รศ.ดร.เสรี รองประธานฯ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุการเกิดแผ่นดินไหวในไทยหลายครั้งไม่อาจคาดการณ์และเตือนภัยได้ แต่สามารถเตือนคลื่นสึนามิได้ พร้อมแนะขั้นตอนปฏิบัติการอพยพที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุ
วันนี้ (20 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก แผ่นดินไหวคาดการณ์และเตือนภัยไม่ได้ แต่เราเตือนคลื่นสึนามิได้ การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.4 M ลึก 5.3 km (USGS) ในทะเลอันดามันเช้าวันที่ 19 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 08.40 น. เวลาประเทศไทย รับรู้ได้ในอาคารสูงหลายแห่งใน กทม. และปริมณฑล
ภาพที่ปรากฏการอพยพลงมายังชั้นล่างนอกอาคารด้วยความตระหนก ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลของการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ดังนั้น สำหรับอาคารที่ออกแบบรับแรงตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว (ปรับปรุงล่าสุด 2564) ประกอบด้วยอาคารสาธารณะ อาคารที่มีความสูง 5 ชั้นขึ้นไปในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล (3 ชั้นขึ้นไปสำหรับจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันตก) ประชาชนจึงควรหลบใต้โต๊ะ (ระวังฝ้าเพดาน ระบบไฟฟ้า พัดลมเพดาน ระบบแอร์ ฯลฯ) จนกว่าการสั่นไหวจะสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม หากเป็นอาคารที่ไม่ควบคุม (บ้านพัก ตึกแถว ทาวน์เฮาส์) หรืออาคารที่สร้างก่อนกฎกระทรวงในปี 2540 หรือก่อนกฎกระทรวงปรับปรุงในปี 2560 ก็ต้องตัวใครตัวมันครับ เพราะไม่มีใครประเมิน และตรวจสอบให้ ผมจึงแนะนำให้วิ่งออกมาก่อนสำหรับอาคารเหล่านี้
การเกิดแผ่นดินไหวขนาดดังกล่าวบริเวณรอยเลื่อนสะแกงไม่ได้ผิดความคาดหมายทางวิชาการ เนื่องจากมีงานวิจัยบ่งชี้โอกาสเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ในรอบ 50 ปี ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของ Amplitude คลื่นแผ่นดินไหวบนชั้นดินอ่อนพื้นที่ กทม. และปริมณฑลประมาณ 3 เท่า ประกอบกับความถี่ของแผ่นดินไหวที่ใกล้เคียงกับความถี่โดยธรรมชาติของอาคารสูงบนชั้นดินอ่อน จึงทำให้รับรู้ได้เพียงในเวลาประมาณ 80 วินาที (หลังจากการเกิดแผ่นดินไหว) บนสมมติฐานความเร็วคลื่นแผ่นดินไหว 6.1 km/s
อย่างไรก็ตาม การเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง (เช่นเมื่อปี 2565 เกิดแผ่นดินไหวที่หมู่เกาะอันดามัน และนิโคบาร์ ขนาด 5, 4.8 และ 4.9 M เมื่อวันที่ 5, 9 กรกฎาคม และ 2 กันยายน) แต่ชาว กทม. และปริมณฑลไม่สามารถรับรู้ได้ ยกเว้นชาวภูเก็ต และจังหวัดอันดามันบางแห่ง
ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวในทะเล การคาดการณ์ และเตือนภัยสึนามิจึงมีความสำคัญสูงสุด เช่นกรณีเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มภาคใต้ฝั่งอันดามันในปี 2547 ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเช้านี้ผมได้ใช้ระบบคาดการณ์ และเตือนภัยโดยใช้ฐานข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (โดยความร่วมมือระหว่าง Futuretale Lab by MQDC และ Tsunami Engineering Lab, Tohoku University) พบว่าไม่มีการเกิดคลื่นสึนามิ ในขณะเดียวกันได้ทำการติดตามการทำงานของทุ่นน้ำลึกทั้งหมด 7 ทุ่นในมหาสมุทรอินเดีย (ปัจจุบันใช้งานได้ 4 ทุ่น ชำรุด 3 ทุ่น) พบว่าไม่มีการเกิดสึนามิขึ้นจริงเช่นเดียวกัน”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ