xs
xsm
sm
md
lg

สสส.จัดเทศกาลงาน "Soul Connect Fest 2023" เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่เรียนรู้สุขภาวะทางปัญญา สร้างพลังใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. และภาคีเครือข่ายจัดเทศกาลงาน "Soul Connect Fest 2023" มหกรรมพบเพื่อนใจ ในวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 ณ ลิโด้ คอนเนคท์ สยามสแควร์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ได้เข้าถึงเครื่องมือและความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาวะทางปัญญาสามารถดูแลตัวเองได้เมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ โดยภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น นิทรรศการ Soul of a Worm, Mandala art, อ่านมนุษย์, เปิดไพ่มูดูชีวิต ฯลฯ รวมถึงยังมีศิลปินนักแสดงมากมายที่มาร่วมสานพลังจัดกิจกรรมส่งต่อข้อคิดและพลังใจดีๆ ให้กับสังคม เช่น เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ, ก๊อต จิรายุ ตันตระกูล และ กิ๊ก มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ เป็นต้น

ในวันนี้ (19 ส.ค.) ณ ลิโด้ คอนเนคท์ สยามสแควร์ นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงงาน "Soul ConnectFest 2023" ในครั้งนี้ว่า 

"สสส.ให้ความสำคัญต่อสุขภาวะของเยาวชนในทุกมิติ เราทำงานในหลากหลายด้านเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและส่งเสริมเกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง รวมถึงการเข้าใจผู้อื่น เคารพในความแตกต่าง มีส่วนร่วมทำให้เกิดสังคมที่เกื้อกูล เนื่องจากคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับความซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ประกอบกับยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ สิ่งเหล่านี้สร้างความสับสน กดดัน หวั่นไหว เกิดเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวในชีวิตของวัยรุ่น ก่อนที่เราจะมาจัดงานนี้ได้มีการสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่เกี่ยวกับมายาคติหลัก 8 ประการที่เป็นเส้นทางตามชุดความคิดในสังคม ที่คนรุ่นใหม่ต่างคิดว่าคือเส้นทางของความสุข ได้แก่ เส้นทางทุนนิยมบูชาเงินและความสำเร็จ สุขจากวัตถุนิยม ชีวิตดีแบบในโซเชียล มายาคติความงาม ค่านิยมบูชาเกรดและคนเก่ง ค่านิยมตามวัย มายาคติเรื่องความรัก และมายาคติเรื่องบทบาทครอบครัว มายาคติเหล่านี้ทำให้ชีวิตของคนรุ่นใหม่เป็นทุกข์ และมักไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังเดินหลงไปกับเส้นทางเหล่านั้น นี่คือโจทย์การทำงานสำคัญที่จะต้องร่วมกันดูแลวัยรุ่นที่เป็นอนาคตของประเทศ ทั้งหมดนี้จึงได้เกิดการร่วมมือกันของกลุ่มคนทำงานเรื่องสุขภาวะทางปัญญาจนเกิดเป็นมหกรรมงาน Soul Connect Fest ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงในการทบทวนตัวเอง สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งรอบตัวอย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน"

ทางด้าน นายธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา ในนามตัวแทนภาคีเครือข่ายที่ร่วมจัดงาน กล่าวว่า 

"การทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญาไม่ได้เป็นแค่งาน แต่เป็นสิ่งที่ทำแล้วตัวเราเองก็ได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาจิตวิญญาณของตัวเราเองไปด้วยพร้อมกัน ที่ผ่านมามีหลายภาคส่วนที่ทำงานด้านสุขภาวะทางปัญญามาอย่างต่อเนื่อง พวกเรามีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะแบ่งปันสิ่งที่เราได้เรียนรู้ไปสู่สังคม จึงมารวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดงานที่เป็นรูปธรรม และเข้าถึงคนในสังคมให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้ Connect กับประสบการณ์ด้านบวกที่หล่อเลี้ยงและส่งเสริมการมีสุขภาวะทางปัญญา ให้เขาได้กลับมา Connect กับตัวเอง และกลับมาเจอความสุขที่แท้จริง งานนี้เราเลือกจัดที่ลิโด้ก็เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงประสบการณ์นี้ได้ง่าย ออกแบบงานให้มีรูปแบบทันสมัย จับต้องได้ ไม่ยากเกินความเข้าใจ ยกตัวอย่างกิจกรรมที่นับว่าเป็นพื้นฐานที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราเลยแต่คนมักจะมองข้าม การรับฟัง งานนี้มีหลายกิจกรรมมากที่เกี่ยวกับการฟัง รับผิดชอบโดย ศูนย์จิตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และความสุขประเทศไทย เรามีกิจกรรม 'ฟังสร้างสุข' ให้เรียนรู้และมาติดตั้งทักษะใหม่ในการฟัง หรือกิจกรรม 'อ่านมนุษย์' ที่จะช่วยให้เราได้
เท่าทันอคติในใจตัวเองกับการมองเห็นและตัดสินคนอื่น รวมถึง 'อาสารับฟัง' ที่จะเปิดพื้นที่รับฟังให้คนได้มาบอกเล่าสิ่งที่อยู่ในใจ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอีกหลากหลายมากที่เราจะได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยสร้างพลังใจ เราเชื่อว่าการที่คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ เข้าใจ สัมผัสประสบการณ์ตรงในรูปแบบเฉพาะของแต่ละบุคคลจากงานนี้ อาจจะทำให้ใครหลายคนได้
จุดประกายหรือค้นพบอะไรใหม่ๆ ในตัวเองเลยก็ได้"

ในส่วนของ "เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ" ศิลปินที่มาร่วมพูดคุยในพิธีเปิด รวมถึงร่วม Talk ในหัวข้อ '"ส่งต่อพลังใจให้คนรุ่นใหม่ ล้มแล้วลุก เดินต่อไปให้ใจไหว' ได้กล่าวถึงมุมมองที่มีต่อสถานการณ์จิตใจของคนในยุคปัจจุบันว่า

"เราต้องยอมรับก่อนว่าความรู้สึกเหนื่อยล้า สับสน หาตัวเองไม่เจอนี้เป็นปรากฏการณ์ของการเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะตอนนี้ที่เรา Social Media ที่หลายคนอยู่ในบริบทของสังคมที่พยายามจะแสดงออกถึงความสำเร็จ การมีชีวิตดีๆ ที่ให้ความสำคัญต่อวัตถุ น้อยคนมากที่จะกล้าบอกว่า "Life is shit!" หรือ "I'am Shit" เพราะกลัวที่จะดูไม่ดีในสายตาของคนอื่น มันเลยกลายเป็นการกดดันตัวเอง ทั้งที่จริงแล้วถ้าเราเรียนรู้ว่าคนเราสามารถ 'ห่วย' ได้ แล้วเรามีพื้นที่ให้ความห่วยนั้น เรียนรู้ว่าคนเราสามารถไม่เก่งก่อนได้ แล้วค่อยๆ ดูว่าสามารถสร้างอะไรจากความไม่เก่งนั้น ทำความเข้าใจกับมันและเดิบโตไปกับมัน อย่ากดดันตัวเองว่าการจะเป็นคนที่ดีและเก่งจะต้องไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ อย่าคิดว่าถ้ามีความรู้สึกเหล่านี้แล้วเราผิดปกติ ซึ่งไม่ใช่เลย เพียงแต่ต้องยอมรับให้ได้ว่าความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ 'ความเข้าใจ ความปลอดภัย ทัศนคติ' 3 อย่างนี้จะช่วยทำให้เราเข้มแข็งและมีพลังใจอยู่กับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัวได้ แต่มันเป็นเรื่องของความเป็นปัจเจกที่แต่ละคนก็ให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่เราต้องกลับมา Connect และเข้าใจในตัวเอง แล้วเราจะผ่านสถานการณ์ยากๆ และคำตัดสินต่างๆ ที่มาจากคนรอบตัวไปได้ในที่สุด"
กำลังโหลดความคิดเห็น