การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเผยความก้าวหน้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 66 งานโยธาแล้วเสร็จ 100%
วันนี้ (8 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รายงานความก้าวหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 พบว่างานโยธาแล้วเสร็จ 100% ประกอบด้วย
สัญญา 1 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 ผู้รับจ้างก่อสร้าง กิจการร่วมค้าซีเคเอสที (CKST Joint Venture) ความคืบหน้า สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 100%
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก ผู้รับจ้างก่อสร้าง กิจการร่วมค้าซีเคเอสที (CKST Joint Venture) ความคืบหน้า สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 100%
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า ผู้รับจ้างก่อสร้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ความคืบหน้า สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 100%
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ ผู้รับจ้างก่อสร้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQUE ความคืบหน้า สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 100%
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์บำรุง และอาคารจอดแล้วจร ผู้รับจ้างก่อสร้าง กิจการร่วมค้าซีเคเอสที (CKST Joint Venture) ความคืบหน้า สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 100%
สัญญาที่ 6 งานก่อสร้างระบบราง ผู้รับจ้างก่อสร้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQUE ความคืบหน้า สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 100%
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ (Heavy Rail) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 39.8 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนตะวันตก เรียกว่า ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และส่วนตะวันออก เรียกว่า ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
โดยส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางประมาณ 22.57 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นเป็นแบบใต้ดินจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน) ตัดเข้าพื้นที่ของ รฟม. วิ่งใต้แนวถนนพระราม 9
ลอดใต้ทางพิเศษสายฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์) เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกพระราม 9 ไปตามแนวถนนรามคำแหง ผ่านสี่แยกลำสาลี แนวเส้นทางเปลี่ยนเป็นแบบยกระดับ บริเวณใกล้หมู่บ้านสัมมากร ข้ามแนวถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดบริเวณแยกถนนรามคำแหงตัดกับถนนสุวินทวงศ์
ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี, สถานียกระดับ 7 สถานี, ปล่องระบายอากาศระหว่างสถานีและอาคารระบายอากาศ รวม 11 แห่ง, อาคารศูนย์ซ่อมบำรุง พื้นที่ขนาดประมาณ 160 ไร่ และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ตั้งอยู่ฝั่งทิศใต้ของสถานีคลองบ้านม้า เป็นอาคารสูง 10 ชั้น รองรับจำนวนรถยนต์ที่มาจอดได้ประมาณ 1,200 คัน
สำหรับรายชื่อสถานี ประกอบด้วย สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานี รฟม. สถานีประดิษฐ์มนูธรรม สถานีรามคำแหง 12 สถานีรามคำแหง สถานี กกท. สถานีหัวหมาก สถานีลำสาลี สถานีศรีบูรพา สถานีคลองบ้านม้า สถานีสัมมากร สถานีน้อมเกล้า สถานีราษฎร์พัฒนา สถานีมีนพัฒนา สถานีเคหะรามคำแหง สถานีมีนบุรี และสถานีสุวินทวงศ์