xs
xsm
sm
md
lg

“ทิชา ณ นคร” ชี้ ‘หยก’ ไม่ได้สุดโต่ง แต่เกิดเพราะถูกกดดันจากคนกลัวรังสีมาตรา 112 ออกอาการเกินเจ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก เผยเหตุจากคนเกินเจ้า ต้นตอผลัก ‘หยก’ กลายเป็นคนสุดโต่ง พร้อมฝากคำถามเป็นสังคมแบบไหน? ที่เด็กอายุน้อยๆ ต้องคำรามเพื่อความอยู่รอด

จากกรณีที่ น.ส.หยก (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) อายุ 15 ปี เยาวชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตผู้ต้องหาคดี 112 มีการโต้เถียงกับ รปภ. และปีนรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โดยทำสีผมและแต่งชุดไปรเวต อ้างว่าเพื่อต้องการไปเรียนหนังสือกับเพื่อน หลังจากที่เธอโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่าถูกทางโรงเรียนไล่ออก และทางโรงเรียนชี้แจงปฏิเสธว่าไม่ได้ไล่ออก แต่นักเรียนไม่นำผู้ปกครองมามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน ทำสีผม มาเรียนตามเวลาและรายวิชาตามความพอใจของนักเรียน ไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมอื่นๆ ถือเป็นการไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน จนกลายเป็นดรามาและเกิดข้อถกเถียงมากมาย มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (18 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "Thicha Nanakorn" หรือ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ได้ออกมาพูดถึงกรณีดังกล่าวว่า “ป้าเคยคุยกับหยก 3 ครั้ง เธอไม่ก้าวร้าวทุกลมหายใจและเธอไม่ได้ถูกล้างสมอง
เธอเป็นตัวของตัวเองและเป็นไปตามที่อ่าน รู้ เข้าใจ เชื่อ เธออายุ 15 ปี และถูกจับตอนอายุ 14 ปี ด้วยข้อหา 112 กฎหมายที่ใครก็ได้ แจ้งความที่ไหนก็ได้ แต่ไม่รับแจ้งไม่ได้ หรือคนคนนั้นจะอคติสุดโต่ง ล่าแม่มด คลั่ง ก็ใช้สิทธินั้นได้

หลังจากรับข้อหามาตรา 112
ทุกคนที่ใกล้เธอ เห็นมาตรา 112 แต่ไม่เห็นเธอ ทุกคนที่ใกล้เธอกลัวรังสีมาตรา 112 มากกว่ากลัวเธอ
ทุกคนตัดสินเธอก่อนผู้พิพากษาและออกอาการเกินเจ้า

แม่เธอไม่ได้ทิ้งเธอ
แม่เธอไม่ได้รังเกียจพี่ๆ ที่ดูแลลูกเธอ
แต่กลัวคนที่กลัวมาตรา 112 ทั้งที่ใกล้เธอและเธอต้องใกล้

หยกไม่ได้เกิดมาพร้อมความสุดโต่ง ความก้าวร้าว หยกไม่ได้บ้า ไม่ได้เพี้ยน ไม่ได้เป็นอย่างเช่นสีที่ป้าย

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กหญิงอายุ 15 คนนี้แรงขึ้นตามสัดส่วนของกฎหมาย

ใช่! เธอต้องคำราม จำเป็นต้องคำราม เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องคำราม กลไกปกป้องตนเองของเธอยังมีชีวิต ยังมีแรง ยังมีพลัง

การปกป้องสถาบันยังต้องมี …
แต่การแก้ไขมาตรา 112 ก็ต้องมี เพราะคนเกินเจ้ามีจริง
และคนเกินเจ้าเหล่านี้ได้ทำลายสถาบันอย่างลึกซึ้ง จริงจัง

อ๋อ! ถ้าคุณยังเป็นพุทธะที่เมตตา
อย่าลืมช่วยคิด ช่วยหาคำตอบกันด้วยว่า
สังคมแบบไหนที่เด็กอายุน้อยๆ ต้องคำรามเพื่อความอยู่รอด”

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น