“การกล้าก้าวเข้าสู่โอกาส และพันธมิตรใหม่ๆ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือที่มีศักยภาพ จะเป็นการปลดล็อกความท้าทายการเติบโตของธุรกิจ MSMEs ได้เป็นอย่างดี” เสียงสะท้อนจาก ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ กรรมการผู้จัดการ โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา หรือที่เขามักแนะนำตัวเองว่า “เกษตรกร” ผู้ซึ่งพลิกฟื้นธุรกิจตนเอง...แต่ไม่ใช่เพื่อตนเอง
มากกว่า 12 ปี ที่ “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” (กลาง) ภาคภูมิใจในบทบาท “เกษตรไทยหัวใจหนุ่ม” ที่เดินตามวิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้หล่อเลี้ยงชีวิต จิตใจ ความเป็นอยู่และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกกลุ่มและประชาชนในพื้นที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ด้วยการปลูกต้นกาแฟท่ามกลางพื้นที่แหล่งโอโซนบริสุทธิ์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย สะท้อนเส้นทางที่พร้อมเดินหน้าสู่ความสำเร็จ ต่อบทบาทการสนับสนุนให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” ดำเนินกิจการ “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” ผ่านการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ตั้งแต่การแนะนำจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงการสนับสนุนด้านงานพัฒนาพาจับคู่ธุรกิจ และการช่วยให้สินค้าขยายตลาดผ่านโมเดิร์นเทรด ด้วยเล็งเห็นว่านวัตกรรมจากธรรมชาติของเมล็ดกาแฟวังน้ำเขียวมีประโยชน์ และสามารถนำมาสกัดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเป็นเครื่องสำอางนานาชนิด เช่น แชมพู สบู่ และครีมอาบน้ำ เป็นต้น ช่วยเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมการขยายตลาดให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ก่อประโยชน์ให้ชุมชนโดยรอบพื้นที่วังน้ำเขียว
ในสถานการณ์ปัจจุบัน “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” ตระหนักว่าผู้ประกอบการ SMEs มีความจำเป็นต้องปรับตัวให้ก้าวทันตามความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาตนเอง ด้วยการรู้จักศักยภาพของตนเอง ผ่านการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ที่แวดล้อมกิจการของตนเอง ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” เลือกใช้ คือ Give and Take ซึ่งเชื่อว่าพลังแห่งการให้และรับ ที่ไม่ใช่แค่ "ผู้รับ" เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ "ผู้ให้" ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน ที่สำคัญเมื่อยิ่งให้ ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย สิ่งนี้เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ในกลุ่มบีซีจี เบญจจินดา เช่นกัน ซึ่ง “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” ได้มีโอกาสเข้าพบและหารือความร่วมมือกับ “ณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร กลุ่มเบญจจินดา พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิฯ เพื่อต่อยอดการพัฒนาเกษตรกรสู่โอกาสการเติบโต ผ่านโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้หัวข้อ ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agri-Entrepreneur) ที่มี “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” ถือธงนำเปิดประตูโอกาสให้สมาชิกและเครือข่ายของ โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียวสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และชุบชีวิต “เกษตรกร” กลับมาสัมผัสคุณค่าแห่งความภาคภูมิใจอีกครั้ง
ในส่วนของโอกาสทางการตลาด “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” ได้หารือพร้อมรับฟังข้อแนะนำจาก “ธีรดา ศิริพันธุ์” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด ท็อปส์ ท้องถิ่น บริษัท Central Food Retail จำกัด แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตามหา SMEs ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีความโดดเด่น แตกต่าง ภายใต้แนวคิด รวมของดีถิ่นไทย SME ไปไกลระดับท็อป (Local Goods from Great SMEs) ซึ่งเป็นแนวทางให้ “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” มุ่งมั่นนำความรู้ ระดมเครือข่ายต่างๆ เร่งพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ของสมาชิกและเครือข่ายโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียวให้มีคุณภาพ มาตรฐานเพื่อไม่พลาดโอกาสและช่องทางทางการตลาดที่หลากหลายสามารถเข้าถึงกลุ่มตลาดเป้าหมายที่มีคุณภาพต่อไป
“อีกหนึ่งก้าวของผมในวันนี้ ทั้งจากการสนับสนุนของ SME D Bank การมีโอกาสแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ความร่วมมือ แนวทางกับผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ที่จะนำไปสู่การแสวงหาความร่วมมือร่วมกันในอนาคตอันใกล้ ทำให้ผมมั่นใจว่าจะสามารถชูธงนำสมาชิกและเครือข่ายโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียวสู่โมเดลทางธุรกิจที่สร้างสรรค์ ในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้ BCG Model เป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้มีความยืดหยุ่นแต่มั่นคง สร้างการมีส่วนร่วมและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับคุณค่าเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟที่มีเอกลักษณ์จากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย หรือ GI ในรูปแบบที่หลากหลาย ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ครอบคลุมหลายช่วงวัย และผมมั่นใจว่าผลจากก้าวที่กล้าในครั้งนี้ จะสามารถกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” “ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ” กล่าวทิ้งท้าย