คุณปลื้ม-ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ฟาดกรณีหยกอีกรอบที่อ้างไม่อยากเรียนวิชาจริยธรรม ซัดขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ ทั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์แห่งความผิดชอบชั่วดี แนะเห็นคุณค่าวัฒนธรรมจรรโลงโลก ชีวิตนี้จะเอาเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ อวดรู้อวดดีมีแต่ไปไม่รอด
วันนี้ (20 มิ.ย.) จากกรณีที่ น.ส.หยก (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) อายุ 15 ปี เยาวชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตผู้ต้องหาคดี 112 ชี้แจงกรณีที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ออกคำชี้แจงสองครั้งซ้อน ตอนหนึ่งระบุพฤติกรรมว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน ทำสีผม มาเรียนตามเวลาและรายวิชาตามความพอใจของนักเรียน ไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมอื่นๆ ถือเป็นการไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน โดยชี้แจงว่าไม่ได้เข้าเรียนตามเวลาที่ใจปรารถนา แต่ที่เข้าห้องสายเพราะถูกกีดกันไม่ให้เข้าโรงเรียน และไม่ได้เลือกเรียนเฉพาะวิชาที่ชอบ แต่เห็นว่าวิชาจริยธรรม เป็นวิชาที่ไม่มีประโยชน์ คิดว่าสอนกันมาแบบนี้ก็ไม่มีใครเป็นคนดีขึ้น จากการต้องฟังว่าเราต้องเป็นคนดี ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : หนูปีนรั้วไม่ได้ฆ่าคนตาย หยกเมินแค่วิชาจริยธรรม-ไหว้ครู ชี้ถูกกดทับแต่งไปรเวตไม่ได้
ล่าสุด เฟซบุ๊ก M.l. Nattakorn Devakula ของ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ คุณปลื้ม พิธีกร และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ โพสต์ข้อความระบุว่า "ไม่ต้องการเรียนวิชาศีลธรรมหรือจริยธรรม เพราะผู้ใหญ่เรียนกันมาก็ยังทุจริตคอร์รัปชัน? เป็นบทสรุปที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ การศึกษาทุกยุคทุกสมัย ทุกชาติ ทุกภาษา ต่างให้ความสำคัญในการสอนวิชาในกลุ่ม “จริยศาสตร์” (Ethics) กันทั้งนั้น เด็กซึ่งเรียนในระบบการศึกษาไทยนั้นโชคดีที่ได้มีหลักสูตรด้านนี้ตั้งเเต่ช่วงมัธยมฯ ทั้งที่ในหลายประเทศกว่าจะได้มีโอกาสเลือกวิชาประเภทนี้ คือช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเเล้ว บังเอิญอาจได้เลือกเรียนวิชาทางด้านปรัชญาหรือศาสนา เอาจริงๆ แล้วมันคือหนึ่งในแขนงวิชาที่สำคัญที่สุด สำหรับเด็กที่ต้องเติบโตขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมมีแต่ผู้ใหญ่ที่พร้อมใช้โอกาสเเสวงหาอำนาจและความนิยมให้กับตนเอง
จริยศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด สิ่งที่ควรเว้น สิ่งที่ควรทำ
เอาง่ายๆ มันคือวิทยาศาสตร์แห่งความผิดชอบชั่วดี ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ขาดอย่างมากในหมู่นักเคลื่อนไหวซึ่งไม่เคารพกติกาเเละไร้มรรยาทอยู่ ณ เวลานี้ มันคือศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรมหลักศีลธรรมเเละกฎที่ว่าด้วยความประพฤติและพฤติกรรม
นอกเหนือไปจากนั้น ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่ทางการเมืองและเอ็นจีโอหลายท่านไม่ได้มีโอกาสสอนเด็กๆ เรื่องนี้ เยาวชนควรมองให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมในการจะช่วยจรรโลงโลก จรรโลงศีลธรรม จริยธรรม ด้วยหัวใจสำคัญที่เราเรียกกันว่า “รสนิยม” รสนิยมสะสมคือผลพวงจากการปลูกฝังทางด้านศิลปวัฒนธรรม (ศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายในทุกแขนง) รสนิยมสะสมนี้จะช่วยชี้ทางผิดชอบชั่วดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ รสนิยมสะสมนี้จะช่วยบอกเราเรื่อง “กาลเทศะ” และ “อะไรควร อะไรไม่ควร” และ “ความพอเหมาะพอดี” สิ่งเหล่านี้เป็น อัตวิสัย (Subjectivity) ที่จะใช้กำกับกรอบแห่งความพอเหมาะพอดี ที่เราจะต้องมีสำนึกขึ้นมาเพื่อควบคุมตนเองให้อยู่ในความพอเหมาะได้
ในชีวิตนี้จะมีแต่คำว่าสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ กรุณาหากรอบความคิดที่ครบถ้วนกระบวนความเเละรอบด้านกว่านี้ ที่เหมาะสมเสียกว่า แล้วร่วมกันถ่ายทอดสิ่งนั้นถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน การรู้ดีเเละเฮ้าเลี่ยนด้าน “เสรีภาพ” เพียงอย่างเดียวมันไปไม่รอด ทั้งในตัวบุคคลและสังคม นี่ผมไม่ได้เทศนาเด็กวัย 15 ปีอยู่ แต่กำลังสื่อสารถึงบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่ในวันนี้กลับคิดไม่เป็น เพราะไม่กล้าเสียสิ่งที่เรียกว่า 'Personal Popularity' เเละ 'Political Convenience'