เวทีสัมมนาสาธารณะ "การเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล และความยั่งยืนในกระบวนการยุติธรรม" ประธานศาลฎีกาเผยวิธีแก้ศาลทำคดีช้ากว่า 2 ปี แบ่งตามกลุ่มสี-เปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน ดร.กิตติพงษ์ระบุ นักกฎหมายไม่สูญพันธุ์ แม้ AI ฉลาดกว่าแต่แทนไม่ได้ อย่างน้อยมีเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ศักยภาพโน้มน้าว แนะสร้างนักกฎหมายรุ่นใหม่เป็นวิศวกรสังคม
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กทม. ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 27 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม นำโดย นายสุเทพ รุ่งวิทยนันท์ จัดการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืนในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย โดยมีนายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานเปิดงาน
ในตอนหนึ่ง นายโชติวัฒน์กล่าวว่า การเร่งรัดการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ประชาชนเข้าใจว่าคดีต่างๆ บุคลากรโดยเฉพาะตุลาการเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ก็ต้องเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด ส่วนการบริการประชาชนให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีเจ้าหน้าที่ธุรการศาลทั่วประเทศทำหน้าที่ติดต่อประชาชน และผู้พิพากษาสมทบถือเป็นบุคลากรที่สำคัญ ด้วยความหวังว่าจะเป็นตัวกลางเชื่อมองค์กรระหว่างศาลยุติธรรมกับประชาชนให้เข้าใจการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งมั่นบริการประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประนีประนอมประจำศาลต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งการไกล่เกลี่ยคดีของศาลสำเร็จได้ด้วยผู้ประนีประนอม ทั้งข้าราชการเกษียณอายุราชการ ผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจการค้า ซึ่งล้วนเป็นบุคลากรทรงคุณค่า มีความรู้ความสามารถ เข้ามาช่วยงานไกล่เกลี่ย ประสบความสำเร็จถึง 40% จะเป็นช่วยทำให้ลดการพิจารณาคดี และเร่งรัดการพิจารณาคดีส่วนหนึ่ง คู่ความจะได้ไม่ต้องอุทธรณ์ ฎีกา ชนะทุกฝ่าย ไม่มีใครแพ้ คดียุติโดยเป็นธรรมและประชาชน คู่ความพอใจ เป็นนโยบายที่ทำในปีนี้ และจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ
นายโชติวัฒน์กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ได้แบ่งกลุ่มศาลทั้งหมด 280 แห่ง ออกเป็น 3 สี ได้แก่ กลุ่มสีเขียว คือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแล้วเสร็จภายใน 1 ปี กลุ่มสีเหลือง คือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแล้วเสร็จระหว่าง 1-2 ปี มี 20-30 แห่ง ส่วนกลุ่มสีแดง คือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแล้วเสร็จมากกว่า 2 ปี ในเวลานั้นมีมากกว่า 180 แห่ง จากการตรวจเยี่ยมศาลทั่วประเทศ ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของบุคลากรทั่วประเทศ ทำให้วันนี้กลุ่มสีเขียวมีมากถึง 120 แห่ง ส่วนกลุ่มสีแดงค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ ศาลสีเหลืองเพิ่มเป็น 40-50 แห่ง ซึ่งเกิดจากบุคลากรทุกคนสร้างความเข้าใจและร่วมมือทำงาน
ด้าน ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืนในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย" ระบุว่า ที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) และความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งเป็นความอยู่รอดและไม่ทำให้โลกมีปัญหา หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยี AI ผลกระทบในเชิงบวกเชิงลบจะเกิดขึ้นอย่างไรต่อนักกฎหมาย เพราะความสามารถเชิงภาษาอาจไม่จำเป็น แต่ทักษะของมนุษย์อาจต้องเปลี่ยนในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเอไอ
ทั้งนี้ ตนเคยถามผ่าน Chat GPT ว่าบทบาทนักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในความเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร พบว่านักกฎหมายมีบทบาทสำคัญ ถ้าระบบกฎหมายตอบรับความเปลี่ยนแปลง และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำระบบให้ง่ายขึ้น ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงความยุติธรรมโดยใช้เทคโนโลยี ให้ความสำคัญความเป็นส่วนตัวและ Cyber Security นักกฎหมายในระบบกระบวนการยุติธรรม ต้องเข้าใจเทคโนโลยีและยอมรับสิ่งเหล่านี้เข้ามา หากคนคุมกฎระเบียบไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ทำให้เกิดปัญหาอย่างมหาศาล
ส่วนความยั่งยืนมีความเข้าใจที่ต่างกัน หนึ่งในนั้นมีความพยายามในการใช้ทรัพยากรของคนรุ่นปัจจุบันที่จะไม่เบียดเบียนคนรุ่นอนาคต เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และระบบธุรกิจทำอย่างไรให้เติบโตอย่างเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก นำไปสู่แนวคิดที่เรียกว่า ESG ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะสถาบันการเงินเข้าไปกำกับภาคธุรกิจต่างๆ สอดคล้องกับความยั่งยืนระดับโลก ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็จะกระทบภาคธุรกิจของตัวเอง เรื่องนี้เกี่ยวกับนักกฎหมายโดยตรง ทั้งหลักนิติธรรม และความร่วมมือ ถ้ากฎหมายไม่พัฒนาไปข้างหน้าให้เท่าทันก็ไม่สามารถพัฒนาได้
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ยังกล่าวว่า ตนได้ถามผ่าน Chat GPT ว่านักกฎหมายจะสูญพันธุ์หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า นักกฎหมายคงไม่สูญพันธุ์ แม้ AI จะฉลาดมากขึ้นก็ตามก็แทนนักกฎหมายไม่ได้ อย่างน้อยเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจเชิงอารมณ์ ศักยภาพในการเจรจาและการโน้มน้าว การแก้ปัญหาที่กลายพันธุ์ไปสู่การผูกพันหลายเรื่อง ไม่ใช่เรื่องเทคนิค และการสร้างความเชื่อใจ ซึ่งมีความจำเป็นที่คนจะต้องใช้ประโยชน์จาก AI ได้ ถ้าเราเข้าใจว่าโลกกำลังเปลี่ยน ทักษะก็ต้องเปลี่ยน เพราะบางอย่างไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เช่น ความสามารถเชิงภาษา การเขียนสัญญาที่ซับซ้อน ซึ่ง AI สามารถปรับภาษาได้ฉลาดกว่า สิ่งที่คนคาดหวังจากนักกฎหมายจะต้องเปลี่ยน
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจากนายรอสโค พอนด์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่อยากจะสร้างนักกฎหมายที่เป็นวิศวกรสังคม ไม่ใช่นักกฎหมายที่ตีความตามบท แต่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสังคม พยายามปรับการเรียนการสอนโดยไม่ต้องท่องตัวบทกฎหมาย แต่ไปอ่านข้อเท็จจริงแล้วมาดีเบตกัน มีอาจารย์คอยถามคำถามไปยังนักศึกษา ค่อยๆ สอนวิธีคิด คนก็จะคิดตาม แยกแยะประเด็นที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง เข้าใจเซนส์ของความยุติธรรม และนำไปสู่ความสามารถในการตัดสินใจในแบบนักกฎหมาย สามารถแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหาจากการยึดมั่นตัวบทกฎระเบียบ โดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ นักกฎหมายรุ่นใหม่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงจะต้องสร้างให้เป็นวิศวกรสังคม
อีกส่วนหนึ่งตนเห็นว่านักกฎหมายรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยน คือ ต้องเป็นนักยุติธรรม การสอนนักกฎหมายไม่ใช่คนที่เก่งในเชิงภาษา แต่ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม รักษาไว้ซึ่งมาตรฐานจริยธรรม อีกส่วนหนึ่งคือการสอนนักกฎหมายให้มีทักษะในการโน้มน้าวเจรจาเพื่อลดคดีและความขัดแย้ง และสุดท้าย นักกฎหมายในการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีและความยั่งยืน ถ้าไม่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ทำตัวเหมือนสถาปนิกสมัยก่อนที่ต้องสร้างบ้านโดยเอาความคิดตัวเองไปใส่ลูกค้านั้นไม่ใช่ ต้องรับฟังทุกภาคส่วน และใช้ทักษะในเชิงกฎหมายมารวมกันเพื่อนำไปสู่กติกาและการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นจริง
ในตอนท้าย ตนเห็นว่าหลักนิติธรรมแม้จะซับซ้อน แต่ความจริงก็ไม่ซับซ้อนเกินไป และมีความสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้อยู่ในการตีความหรือความคิดของนักกฎหมายอย่างเดียว หลักนิติธรรมไม่ใช่กฎหมายทุกฉบับมีความเป็นธรรม แต่ต้องมองระบบนิเวศของระบบที่ทำให้การใช้อำนาจรัฐในการปกครองประชาชนอยู่ได้อย่างเป็นธรรม ยุติธรรม และทำให้สังคมไปได้ หลักยุติธรรมที่ดีต้องมีความเชื่อว่ากฎหมายเป็นอย่างไร สังคมต้องปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่บุคคลหรือคณะบุคคล กฎหมายต้องใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาพ มีที่มาโดยชอบ เป็นที่ยอมรับได้ ทันสมัย และเป็นธรรมด้วย การบังคับใช้โดยองค์กรที่มีความอิสระ มีความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม นำไปสู่ประชาชนเชื่อถือและเคารพหลักกฎหมายและหลักนิติธรรม