หยุดเผา เรารับซื้อ หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ “ภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน” จะร่วมกันคิดและทำให้สำเร็จด้วยการรับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกร สกัดการเผาทำลายซังข้าวโพด อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เกิด PM 2.5 โดยนำมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งไปสู่ระบบคาร์บอนเครดิต ด้วยมาตรฐานระดับโลกที่โรงงานต่างๆ ทั่วโลก ที่พร้อมจะรับซื้อต่อไปได้
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผมได้ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนและกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน สำคัญที่สุดในอันที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของพี่น้อง ลูกหลานเราโชคดีเหลือเกินที่เรามีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดการร่วมแรงร่วมใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏเหมือนที่ใดมาก่อนเหมือนในวันนี้”
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “พวกเราประจักษ์รู้ในความเป็นจริงกันทุกคนว่าแท้จริงแล้วมันเกิดจากฝีมือมนุษย์เราเอง การเผาป่า เรือกสวน กิ่งไม้ ไร่นา เพื่อพลิกฟื้นผืนดินทำกินของพวกเรากันเองนั้นเกิดประโยชน์มหึมาแต่ก็เกิดโทษมหาศาล ทาง อบจ.เราเองได้จัดงบลงไปปีละหลายสิบล้านเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 บรรเทาทุกข์ให้แก่ชาวเชียงใหม่ ในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ชาวเชียงใหม่จัดตั้งเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งถือเป็นการแสดงครั้งสำคัญของพวกเรา”
ด้านคุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจผู้มีแรงบันดาลใจที่มุ่งหวังให้ จ.เชียงใหม่และภาคเหนือปลอด PM 2.5 ได้กล่าวว่า “ภาคีเครือข่ายนี้ถือเป็นการแสดงพลังของชาวเชียงใหม่ พวกเราต้องเป็นแกนนำผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของเชียงใหม่และของประเทศไทย อยู่ที่ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าไปพร้อมกันในวันนี้ และถือเป็นครั้งแรกที่วันนี้ได้มารวมตัวกัน แม้ผมจะเป็นผู้ริเริ่มแต่การผลักดันให้สำเร็จก็อยู่ที่ท่านทุกคน และผลของความสำเร็จก็จะตกอยู่ที่ชาวเชียงใหม่และประเทศชาติของเรา”
ด้าน ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด กล่าวว่า “ผมเล็งเห็นว่าการที่เกิดปัญหา PM 2.5 เยอะขนาดนี้ แสดงว่าชีวมวลก็เยอะเช่นกัน ทีมงานจึงได้ลงสำรวจพื้นที่ในการแก้ปัญหาเพื่อเสริมแหล่งผลิตชีวมวลในการรักษาสภาพแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่ อ.จอมทอง เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตร พร้อมขยายเพิ่มอีก 3 จุดในภาคเหนือ โดยนำไปใช้ในอุตสหกรรม เพื่อพลังงานทดแทนสะอาด เป็นชีวมวลอัดเม็ด พร้อมคาดหวังให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรายได้กระจายสู่ชุมชน ถือเป็นความพยายามของภาคเอกชน โดย บริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ยินดีให้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเชียงใหม่เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ให้ได้อย่างยั่งยืน”
.
ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต กล่าวว่า “ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
หลังจากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อ เราจะร่วมใจกันอย่างไรให้เชียงใหม่หมด PM 2.5 โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ คุณชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, คุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ บริษัท แอทเซส เวิล์ด คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต, คุณอนุชา มีเกียรติชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ, ดร.ณรงค์ชัย ชลภาพ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคาร์บอน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, คุณชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทย ประจำปี 2566, ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด พร้อมฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่าย นับเป็นการแสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ของภาคีเครือข่ายที่น่าประทับใจ และพร้อมที่จะผลักดัน หยุดเผา เรารับซื้อ ให้สัมฤทธิผลเป็นลำดับต่อไป
สนใจนำเศษซาก ตอซังข้าวโพด เข้าร่วมโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ ของบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 09-3416-5953