สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit มีนโยบายเสริมสร้างภาพลักษณ์งานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อน "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" สู่ระดับโลก โดยอาศัยจุดแข็งของทุนทางวัฒนธรรมของไทยด้านศิลปหัตถกรรม สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยมีความแตกต่าง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทย โดย sacit ได้นำงานหัตถศิลป์ไทยทรงคุณค่า โดดเด่นด้านดีไซน์ ไปจัดแสดง พร้อมกับเชิญ 5 ตัวแทนผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยไปร่วมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฝีมือเชิงช่าง ในงาน LIFESTYLE Week TOKYO 2023 ณ ประเทศญี่ปุ่น
เปิดตัวงานครั้งแรกกับผลงานใหม่สุดล้ำค่า “แจกันพันธนาการแห่งสายน้ำ” ของ ครูอุทัย เจียรศิริ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ของ sacit ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติอย่างมาก โดยผลงานนี้ได้นำคติความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ คือ ชลบาท (สัตว์น้ำ) และดอกบัว มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมกับผสมผสานทฤษฎีการออกแบบสากล “golden ratio” ปรับรูปทรงแจกันเป็นหอยนอติลุส ซึ่งผลงานชิ้นนี้ถือเป็นงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า ที่ยังคงใช้เทคนิคงานเครื่องถมเงินถมทองร่วมกับงานคร่ำทอง เป็นงานหัตถกรรมที่ใกล้สูญหายและหาคนทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะต้องใช้ฝีมือ ความชำนาญ ความประณีต และความละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอนการทำ นำเสนอออกมาในรูปแบบงาน Fine Art เพื่อสร้างสุนทรียภาพให้แก่แผู้ที่พบเห็น ถือเป็นการออกแบบที่ผสานความเป็นไทยโบราณและสากลเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว
เสน่ห์แห่งภูมิปัญญาไทย งาน “ลงรักประดับมุก” ที่คนญี่ปุ่นและชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรแก่การอนุรักษ์ สะท้อนภูมิปัญญาของไทย เป็นอีกหนึ่งงานศิลปหัตถกรรมที่ต้องอาศัยฝีมือ ความประณีตบรรจง และความชำนาญในการทำ ตั้งแต่การตัด เจียร ฉลุเปลือกหอย และประดับลงบนภาชนะให้เป็นลวดลายที่สวยงามตามแบบโบราณ โดย ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ของ sacit ได้นำผลงานลงรักประดับมุกที่สร้างสรรค์ตามเทคนิควิธีทำแบบดั้งเดิม ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นจะได้แรงบันดาลใจมาจากคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งครูจักรกริศษ์ยังคงใช้วิธีการลงรักแบบโบราณที่ใช้ยางไม้หรือยางรักเป็นวัสดุหลักในการยึดติดเปลือกหอยบนชิ้นงาน ซึ่งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติต่างทึ่งและประทับใจในความละเอียดประณีตของชิ้นงานเป็นอย่างมาก
“ผ้าฝ้ายออร์แกนิก” จ.ชัยภูมิ สะท้อนภูมิปัญญาไทยกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดนใจชาวญี่ปุ่นอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากฝ้ายออร์แกนิกย้อมสีธรรมชาติ ของ ครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมของ sacit เป็นงานหัตถกรรมที่สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าของคนในชุมชนหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ และปรับลวดลายดีไซน์ที่เรียบง่ายร่วมสมัย ลงบนผืนผ้าที่ย้อมจากพืชธรรมชาติ เช่น สีครามจากต้นคราม สีเหลืองจากแก่นขนุน สีดำจากผลมะเกลือ สีแดงจากครั่ง และสีม่วงจากเปลือกมังคุด เป็นต้น โดยมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน และยังช่วยพัฒนาชุมชนหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ให้มีงานทำ สร้างเป็นชุมชนผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) สร้างความยั่งยืนให้สังคมไทยในทุกมิติ
งานคราฟต์ที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นแดนใต้ สู่งานดีไซน์เส้นสายแสงและเงาที่มีเอกลักษณ์ระดับสากล ของ คุณศุภชัย แกล้วทนงค์ สมาชิก sacit แบรนด์ TIMA ผู้สร้างสรรค์จากนครศรีธรรมราช ที่นำเอาภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาใช้ร่วมกับการดีไซน์ผลงานให้มีความร่วมสมัยและโดดเด่น โดยได้แรงบันดาลใจจาก “ทะลายจาก” พืชพื้นถิ่นของภาคใต้ นำมาสร้างสรรค์เป็นโคมไฟ ที่จับเอาดีไซน์มาคิดออกแบบโดยยังคงหัวใจสำคัญของการทำงานมือของชาวบ้านไว้ ทั้งเทคนิคการขึ้นโครงสร้าง เสาและซี่ การต่อไม้ เข้าเดือยแบบกรงนก ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านในภาคใต้ จนออกมาเป็น “Jaak Lighting” ประกาศความเป็นไทยแบบอินเตอร์ได้อย่างลงตัว ด้วยเส้นสายของไม้กับแสงและเงาสะท้อนมุมมองออกมาได้อย่างสวยงามแปลกตา ทำให้โคมไฟไม้กระถินณรงค์กลายเป็นหัตถกรรมไทยที่สุดแห่งการออกแบบที่ถูกใจชาวญี่ปุ่นสายอาร์ตและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมี “Kanjaak Tray Shell” หัตถกรรมจักสานดั้งเดิมมาแต่งเติมสีสันให้ร่วมสมัย และสร้างสรรค์ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ TIMA , “Hang Auan Tote Bag” กระเป๋าผ้าทอมือจากเส้นใยใบลาน ที่ได้นำเทคนิคการทอเส้นใยหางอวนหรือยอดใบลาน เส้นใยมีความเหนียว แข็งแรง ไม่ขึ้นรา มาออกแบบเป็นกระเป๋าผ้าทอมือที่ Sustainable Craft พร้อมประยุกต์การจับคู่สี สร้างลวดลาย ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน
คนรุ่นใหม่ปิ๊งไอเดียทรานส์ฟอร์มถ้วยชามเบญจรงค์ของตั้งโชว์ ให้กลายเป็นของเก๋น่าใช้ โดนใจคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติ โดย คุณบุญญารัตน์ ลิ้มวัชราวงศ์ สมาชิก sacit เจ้าของแบรนด์ Boonyarat Benjarong ความตั้งใจที่จะสืบสานงานเบญจรงค์ งานหัตถศิลป์ล้ำค่าของไทยที่มีกระบวนการผลิตที่ละเอียดประณีต การเขียนลายที่อ่อนช้อยสวยงาม แต่สิ่งที่คิดต่างไปจากเดิม คือการแต่งหน้าทาปากเบญจรงค์ในมุมมองใหม่ ปรับทั้งดีไซน์รูปแบบรูปทรงให้ดูสวยเก๋ทันสมัยมากขึ้น ลดทอนสีสันให้ใช้สีที่น้อยลง หรือใช้โทนสีใหม่ๆ เช่นสีพาสเทลหรือสีคลาสสิก เพื่อความละมุนตามากขึ้น ส่วนลวดลายยังคงเน้นการวาดมืออย่างประณีตแต่ก็เน้นปรับเป็นลายกราฟิกที่ทันสมัย รวมทั้งฟังก์ชันการใช้งานให้กลายเป็นของใกล้ตัวที่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ เข้าถึงได้ง่ายกว่าเคย แต่ทักษะเชิงช่างชั้นสูงของการทำเบญจรงค์ยังคงอยู่ เพราะเป็นหัวใจสำคัญของงานฝีมือที่บ่งบอกอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของไทยที่ภาคภูมิ ซึ่งเบญจรงค์ในวันนี้จึงถูกผสานเข้าสู่ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้อย่างกลมกลืน เช่น “12 zodiacs Benjarong Signature Collection” จานเบญจรงค์ “Lai Rod Nam Collection” และจานเบญจรงค์ “Old School Collection มาจัดแสดงภายในงาน LIFESTYLE Week TOKYO 2023 ที่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ sacit ยังได้นำผลงานศิลปหัตถกรรมฝีมือคนไทย ทั้งผ้าทอมือ เครื่องเคลือบศิลาดล กระเป๋าย่านลิเภา กระเป๋าสานไม้ไผ่ ลำโพงสานจากเตยปาหนัน พร้อมองค์ความรู้หัตถศิลป์ไทยเผยแพร่ภายในงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ sacit ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และยังเป็นการสร้าแบรนดิ้ง เพิ่มมูลค่าให้กับงานคราฟต์ฝีมือคนไทย ผลักดันหัตถศิลป์ให้เป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะสร้างความแตกต่างให้สินค้าไทยให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์กับนานาชาติในอนาคตต่อไป