xs
xsm
sm
md
lg

รูดปรื๊ดเตรียมตัวปีหน้า ปรับเพิ่มจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต จาก 5% เพิ่มเป็น 8%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบธนาคารแต่ละแห่งแจ้งลูกค้าบัตรเครดิต ปีหน้าปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 5% เพิ่มเป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชี ม.ค. 67 ให้เป็นไปตามประกาศของแบงก์ชาติ ด้าน ธปท.ระบุส่งผลดีต่อลูกหนี้ ตัดเงินต้นมากขึ้น ประหยัดดอกเบี้ย ปิดหนี้เร็ว ถ้าไม่ไหวจริงๆ โอนหนี้แบบแบ่งชำระ หรือถ้าโคม่าเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้

วันนี้ (26 ส.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า แต่ละธนาคารได้ส่งใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตให้แก่ลูกค้า โดยมีข้อความประชาสัมพันธ์ระบุว่า "ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 ธนาคารจะปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต ... จากเดิมอัตราขั้นต่ำ 5% เป็น 8% ของยอดเงินตามใบแจ้งยอดบัญชีฯ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย"


ข้อความดังกล่าวสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ หนึ่งในนั้นคือปรับลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ ให้ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้าง กระทั่งได้ออกมาตรการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจกำหนดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำของยอดคงค้างทั้งสิ้น สำหรับปี 2566 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 สำหรับปี 2567 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 และตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

ก่อนหน้านี้ น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับเพิ่มจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 8% ในปี 2567 จะส่งผลดีต่อลูกหนี้ เพราะการจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ จะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และใช้เวลาปิดหนี้ช้าลง แม้การปรับเพิ่มจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระค่างวดมากขึ้น แต่สามารถนำค่างวดไปตัดชำระเงินต้นได้มากขึ้น จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและสามารถปิดจบหนี้ได้เร็ว เบื้องต้นประเมินว่ามีลูกหนี้จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเกิน 10% มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 70-80% และมีส่วนน้อยจ่ายขั้นต่ำไม่เกิน 5%

ในช่วงปลายปีนี้ ธปท.ได้ให้สถาบันการเงินเร่งสื่อสารการปรับเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำให้ลูกค้ารับทราบ และเตรียมแนวทางดูแลลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราการจ่ายได้ เช่น การโอนเปลี่ยนประเภทหนี้เป็นเทอมโลน หรือแบบมีระยะเวลา กำหนดงวดการจ่ายให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ และหากเป็นหนี้ค้างชำระเกิน 120 วัน จะเสนอใช้ช่องทางเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่สามารถชำระได้ ส่วนข้อเสนอชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เสนอปรับเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 16% เป็น 18% ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาพูดคุย หรือมีข้อเสนอเพื่อเข้าเจรจาแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น