าเจ้าตัวไม่เห็น

ต่อมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้นำเรื่องนี้มาหารือว่า รับไม่ได้ที่ ส.ส.ชาย ถ่ายภาพ ส.ส.หญิงของพรรคก้าวไกล แล้วเอาไปโพสต์ในโซเชียลฯ ว่า “ลักลอบนำอาหารกลับบ้าน” ถือว่าผิดกฎหมาย อ้างว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทุกวันพุธ และพฤหัสบดี ในช่วงเย็นปรากฏว่าบริเวณห้องอาหารของ ส.ส. เมื่อ ส.ส.กลับกันหมด หรือบางคนไม่เข้าไปใช้บริการในช่วงอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ก็จะจัดอาหารใส่ถุงให้ ส.ส.นำกลับบ้าน หรือให้แม่บ้าน ข้าราชการสภาฯ นำกลับบ้าน ซึ่งเป็นอาหารที่ไม่มีใครบริโภคแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ ส.ส.สามารถนำอาหารกลับได้เพราะเหลือ ที่ผ่านมามื้อเที่ยงบางมื้อที่ให้เข้าไปใช้บริการเท่านั้น แต่ ส.ส.บางพรรค บางคนเอาผู้ช่วยฯ เข้าไปนั่งรับประทานด้วย ส.ส.บางคนกำชับแม่บ้านขนอาหารเข้าไปรับประทานในห้องส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกติกา

ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม ชี้แจงว่า "เรื่องอาหารถือว่าไม่ผิดที่หลังจากเลิกประชุมแล้ว ส.ส. จะเอาอาหารกลับบ้าน และตอนนี้เรามีห้องส่วนตัวของ ส.ส. อาจจะมีผู้ติดตาม ผู้ช่วย ส.ส.มาช่วยทำงาน ถ้าจะเอาอาหารไปที่ห้องให้ ส.ส.ก็สามารถนำไปได้เพราะก็กินกันอยู่แล้ว และถ้าปิดประชุมก่อน สมมติปิดประชุมกะทันหัน อาหารเหลือเยอะ ปกติจะเอาไปบริจาคตามหน่วยงานต่างๆ แต่บริจาคเท่าไหร่ก็เหลือเน่า เพราะรับประทานไม่ทัน ไม่มีที่เก็บ ตนจึงคิดว่าไม่มีกฎหมายห้ามรับประทานในสภาหรือเอากลับบ้าน ดังนั้นจากนี้ไปถ้าตอนเย็นอาหารเหลือ ทางเจ้าหน้าที่ก็เอาใส่ถุงแล้วเอากลับบ้านกัน ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.ทั้งเจ้าหน้าที่ 3 พันคนเอาไปรับประทานที่บ้าน เพราะเหลือ ก็เสียของ จะเอาไปบริจาคผู้รับเหมาก็เหนื่อยที่จะขนไปตามที่ต่างๆ ฉะนั้นเรื่องอาหาร ถ้าเหลือก็ให้ใส่ถุงและให้เจ้าหน้าที่ และสมาชิกเอากลับบ้าน และถ้าสมาชิกมีญาติ มีทีมงานอยู่ในห้องก็หยิบเอาไปได้เพื่อดูแลกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว"

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว 7 ก.ค. 2565 ก็เคยมีปัญหาเรื่อง ส.ส.ขนอาหารกลับบ้าน โดย น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ (ขณะนั้น) หารือขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา (ขณะนั้น) ยกเลิกการอนุญาตให้นำอาหารห่อออกมาจากห้องอาหาร เนื่องจากพบว่าสมาชิกที่เข้าไปรับประทานอาหารก่อนจะขนอาหาร น้ำ ใส่ถุงกลับบ้านเป็นจำนวนมากเป็นสิบๆ ถุง และสมาชิกที่เข้าไปรับประทานอาหารทีหลังไม่ได้รับประทานอาหารที่จัดไว้ให้ ต้องกินข้าวไข่เจียว 

ทั้งนี้ ตนเคยเสนอว่าการเบิกจ่ายงบประมาณอาหารไม่ให้เบิกซ้ำซ้อน เพราะเบิกห้องใหญ่ เบิกห้องเล็ก และเบิกห้องอนุฯ อีกทำให้เสียงบประมาณมาก ต้องเอาจริงเอาจังในการใช้จ่ายงบประมาณด้านอาหาร และในตู้ขนไปหมดเลยทั้งนมทั้งน้ำจะกินอะไรกันนักกันหนา ต้องยกเลิกให้คนอื่นได้กินบ้าง ตอนนั้นนายชวนตอบกลับมาว่า ตนทราบข้อจำกัด ที่ห้องอาหารห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปใช้บริการ อย่างตนมีผู้ติดตาม 2 คน ไม่สามารถไปนั่งรับประทานอาหารในห้องอาหารได้ ต้องมารับประทานข้างนอก

อนึ่ง สำหรับการเบิกจ่ายค่าอาหารของ ส.ส.ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เคยชี้แจงเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 ว่า ปัจจุบันเบิกจ่ายในอัตราไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวครอบคลุมถึงค่าอาหารว่าง และเครื่องดื่มตลอดทั้งวัน ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารเย็น ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการต่างๆ แล้ว เป็นไปตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา พ.ศ. 2557


กำลังโหลดความคิดเห็น