xs
xsm
sm
md
lg

ASEAN Justice Innovation 2023 ผลักดันให้ไทยใช้คะแนน “ตัวชี้วัดหลักนิติธรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ASEAN Justice Innovation 2023 - งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมแห่งอาเซียน” TIJ จับมือ World Justice Project ผลักดันให้ไทยใช้คะแนน “ตัวชี้วัดหลักนิติธรรม” เป็นเครื่องมือปฏิรูปหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม


รายงานพิเศษ

หลักนิติธรรม (Rule of Law) ถูกจัดเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ที่จะใช้ไปถึงปี พ.ศ. 2573 ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากสังคมใดขาดการยึดหลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานในการพัฒนา จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ ได้ เพราะหลักนิติธรรม คือ เครื่องมือพื้นฐานที่จะช่วยจำกัดการใช้อำนาจของรัฐให้ไม่มีอำนาจเหนือประชาชน ช่วยให้คนในสังคมได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค เท่าเทียม มีสิทธิเสรีภาพ และเคารพสิทธิของผู้อื่น

จากผลคะแนน “ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม” (Rule of Law Index) ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย องค์กร World Justice Project (WJP) ซึ่งทำการวัดและจัดลำดับหลักนิติธรรมทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ได้เปิดเผยผลคะแนนการวัดหลักนิติธรรมของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 พบว่า ประเทศไทยได้ 0.50 คะแนน เป็นอันดับที่ 80 จาก 140 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับที่ 10 จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 25 จาก 42 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง หรือ upper middle income โดยแม้คะแนนของประเทศไทยจะไม่ลดลง แต่มีอันดับต่ำลงเรื่อยๆ

ตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่ WJP นำมาใช้ แบ่งเป็น 8 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ การควบคุมอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers) การปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) ระเบียบและความมั่นคง (Order and Security) การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)











ดร.ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก World Justice Project (WJP)
ข้อมูลนี้ถูกนำมาเปิดเผยในการประชุม “ASEAN Justice Innovation 2023 - งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมแห่งอาเซียน” หรือ งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมอาเซียน 2566: หลักนิติธรรม ข้อมูล และอนาคตของระบบยุติธรรมในอาเซียน จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับองค์กร World Justice Project (WJP) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ดร.ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก World Justice Project (WJP) นำเสนอผลการให้คะแนน “ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม” ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 ผ่านเวทีนี้ โดยมีทั้งหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ซึ่งแม้ผลการให้คะแนนจะชี้ให้เห็นว่า คะแนนด้านหลักนิติธรรมของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่คงที่ แต่กลับมีอันดับที่แย่ลงเรื่อยๆ มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก WJP ชี้แจงผลการวิจัยว่า เมื่อดูในเชิงลึกลงไปใน 8 ปัจจัยที่นำมาใช้เป็นตัวชี้วัดจะพบว่า มี 4 ปัจจัย ที่ประเทศไทยได้คะแนนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าในภูมิภาคอาเซียน นั่นคือ ปัจจัยด้านการควบคุมอำนาจรัฐ ปัญหาคอร์รัปชัน การบังคับใช้กฎหมาย และการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

“หากลงลึกไปในรายละเอียดของปัจจัยด้านหลักนิติธรรมที่ประเทศไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก เช่น ปัจจัยการควบคุมอำนาจรัฐ มีคะแนนต่ำอยู่ที่การวัดจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ การถ่ายโอนอำนาจรัฐเกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ การทำรัฐประหาร ความสามารถของฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมอำนาจรัฐ การที่มีคนทำผิดจำนวนมากและไม่ได้รับการลงโทษ และความสามารถขององค์กรพัฒนาเอกชนในการตรวจสอบรัฐบาล

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ได้คะแนนต่ำ เช่น ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การเผยแพร่กฎหมาย สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศ การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรม ยังพบการซ้อมทรมาน บังคับให้สูญหาย มีกระบวนการยุติธรรมที่กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจค่อนข้างมาก มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการที่มีผู้พ้นโทษจากเรือนจำจำนวนมากกลับไปกระทำความผิดซ้ำเพราะขาดโอกาสในการเริ่มต้นใหม่”
ดร.ศรีรักษ์ กล่าว

แต่ก็ยังมีบางปัจจัยที่ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีกว่าค่าเฉลี่ย คือ ความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอยู่ในระดับที่พอรับได้ และความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
จากแนวคิดที่จะผลักดันให้เกิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centred Justice) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (United Nations Programme Network Institutes – PNIs) แห่งเดียวในอาเซียน จึงเห็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมมือกับ WJP ด้วยการนำข้อมูลคะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทย มาเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ผ่านเวทีเสวนาเชิงนโยบาย (policy dialogue) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเริ่มต้นสู่การพัฒนาให้เป็นประเทศที่มีหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ให้ภาครัฐสามารถใช้ผลการประเมินนี้ไปศึกษาและวางแผนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักนิติธรรม ส่วนภาคเอกชนก็สามารถนำผลการประเมินนี้ไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณาการตัดสินใจลงทุนได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่มีคำว่า “หลักนิติธรรม” เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่สามารถทำให้จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการที่เรามีตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่ WJP ทำไว้มาเป็นเวลาถึง 15 ปีแล้ว ถือเป็น Game Changer ที่สำคัญซึ่งควรนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาให้เกิดหลักนิติธรรมขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

ดังนั้นการที่ TIJ ร่วมมือกับ WJP นำข้อมูลจากดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมมาจัดเวทีเสวนาเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาหลักนิติธรรมในครั้งนี้ขึ้น ไม่ได้แต่มีเป้าหมายเพื่อจะหวังเพิ่มคะแนนในดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทย แต่ต้องการให้เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกระบวนการหารือเชิงนโยบายที่ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมกับการให้ข้อเสนอเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยมีนโยบายที่ส่งเสริมหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง เพราะหลักนิติธรรมถือเป็นรากฐานสำคัญของการมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ และเป็นจุดเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่การทำให้ประเทศมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นำไปสู่การมีกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ ที่มีจิตวิญญาณของหลักนิติธรรมอยู่ด้วย นั่นคือรัฐธรรมนูญที่มุ่งปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง และเพื่อให้เราได้เริ่มต้นกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เราจึงเลือก 4 เรื่องหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่อง และเป็น 4 ปัจจัยของดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมที่ประเทศไทยได้คะแนนไม่ดีนัก มาเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกันก่อน ได้แก่ ปัญหาการคอร์รัปชัน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การปฏิรูปกฎหมายโดยลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือการกิโยตินกฎหมาย และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

“เราต้องการจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่การปฏิรูปตำรวจ หรือปฏิรูปองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่สำเร็จ ถ้าเราไม่เข้าใจความเชื่อมโยงกันระหว่างหลักนิติธรรม การมีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นรากฐานของการเป็นประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเราปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่สำเร็จ เพราะเราไม่มีตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่จับต้องได้ ทำให้เราพูดถึงหลักนิติธรรมในเชิงนามธรรม ไม่มีกรอบเนื้อหาพูดคุยเพื่อวิเคราะห์หรือพัฒนา ดังนั้นจากนี้ไปรัฐบาลควรจะต้องนำตัวชี้วัดนี้มาเป็นกรอบของการพูดคุยต่อไป และขอย้ำว่า เราจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่สำเร็จ ถ้ากฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา ยังไม่มีจิตวิญญาณที่เชื่อเรื่องหลักนิติธรรม ผมขอทิ้งท้ายไว้ว่า หลักนิติธรรมที่ดีไม่มีขาย หากอยากได้ ต้องร่วมกันสร้าง”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปกฎหมายด้วยการลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็น หรือการทำกิโยตินกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลสำเร็จได้เป็นอย่างดีในประเทศไทย เป็นเพราะประเทศไทยยังคงใช้กระบวนการเดิมๆ ในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งใช้เวลานานมาก ไม่ทันต่อบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้และเวียดนาม ที่สามารถปฏิรูปกฎหมาย หรือ ยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นได้สำเร็จ เป็นเพราะมีกระบวนการที่รัฐสร้างหน่วยงานขึ้นมาทำงานนี้เป็นการเฉพาะ มีบุคลากรที่ทำงานเต็มเวลา มีอำนาจในการพิจารณาและตัดสินใจ ซึ่งต่างจากกระบวนการในประเทศไทยที่ใช้รูปแบบเดิมๆ คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ไม่มีหน่วยงานเฉพาะ ไม่มีบุคลากรที่ทำงานต่อเนื่อง และยังทำได้เพียงให้ข้อเสนอแนะส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีงานล้นมือมากอยู่แล้วให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ ดังนั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงปฏิรูปกฎหมายไปได้น้อยมาก

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน อ้างอิงถึงรายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจุดที่ประเทศไทยได้คะแนนด้านการจัดการปัญหาคอร์รัปชันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาคมากๆ คือ การทำงานของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการตำรวจและทหาร มีเพียงฝ่ายตุลาการที่ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย จึงนำมาเปรียบเทียบกับผลการวัดคะแนนความโปร่งใสนานาชาติ ที่มีรายงานออกมาทุกปีเช่นกัน ซึ่งในปีล่าสุด ประเทศไทยได้ไปเพียง 36 จาก 100 คะแนน ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนต่ำเช่นกัน

แม้จะมีทั้งคะแนนชี้วัดหลักนิติธรรมและคะแนนความโปร่งใสอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก แต่ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ยังเห็นความหวังบางอย่างจากผลคะแนนความโปร่งใสที่ไทยได้รับครั้งล่าสุด นั่นคือ ประเทศไทยมีคะแนนที่สูงขึ้นมาก จากการสำรวจการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน โดยพบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ยอมรับกับการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบอีกต่อไป และมีถึงกว่าร้อยละ 70 ที่ระบุว่าต้องการมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหา รวมทั้งยังมีผลสำรวจอีกว่า ปัญหาหลักๆ ในประเทศไทยที่ประชาชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นอันดับแรก มากกว่าความต้องการเห็นการแก้ปัญหาปากท้องด้วยซ้ำ

ดังนั้นเมื่อประชาชนมีความตื่นตัวอย่างมากต่อการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน นายวิเชียร จึงขอเสนอแนวทางที่จะเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ด้วยการเปิดช่องทางในการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกรูปแบบได้ง่ายขึ้น ต้องเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ต้องเปิดพื้นที่ให้เกิดความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น และปลูกฝังในเรื่องหลักนิติธรรมให้กับประชาชน

ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีคะแนนตัวชี้วัดหลักนิติธรรม ในปัจจัยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก นั่นคือ ปัญหา “การกระทำผิดซ้ำ”

ดร.สุรศักดิ์ นำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการกระทำผิดซ้ำของผู้ที่เคยต้องโทษมาก่อน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปกับปัญหาความแออัดของนักโทษในเรือนจำ จนทางกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถฟื้นฟูผู้ต้องขังเหล่านี้ให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างที่หวังไว้ โดยปัญหาที่สำคัญ คือ กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ส่งคนจำนวนมากเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้งไม่มีความจำเป็น มีทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งต้องติดคุกไปก่อนเพราะไม่มีเงินประกันตัว ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด กลุ่มที่ถูกกักขังแทนการเสียค่าปรับเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ทั้งที่ทำความผิดเพียงเล็กน้อย รวมไปถึงนักโทษกลุ่มใหญ่ที่สุดนั่นก็คือ กลุ่มนักโทษคดียาเสพติด ซึ่งสถิติระบุชัดว่า คิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำ แต่เมื่อไปสำรวจจริงๆ จะพบว่า ผู้ต้องขังคดียาเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้เสพที่มีพฤติกรรมค้ารายย่อย แทบไม่มีผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ตัวจริง

ดังนั้น หากกระบวนการยุติธรรม ยังไม่มีการใช้มาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษที่มิใช่การคุมขัง กลับยังคงส่งคนเข้าสู่เรือนจำเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ก็จะมีคนหน้าเดิมๆ เข้า -ออกเรือนจำตลอดเวลา เรือนจำก็จะยังคงมีคนเข้ามามากเกินศักยภาพการรองรับ และรัฐต้องใช้งบประมาณมากมายไปกับการดูแลความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังแทนที่จะใช้เพื่อการฟื้นฟูให้เขากลับคืนสู่สังคม ทำให้ทุกๆ 3 ปี ผู้พ้นโทษร้อยละ 30 จะกลับเข้ามาสู่เรือนจำอีก ไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้ ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ ถือเป็นกระบวนการที่รัฐขาดทุนอย่างย่อยยับ

และเมื่อนำข้อมูลนี้มาเทียบกับผลดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP จะวิเคราะห์ต่อไปให้เห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมได้ในหลายประเด็น เช่น การที่อัยการไม่มีบทบาทในกระบวนการสอบสวน จนนำไปสู่การสั่งฟ้อง หรือการที่ประเทศไทย ไม่ค่อยหาวิธีการเบี่ยงเบนคดีอาญาออกไปจากกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการที่ประเทศไทยยังมีประวัติอาชญากรรมติดตัวไปกับผู้ต้องโทษที่ชดใช้ความผิดไปแล้ว ทำให้เขาไม่สามารถไปหางานทำเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ จนต้องกลับมากระทำผิดซ้ำอีก

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เรามีกรอบที่ชัดเจนในการใช้พูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักนิติธรรมในประเทศไทยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการจัดงานนี้ขึ้น โดยยังหวังด้วยว่า เวที ASEAN Justice Innovation 2023 ซึ่งเป็นเวทีแรกในภูมิภาคที่พยายามขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อความยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียน จะทำให้เกิดการใช้ข้อมูลเพื่อออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม และนำไปสู่การขยายเครือข่ายของนวัตกรเพื่อแก้ปัญหาความยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาหลักนิติธรรมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ความร่วมมือระหว่าง TIJ และ WJP ในการจัดงานครั้งนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านหลักนิติธรรมและการยกระดับคุณภาพของระบบยุติธรรมในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทยเพื่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมุ่งมั่นและเจตจำนงจากภาคการเมือง

TIJ จึงเชื่อว่าองค์ความรู้และเครือข่ายจากการจัดงานครั้งนี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการสร้างหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรมและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นผลสำเร็จได้ในอนาคต








งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมอาเซียน 2566: หลักนิติธรรม ข้อมูล และอนาคตของระบบยุติธรรมในอาเซียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โดยนอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการเสวนากลุ่มย่อยเกี่ยวกับหลักนิติธรรม และกระบวนการยุติธรรมในไทยและภูมิภาคอาเซียนแล้ว ในวันที่ 19 สิงหาคมจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบอนาคตของความยุติธรรม และการประมูลภาพวาด NFT ที่สร้างสรรค์โดยผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางชลบุรี และเรือนจำพิเศษธนบุรีด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น