หมอเดว กุมารแพทย์เฉพาะด้านเด็กและวัยรุ่น วิเคราะห์ปมเด็กถูกโรงเรียนปฏิเสธจากกรณีหยก พร้อมแนะแนวทางต้องทำด้วยสันติวิธี ตกลงและพูดคุยกันโดยไม่ใช้อารมณ์ จะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด
จากกรณีที่ น.ส.หยก (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) อายุ 15 ปี เยาวชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตผู้ต้องหาคดี 112 มีการโต้เถียงกับ รปภ. และปีนรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โดยทำสีผมและแต่งชุดไปรเวต อ้างว่าจะไปเรียนหนังสือกับเพื่อน หลังจากที่เธอโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก อ้างว่าถูกทางโรงเรียนไล่ออก และทางโรงเรียนชี้แจงปฏิเสธว่าไม่ได้ไล่ออก แต่นักเรียนไม่นำผู้ปกครองมามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน ทำสีผม มาเรียนตามเวลาและรายวิชาตามความพอใจของนักเรียน ไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมอื่นๆ ถือเป็นการไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน จนกลายเป็นดรามาและเกิดข้อถกเถียงมากมาย มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (16 มิ.ย.) เพจ "บันทึกหมอเดว" หรือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์เฉพาะด้านเด็กและวัยรุ่น ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นโดยระบุว่า “มีผู้ใหญ่และสื่อสอบถามความเห็น กรณีเด็กที่ถูกโรงเรียนปฏิเสธ วินัยในการอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็น
การแก้ปัญหาที่ดีคือ สันติวิธี ไม่ใช้อารมณ์ ให้เกียรติกันและกัน การเคารพและปฏิบัติตามกติกาที่มีส่วนร่วมออกแบบมาด้วยกันนั้น ความเข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการวัยรุ่น สำคัญต่อการรับมือแก้ปัญหา อำนาจนิยมของผู้ปกครองและผู้ใหญ่ ที่หลายครั้งเด็กๆ หลายคนเจ็บปวดกับการใช้อำนาจนิยมของผู้ใหญ่ โดยที่ผู้ใหญ่ไม่เป็นต้นแบบที่ดี แต่บังคับเด็ก ออกระบบระเบียบ โดยขาดการรับฟังด้วยสติ เปิดใจฟัง
สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่รุกล้ำคนอื่น จึงเป็นเหตุให้ต้องกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน ที่เราเรียกว่า วินัยในการอยู่ร่วมกัน นั่นเอง
ความสมดุลของการทำให้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และวินัยในการอยู่ร่วมเป็นไปได้ด้วยกันนั้น เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วม สังเกตวิธีปฏิบัติได้ดังนี้
กฎขององค์กร บังคับใช้กับทุกคนไม่มีข้อยกเว้น เช่น หากเรียกว่านี่เป็น กฎของโรงเรียน ก็แสดงว่าทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ที่อยู่ในองค์กรต้องปฏิบัติร่วมกันเหมือนๆ กัน
กฎของบุคคล เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเฉพาะ เวลาออกแบบกฎกติกา ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เช่น กฎของนักเรียน ก็แสดงว่าต้องดึงการมีส่วนร่วมจากเด็กทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่สภานักเรียน แต่รวมทั้งกลุ่มเด็กที่อยู่ในรั้ว ไม่ได้เป็นสภานักเรียนแต่อาจจะเป็นเด็กหลังห้อง เด็กทุกกลุ่ม มาใช้หลักสุนทรียสนทนา (ด้วยหลักการ 5ให้ และ 5 ไม่) เพื่อกำหนดกติการ่วมกัน และเคารพ และปฏิบัติร่วมกัน
ทั้งนี้ กฎกติกาที่ออกแบบต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งชาติ และเป็นไปด้วยเจตนารมณ์ที่ใช้สติและความสันติสุขในการอยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันแบบสร้างสรรค์ ไม่ทำลายล้าง หรือไม่ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล ใช้การพูดคุยดีๆ ตกลงกันดีๆมากกว่าการด่าทอ ที่หลุดอารมณ์
อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ จิตวิทยาพัฒนาการวัยรุ่น จากกราฟ แท่งดำ แท่งขาว สะท้อนพฤติกรรมตั้งแต่เป็นวัยรุ่น จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
- แท่งดำสะท้อนพฤติกรรมเสี่ยง ขณะอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม ก๊วน ที่อยากเป็นที่สนใจ อยากดัง อยากเป็นเป้าสายตา
- แท่งขาว สะท้อนพฤติกรรมที่ไม่มีความเสี่ยง เมื่ออยู่คนเดียว ไม่มีการสร้างภาพอยากดัง การยอมรับแบบผิดๆ การเป็นจุดสนใจใดๆ
เมื่อนำพฤติกรรมเสี่ยงมาวัด จะพบว่า เด็กวัยรุ่น 13-16 ปี ช่วงวัยรุ่นตอนกลาง ต่อปลายนั้น เมื่อเด็กอยู่ตัวคนเดียว จะใช้สติ ความคิด มาคุยและพฤติกรรมจะมีความเสี่ยงลดลง ในขณะที่หากอยู่เป็นกลุ่ม ก๊วน แก๊ง พฤติกรรมเสี่ยงจะพุ่งสูงขึ้นมากๆ (แท่งสีดำ) ทั้งนี้อยู่ที่ทุนชีวิต (Braker ทุนชีวิต) ว่าจะแสดงออก ความเสี่ยงรุนแรงมาก เบา หนักต่างกันในแต่ละคน
ขณะที่พออายุมากขึ้น ประสบการณ์ที่หล่อหลอมขึ้นกับทุนชีวิต และระบบนิเวศที่ดี จะช่วยหล่อหลอมให้ใจเย็นลง และใช้สติ ใช้เหตุผล มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้แท่งดำ (พฤติกรรมเสี่ยง ในขณะที่อยู่ในกลุ่ม ก๊วน แก๊ง) ลดระดับความเข้มข้นลงเรื่อยๆ
ย้ำว่า ขึ้นกับทุนชีวิต และระบบนิเวศ ที่ช่วยหล่อหลอมทุนชีวิต หากอยู่ในระบบทุนชีวิตที่ย่ำแย่ แท่งดำจะยิ่งพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม
ฉะนั้น การสร้างทุนชีวิตจึงมีความหมายต่อเด็กทุกคน ระบบพี่เลี้ยงในชุมชน โดยใช้จิตวิทยาพลังบวก และกระบวนการทุนชีวิตทั่วประเทศ คือ คำตอบในการสร้างพลังบวก (ไม่ใช่พร้อมบวก)
กรณีที่เกิดขึ้น หากกติกานั้นเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมอย่างดีแล้ว จำต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ร่วมกันออกแบบนั้น โดยผู้ใหญ่ทุกคนต้องเข้าใจนะครับว่ากฎเกณฑ์นั้นร่างเพื่อทั้งโรงเรียน ที่เรียกว่า กฎของโรงเรียน บังคับใช้แม้แต่ครูและผู้อำนวยการ ผู้บริหารด้วยกัน หรือว่าเป็นกฎเฉพาะนักเรียน หากเฉพาะนักเรียน โปรด อย่าลืมว่าเด็กๆ คือองค์ประกอบสำคัญการมีส่วนร่วมในการออกแบบนั้นๆ ด้วย บนการตกลงร่วมกันด้วยสติ เหตุผล มากกว่าความคึกคะนอง และยอมรับได้
สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ทั้งๆ ที่ออกกติกาการอยู่ร่วมด้วยกันเองแท้ๆ ก็จำเป็นที่ต้องมีการพูดคุย รับฟัง เข้าใจ และตกลงร่วมกัน (ด้วยหลักสุนทรียสนทนา) พร้อมกำหนดขั้นตอนหากไม่เคารพต่อกัน การตักเตือน และถ้าถึงที่สุดจริงๆ ด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กนั้น ผู้ปกครองที่เด็กไว้วางใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องจัดหาระบบการศึกษาที่เหมาะสมให้กับเด็กต่อไป (พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 เด็กหมายถึงบุคคลที่อายุน้อยกว่า 18 ปีบริบูรณ์)
#บันทึกหมอเดว
#ศูนย์คุณธรรม
16/6/66
ทั้งนี้ หลังโพสต์ดังกล่างถูกเผยแพร่มีการแสดงความคิดเห็นมากมาย และมองว่าเด็กในกรณีดังกล่าวอาจใช้สันติวิธีไม่ได้ หมอเดวได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมไว้ว่า “ขอบคุณ และเคารพความคิดเห็นทุกๆ ท่านนะครับ ผมน้อมรับว่าไม่ได้เก่งหรือสามารถอะไรเลยครับ และการแก้ปัญหาลักษณะนี้ต้องทุกๆ ฝ่ายร่วมแรงร่วมใจ เพราะงานลักษณะนี้เป็นงานยาก ที่สั่งสมมาจนยากมาก ซับซ้อนมากๆ จึงยอมรับว่ายาก คงต้องช่วยกันทุกๆ ฝ่าย ตามบริบทหน้าที่ที่เราดำรงอยู่ครับ
การแอบแฝง ด้วยบุคคลอื่น หรือผล ปย.อื่นใดเข้ามาแอบแฝง ที่ฝังราก ลงไป ย่อมทำให้การปรับจูน ความเข้าใจและการปฏิบัติไม่เป็นผลสำเร็จได้เลย นี่เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่สังคมเรากำลังเผชิญ
กราบขอบพระคุณนะครับ”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ