โบว์ ณัฏฐา พิธีกร และอดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ออกมาโพสต์แนะทางโรงเรียนแจ้งความตามหาผู้ปกครองหยกดำเนินคดีทอดทิ้งบุตร พร้อมเข้าขั้นตอนตาม กม. ยันมีสถานศึกษาที่เหมาะสมรออยู่ เผยผู้บริหารต้องรักษามาตรฐานในการบริหารโรงเรียนเพื่อความเป็นธรรมต่อนักเรียน
จากกรณี "หยก ธนลภย์" เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อายุ 15 ปี และเคยถูกควบคุมตัวในคดีมาตรา 112 โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ระบุว่า ถูกไล่ออกจากโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งย่านพัฒนาการ ก่อนที่วันต่อมาหยกจะปีนประตูโรงเรียนเข้าไปเรียน จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงพฤติกรรมดังกล่าวที่ไม่เคารพกฎกติกาของทางโรงเรียน
ล่าสุดวันนี้ (18 มิ.ย.) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ พิธีกร และอดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @NuttaaBow เกี่ยวกับประเด็นของ “หยก” โดยได้ระบุข้อความว่า
“วันจันทร์ถ้าเรื่องยังไม่จบ ให้โรงเรียนไปแจ้งความตามหาผู้ปกครอง ดำเนินคดีทอดทิ้งบุตร แล้วจากตรงนั้นจะดำเนินการให้ศาลคุ้มครองน้อง จัดการเรื่องต่อตามกฎหมายได้ ทั้งเรื่องการสมัครเรียนกับหน่วยงานที่เหมาะสม และที่อยู่อาศัย
เด็กไม่ได้ถูกตัดออกจากระบบการศึกษา มีสถานศึกษาที่เหมาะกับน้องรออยู่ โรงเรียนต้องรักษาทั้งความปลอดภัยของพื้นที่และระบบการศึกษาให้เด็กอื่นๆ ได้เรียนอย่างราบรื่น ปราศจากสิ่งรบกวนสมาธิและความเสี่ยงที่เกิดจากคนนอกโรงเรียน เหตุการณ์ที่ผู้อ้างตนว่าเป็นผู้ปกครองน้องทำต่อกล้องวงจรปิดหน้าโรงเรียน เป็นสิ่งที่ทำให้โรงเรียนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กนับพันในความดูแล รักษาสิทธิของทุกคนด้วย
โรงเรียนไม่สามารถให้อภิสิทธิ์ใครในการละเมิดกฎ มิฉะนั้นจะมีแต่ข้ออ้างเพื่อทำตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นเวลาเข้าเรียน เวลาอาหาร เวลาพัก การเรียน การเล่น การใช้พื้นที่วัสดุอุปกรณ์ การปฏิบัติตนต่อกัน และอื่นๆอีกมากมาย
ผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต้องรักษามาตรฐานในการบริหารโรงเรียนไว้ เพื่อความเป็นธรรมต่อนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทุกคน”
“โบว์เคยประสานกับโรงเรียนและขับรถพาเด็กนักกิจกรรมคนหนึ่งไปสัมภาษณ์เข้าเรียนที่สาธิตธรรมศาสตร์มาแล้ว หลังจากที่น้องมีปัญหากับที่เรียนเดิมด้วยเหตุผลส่วนตัวแล้วมาปรึกษา น้องได้เข้าโครงการพิเศษ แน่นอนว่าตอนมอบตัวก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองตามกฎหมาย หลังจากนั้นไม่ได้ติดต่อกัน เรื่องจบก็ปล่อยเลย ทุกอย่างน่าจะราบรื่นดี
ที่เพิ่งมาเล่าวันนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ทุกอย่างแก้ไขได้ ขอเพียงมีความปรารถนาดีกับเด็กจริงๆ สังเคราะห์ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนแน่ (แต่ละเคสมีความเฉพาะตัว) แล้วแก้ให้ถูกจุดไปตามกระบวนการ อย่าฉวยโอกาสเล่นการเมือง”